วันหนึ่งในฤดูหนาว บรรดาพระเถรานุเถระ พระภิกษุ สามเณร ได้เข้าไปกราบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เป็นจำนวนมากจนเต็มกุฏิเพื่อขอรับฟังธรรมภาคปฏิบัติ ส่วนหลวงปู่สมชาย (ในสมัยนั้นเป็นสามเณรสมชาย) และหมู่คณะซึ่งเป็นสามเณรด้วยกันหลายรูป ไม่มีโอกาสที่จะขึ้นไปรับฟังธรรมบนกุฏิได้ เนื่องจากมีเหตุสองประการคือ๑. สถานที่นั่งมีไม่เพียงพอ ๒. สามเณรต้องมีหน้าที่ถวายการอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ พระเถรานุเถระ และพระอาคันตุกะน้อยใหญ่ที่มาสู่สถานที่เพราะตามปกติแล้วสำนักปฏิบัติ หรือวัดพระกรรมฐาน พอถึงตอนเย็นบรรดาสามเณรทั้งหลายก็ต้องพากันต้มยาสมุนไพร เพื่อถวายพระ และถวายครูบาอาจารย์เป็นประจำทุกวัน ประจวบกับในตอนนั้นหลวงปู่สมชายกับเพื่อนสามเณรด้วยกัน ได้พากันต้มน้ำยาสมุนไพรไว้ถวายครูบาอาจารย์หม้อหนึ่งเมื่อได้ยินกระแสเสียงหลวงปู่มั่นเทศนาธรรม ดังกังวานมาจากกุฏิสามเณรทั้งหลายก็ได้พากันละจากหม้อต้มยารีบมาฟังยังสถานที่ประจำ คือบริเวณใต้ถุนกุฏิของหลวงปู่มั่นนั่นเอง
เมื่อมาถึงกุฏิหลวงปู่มั่น ก็มองเห็นพระเถรานุเถระนั่งประจำที่อยู่เต็มกุฏิไปหมด ล้วนแต่องค์สำคัญ ๆ ทั้งนั้น เห็นว่าไม่มีโอกาสจะขึ้นข้างบนไปฟังได้แล้วจึงได้พากันหลบเข้าไปยืนฟังอยู่ ณ บริเวณใต้ถุนกุฏิด้วยความตั้งอกตั้งใจ ทั้งบริเวณ เงียบสงบ ไม่ได้ยินแม้เสียงลมหายใจของตัวเอง จะมีก็แต่กระแสธรรมที่หลั่งออกจากจิตใจของหลวงปู่มั่นกลั่นออกมาเป็นกระแสเสียงให้พวกเราได้ยินทุกๆ คำที่หลุดออกมาจากปากของหลวงปู่ครูบาอาจารย์ทุกรูปต่างจดจ้องเปิดหัวใจรอรับกันทุกคำพูด โดยจะมิให้ตกหล่นได้เลยทีเดียว บางคำหรือบางตอนหลวงปู่พูดค่อย ๆ เบา ๆ พวกสามเณรเกรงว่าจะฟังไม่ชัดเจนก็พากันเขย่งเท้า ตะแคงคอ เงี่ยหูรอรับฟังกระแสแห่งธรรม ด้วยจิตใจจดจ่ออยู่กับกระแสเสียงแห่งธรรมนั้นทุกลมหายใจ จนกระแสเสียงธรรมนั้นไม่ได้ผ่านเข้าโสตประสาทหู คือ ผ่านเข้าสู่หัวใจโดยตรง จนทำให้ลืมนึกถึงหม้อยา ที่ได้พากันต้มเอาไว้ และลืมนึกถึงความเย็นยะเยือกของอากาศในฤดูหนาว ในขณะนั้นแม้ผ้าจีวรจะห่มคลุมกายก็ไม่ได้นำติดตัวไปด้วย สิ่งที่คลุมกายมีเพียงสบงกับผ้าอังสะเท่านั้น
ในวันนั้นหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต องค์อรหันต์ได้อธิบายธรรมชั้นสูงขั้นวิจิตรพิสดารละเอียดอ่อนลึกซึ้งมากกว่าทุกวันและในระหว่างกระแสธรรมกำลังหลั่งไหลเข้าสู่หัวใจอยู่นั้นก็มีเสียงสามเณรซุบซิบบอกกันให้ไปดูหม้อยาที่พากันต้มไว้ต่างรูปต่างก็เกี่ยงกันไปเกี่ยงมา แล้วก็เกี่ยงมาถึงสามเณรสมชาย แต่เนื่องด้วยขณะนั้นทุกรูปก็กำลังใจจด ใจจ่อ อยู่กับการฟังธรรมต่างรูปต่างก็กลัวว่าธรรมจะขาดตอนหรือพลาดโอกาสทองจึงสงบนิ่งอยู่ไม่สนใจกับเรื่องหม้อยาและทุกรูปก็ยังคงนิ่งฟังอยู่ต่อไป และแล้วก็มีเสียงซุบซิบบางรูปสอดขึ้นมาว่า “ถ้าครูบาเณรสมชายไม่ไปดู ครูบาต้องรับผิดชอบเรื่องหม้อยานะ ..”ท่านก็ยังคงเงียบและตั้งอกตั้งใจฟังธรรมต่อไปจนหลวงปู่มั่นเทศนาจบลง สามเณรสมชายจึงได้รีบออกไปดูหม้อยาทันที และตั้งใจว่าจะรินเอาน้ำยาร้อนๆ ขึ้นไปถวายครูบาอาจารย์ แต่ปรากฏว่าช้าไปเสียแล้ว น้ำยาที่ต้มไว้นั้นเหือดแห้งจนหม้อยาแตก ก้นทะลุ และใช้การไม่ได้อีกต่อไป.
เมื่อหมู่คณะเห็นเหตุการณ์เกิดขึ้นดังนั้นต่างรูปต่างก็พากันตำหนิติเตียนและกล่าวโทษสามเณรสมชาย ว่าทำให้ของสงฆ์เสียหาย พระผู้ใหญ่บางองค์ถึงกับดุด่าอย่างรุนแรงว่าจะต้องถูกลงโทษตามกฎระเบียบบ้าง จะต้องให้หาหม้อลูกใหม่มาใช้คืนบ้าง เพราะความหวั่นเกรงต่อหลวงปู่มั่นจึงได้พากันยกความผิดทั้งหมดมาให้ท่านรับแต่เพียงผู้เดียว สามเณรสมชายท่านมีนิสัยเป็นลูกผู้ชายเต็มตัวอยู่แล้ว เมื่อผิดท่านก็ยอมรับผิดแต่โดยดี จะลงโทษสถานใดท่านก็ยอมทั้งนั้น เพื่อให้หมู่คณะสบายใจ ขอแต่เพียงให้ได้มีโอกาสอยู่ฟังธรรมจากหลวงปู่มั่นเท่านั้นก็เป็นที่พอใจแล้วด้วยกุศลเจตนาที่มีอยู่เป็นที่ตั้ง ประกอบด้วยบารมีธรรมที่เคยสร้างไว้บ้างจึงทำให้ท่านไม่หวั่นไหวต่อการตำหนิหรือการถูกลงโทษจากหมู่คณะ หลวงปู่สมชายท่านจึงไม่พูดโต้เถียงหรือแถลงการณ์แก้ตัวใดๆ ทั้งสิ้น “..นิ่งเงียบ ! ยอมรับผิด ยอมรับฟังคำว่ากล่าวตักเตือนของครูบาอาจารย์อยู่ด้วยอาการสงบตลอดเวลา..”
ในขณะที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหม้อยาแตกชำรุดใช้การไม่ได้นั้น ด้วยเดชะบุญบารมีกับที่หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เดินผ่านมาทางนั้นพอดี และหลวงปู่คงได้มองเห็นหม้อยาก้นทะลุตั้งอยู่บนเตานั้นด้วย หลวงปู่ท่านจึงได้หัวเราะอยู่ในลำคอออกมาเบาๆ ซึ่งเป็นลักษณะการเข้าใจความหมายได้ดีกว่าคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้นไม่ตำหนิการกระทำอันนั้นแต่อย่างใด พร้อมกันนั้นหลวงปู่มั่นท่านยังได้ปรารภออกมาเบาๆ ว่า “ธรรมดีกว่าวัตถุ และหายากกว่าวัตถุภายนอกมาก..”คำพูดของหลวงปู่มั่นเพียงสองประโยคเท่านั้นก็ทำให้บรรยากาศที่กำลังตึงเครียดอยู่นั้น กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือในทันทีทุกรูปที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้นก็มีสีหน้าเบิกบานอย่างมองเห็นได้ชัด สำหรับสามเณรสมชายท่านยิ่งมีความปลื้มปีติและมีความซาบซึ้งในคุณธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ที่หลวงปู่มั่นท่านสามารถเข้าใจเจตนาของท่านได้ถูกต้องและเป็นธรรม สมกับที่บัณฑิตยกย่องสรรเสริญว่า เป็นพระอรหันต์ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐจริงๆ แต่ก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร จึงจะเหมือนความรู้สึกภายในได้
แต่ก่อนข้าพเจ้าเคยคิดสงสัยว่า ด้วยเหตุใดในครั้งพุทธกาล พอฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้ว จึงได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันได้รวดเร็วเหลือเกิน พอหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ท่านได้เล่าเรื่องการฟังเทศน์จากหลวงปู่มั่น เมื่อสมัยที่ท่านยังเป็นสามเณรอยู่นั้น คือมีความตั้งใจฟังจริงๆ โดยเสียงเทศน์นั้นไม่ได้ผ่านทางโสตประสาทหูเลย คือเข้าสู่ใจโดยตรง จึงทำให้ได้แง่คิดว่า ครั้งพุทธกาลที่พระสาวกทั้งหลายได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นกันเป็นจำนวนมาก ชะรอยคงเป็นในทำนองเดียวกันนี้กระมัง เพราะในครั้งพุทธกาลมีคนสนใจธรรมกันมาก ประกอบกับมีบารมี เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ฉะนั้นความตั้งใจมั่นก็เป็นบารมีส่วนหนึ่ง เป็นองค์ประกอบที่จะช่วยให้ได้บรรลุธรรมเร็วขึ้น พอได้ฟังธรรมจึงสามารถเข้าใจ และสำเร็จเป็นพระอริยบุคคลทันที
“พระอาทิตย์ย่อมส่องแสงในเวลากลางวัน พระจันทร์ย่อมรุ่งเรืองในตอนกลางคืน กษัตริย์ทรงเครื่องรบแล้วย่อมรุ่งเรือง ส่วนพระพุทธเจ้ามีสติเครื่องแผดเผากิเลสให้เหือดแห้งแล้ว พร้อมทั้งสาวกผู้มีสติกำกับจิตอยู่ทุกเมื่อ ย่อมเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยเดชตลอดกลางวันกลางคืน คิดดูได้ความว่าอย่างไร พอมองเห็นแนวปฏิบัติได้แล้วหรือยัง…”
พระศาสดาสอนอีกว่า บุคคลผู้มีสติเข้าไปกำจัดอารมณ์ที่เป็นบาปได้แล้ว เราเรียกบุคคลผู้นั้นว่า พราหมณ์ (ผู้รู้) ผู้มีสติสมบูรณ์ประพฤติเรียบร้อยขับไล่มลทินด้วยกำลังตปธรรม คือสติได้แล้ว เราเรียกผู้นั้นว่าสมณะความชั่วทางกายและใจ ของบุคคลใดไม่มี เราเรียกบุคคลนั้นว่า ผู้สำรวมโดยฐานะสาม คือ มีสติรับรู้อาการเคลื่อนไหวของกายได้ทุกส่วนมีสติรับรู้คำพูดได้ทุกคำและหักห้ามอารมณ์ชั่วของจิตได้ ควรเรียกผู้นั้นว่าบรรพชิตผู้มีสติกางกั้นความชั่วของกาย วาจา และจิต ของบุคคลผู้ใดเราเรียกผู้นั้น ว่า ผู้ประเสริฐ คือพระบุคคลผู้ประเสริฐด้วยโคตร ชาติ ตระกูลหามิได้ลักษณะของผู้ประเสริฐดังกล่าวมานี้...”
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
พระธรรมเทศนา เรื่อง พระพุทธเจ้าให้อุบายโดยย่อแก่พระสารีบุตร
“สำคัญอยู่ที่ตัวสตินี่นะ ที่ควบคุมถ้าสติไม่สมบูรณ์ไม่แก่กล้าแล้ว จิตจะไม่ยอมรับเมื่อจิตมันไม่ยอมรับ จะสอนสักแค่ไหนก็ตาม แนะนำสักแค่ไหนก็ตาม จิตของเรานี้ไม่มีทางจะวางต่ออารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น คนที่ฆ่าตัวเองตายก็เพราะวางอารมณ์ไม่ได้ อำนาจของเหตุการณ์มันแรงกว่า จึงลอยคอล๊อกแล๊ก ๆ อยู่ในเหตุการณ์ นอนไม่หลับ หาวิธีแก้ไขอย่างไรก็ไม่หลับ ผลที่สุดก็ยอมตายถึงขนาดตายก็มี ถึงขนาดบ้าก็มีเพราะไม่มีความสามารถต่อต้านกับจิตใจของเราไม่ให้ต่ออารมณ์สัญญาได้
เมื่อพวกเราได้กำลังตัวสติขึ้นมาแล้ว ง่ายดายสั่งให้หยุด ก็ต้องหยุดหาเหตุผลด้วยกำลังของอริยมัคคุเทศก์ หรือปัญญา สามารถหาเหตุผลได้อย่างง่ายดาย เพราะอันนี้มันกฎธรรมดาของโลก เมื่อเราสามมารถชนะจิตของเราไม่ให้ต่ออารมณ์สัญญาได้ อันนี้เราก็สามารถอุทานว่าชิตังเมเราผู้ชนะ คือชนะจิตของเราได้...”
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
พระธรรมเทศนา เรื่อง อริยมัคคุเทศก์ตัวนำพาจิต
“ บางคนแล้วบุญกุศลไม่อยากทำ แต่ถึงคราวเข้าตาอับจน หรือมีเหตุอะไรเกิดขึ้น ก็มักจะร้องถึงบุญอยู่เสมอว่าขอให้บุญช่วยด้วย ๆยกรูปเปรียบเหมือนกันกับบุคคล คนที่เราไม่รู้จักเขา เขาก็ไม่รู้จักเรา ต่างคนต่างก็ไม่เคยมีบุญคุณอะไรต่อกัน ไม่ได้สังสรรค์วิสาสะอะไรกันเลย เมื่อถึงคราวจำเป็น เราจะขอร้องเขา ดูเหมือนว่าจะยาก..
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
พระธรรมเทศนา การนำพาจิตไปสู่อารมณ์ที่ดี
“พระองค์ได้แสดงถึงมรรคา คือ ทางปฏิบัติ ได้แก่ มรรคแปด อันเป็นทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์แก่ผู้ที่มีความเลื่อมใสให้ได้ปฏิบัติตาม และยังตรัสว่า..ถ้าใครปฏิบัติตามมรรคแปดอยู่ตราบใด โลกย่อมไม่ว่างจากพระอรหันต์..นี้แสดงให้เห็นว่าศาสนาของพระองค์นั้นสำคัญที่การปฏิบัติ แม้แต่พระองค์เองก่อนแต่จะเป็นพระศาสดามาได้ก็เพราะการปฏิบัติ มิใช่ว่าอยู่เฉย ๆ ก็เป็นขึ้นมาเอง มิใช่อย่างนั้น เมื่อพวกเราฟังดูแล้วก็เห็นได้ว่า ผู้ประพฤติปฏิบัติตามโอวาทคำสั่งสอนของพระองค์นั่นแหละ คือ..ผู้เทิดทูนพระศาสนา..
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
พระธรรมเทศนา เรื่อง ศาสนาในสายตาของข้าพเจ้า
“ผู้บำเพ็ญทั้งหลาย จงเข้าใจเถอะว่าปัญญาของกิเลสมันละเอียดมาก สุขุมมากมันสามารถหลอกหลอนคนและสัตว์ให้มีภพชาติวกกวนอยู่ในโลกได้ ผู้ที่อวดตนว่ามีปัญญาสักแค่ไหนก็ตาม หากในเมื่อยังมีภพ มีชาติ มีการหมุนเวียน เกิด ๆ ตาย ๆ อยู่แล้ว ก็แสดงให้เห็นว่ายังไม่เหนือกิเลสหรอก ยังโง่อยู่ หากผู้ทำลายความรู้สึกอันที่จะต่อภพ ต่อชาติ ที่ทำให้เราได้รับความทุกข์นั้นได้ ผู้นั้นจึงเรียกว่า ผู้ฉลาดฉลาดอยู่เหนือจิตตัวเอง ฉลาดเหนือกิเลสไม่มีทางที่จะให้จิตของเราเข้าไปสู่ระบบของกิเลสได้ ประคองจิตของตัวให้เข้าสู่ระบบของธรรม เป็นความเจริญงอกงามเรื่อยไป ต้องเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพวกเราผู้ประพฤติปฏิบัติ ขอให้เข้าใจว่ากิเลสมันละเอียดมาก...”
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
พระธรรมเทศนา เรื่อง โลกทิพย์
“องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสให้ รีบทำความดีเสียแต่วันนี้ เพราะพระองค์ไม่ทรงมั่นพระทัยว่าสังขารทั้งหลายที่ปัจจัยปรุงแต่งขึ้นนี้ จะตั้งมั่นถาวรอยู่ได้นานความแตกทำลายมันจะพึงปรากฏขึ้นให้มีสติระลึกถึงความตายเร็วขึ้น เสมือนจะแตกดับเสียในขณะที่ยังไม่ถึงวันพรุ่งนี้ก็เป็นได้ เป็นอุบายแก้จิตเมื่อมันท้อถอยเพราะความเกรียดคร้าน...”
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
พระธรรมเทศนา เรื่อง ควรทำความเพียรเสียแต่วันนี้
ปฐมพุทธพจน์
เราแสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างผู้ทำเรือน (อัตภาพร่างกายของเรา)เมื่อยังไม่พบ เราก็ต้องท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏไม่สิ้นสุด มีความเกิดอเนกประการก็ความเกิดนั้นเป็นความทุกข์ร่ำไปแน่ะนายช่างผู้ทำเรือน! บัดนี้เราพบเจ้าแล้วเจ้าจักสร้างเรือนของเราไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ซี่โครงของเจ้า(กิเลส ตัณหา ทั้งหลาย) เราหักเสียแล้วยอดเรือน (อวิชชา)เรารื้อเสียแล้ว จิตของเราได้ถึงแดนเกษม คือ พระนิพพานแล้ว โดยสังขารปรุงแต่งเราไม่ได้อีกต่อไป เราได้บรรลุถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายแล้ว ดังนี้.
วิ.มหา.๑/๔๐
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น