ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง

ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง

ร่วมกด Like แชร์ข้อมูล เจดีย์กำลังก่อสร้าง ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง


วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ตอบปัญหาธรรม แก่อุบาสกผู้สงสัย (ภาคที่หนึ่ง)

พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย
ตอบปัญหาธรรม แก่อุบาสกผู้สงสัย
(ภาคที่หนึ่ง)
๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๘   ณ วัดเขาสุกิม

อุบาสกกราบเรียน       กระผมขอกราบเรียนถามปัญหาท่านอาจารย์ ท่านอาจารย์จะว่าอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  เมื่อถามในสิ่งที่มีสารประโยชน์ถามได้ แต่จะตอบเฉพาะสิ่งที่รู้
อุบาสกกราบเรียน       กระผมได้เห็นคนจำนวนไม่น้อยเลยที่เข้าวัด ฟังธรรม บำเพ็ญกุศล และกระผมเคยถามถึงผลของการบำเพ็ญสมณธรรม ท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้เล่าถึงผลของการบำเพ็ญให้ฟังว่า เวลาบำเพ็ญสมาธิอยู่เขารู้เขาเห็นอะไรต่ออะไรหลายอย่าง  กระผมนึกชอบใจ กระผมจึงได้ติดตามเขามาหาท่านอาจารย์ที่สอนกัมมัฏฐาน ท่านก็สอนเจริญอสุภสิบ ท่านบอกว่าเมื่อทำไปจะเห็นความตาย ศพคนตายจะขึ้นพองจนถึงกระดูกกระจุยกระจายเหมือนสังข์เรี่ยรายอยู่ กระผมทำดูแล้วแต่ยังไม่เห็นอะไร กระผมอยากทราบว่าเขาทำกันเพื่อประสงค์อะไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  เพื่อระงับความวุ่นวาย และจะได้ความสงบ
อุบาสกกราบเรียน       เมื่อมีความวุ่นวายจะเป็นอย่างไร เมื่อถึงความสงบแล้วจะเป็นอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  เมื่อวุ่นวายมันก็ทุกข์ เมื่อสงบมันก็สุข
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าอย่างนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมานั่งภาวนาให้ลำบาก เพราะความสุขทางโลกมีถมไปครับ
หลวงปู่ตอบ                  ความสุขทางโลกมันสุขไม่จริง เพราะเป็นความสุขไม่ใช่บรมสุข
อุบาสกกราบเรียน       ความสุขจริงได้แก่สุขอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  ก็สุขเกิดมาจากความสงบ
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าอย่างนั้นไม่จำเป็นจะต้องมาภาวนาให้ลำบาก เพราะความสงบถึงแม้ไม่ภาวนาก็สงบได้เหมือนกันครับ
หลวงปู่ตอบ                  สงบไม่จริง
อุบาสกกราบเรียน       กระผมขอถามว่าความสุขหรือความวุ่นวายอยู่ที่ไหนครับ
หลวงปู่ตอบ                  อยู่ที่กาย วาจา และใจ กายวาจาที่วุ่นวายก็มาจากใจ เมื่อใจสงบแล้ว กายวาจาก็พลอยสงบด้วย
อุบาสกกราบเรียน       ใจทำไมมันวุ่นวายครับ
หลวงปู่ตอบ                  เพราะอาศัยกิเลสก่อกวน
อุบาสกกราบเรียน       การเจริญภาวนาต้องการให้จิตว่าง ไม่ให้จิตวุ่นใช่ไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  ถูกแล้ว

อุบาสกกราบเรียน       อาจารย์ที่สอนกระผมคงจะอย่างนั้น แต่กระผมดูท่านอาจารย์ที่สอนกระผมก็ยังวุ่นอยู่ และบรรดาลูกศิษย์ที่ฝึกสมาธิด้วยก็วุ่นเหมือนกัน  ดูๆ แล้วชอบกลอยู่เหมือนกันนะครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ชอบกลอยู่เหมือนกันน่ะสิอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       กระผมขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ครั้งสมัยพุทธกาลท่านดำเนินกันอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญสำเร็จมรรคผลแล้ว พระองค์ก็เสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์ให้สำเร็จ  ต่อไปก็ไปโปรดยะสะพร้อมด้วยสหายให้สำเร็จ ได้พระสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์หกสิบรูป หกสิบเอ็ดรูปรวมทั้งพระศาสดาจารย์ พระองค์จึงให้พระอริยสงฆ์เหล่านั้นช่วยออกประกาศพระศาสนา ให้ไปคนละทางกัน ส่วนพระบรมศาสดาเสด็จไปโดยลำพังมุ่งตรงไปยังมคธประเทศ  ได้โปรดภัททวัคคีย์สามสิบ จนถึงชฎิลสามพี่น้องพร้อมด้วยบริวาร และพระเจ้าพิมพิสาร ตามธรรมเนียมมีอยู่อย่างนี้
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าอย่างนั้น ได้ความว่าผู้รู้ธรรม ผู้เห็นธรรม จึงสมควรประกาศพระศาสนาใช่ไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  ใช่ ถูกแล้ว
อุบาสกกราบเรียน       ผู้รู้ธรรม แต่ไม่ใช่ผู้เห็นธรรม เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และมิใช่พระอริยเจ้าต้องการจะประกาศพระศาสนา เพียงแค่บอกเล่าหมู่คณะจะสมควรหรือไม่ครับ
หลวงปู่ตอบ                  เพียงแค่บอกเล่าหมู่คณะ แต่ไม่ได้ตั้งตนเป็นอาจารย์สอนศาสนาย่อมสมควร
อุบาสกกราบเรียน       ผู้ตั้งตนเป็นอาจารย์สอนพระศาสนา ด้วยอาศัยสิ่งภายนอกเป็นสิ่งตอบแทน อย่างนี้จะไม่แย่หรือครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  มันก็แย่ทั้งสองฝ่ายนั่นแหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       อาจารย์ที่สอนกระผมก็ทำไม่ถูก ท่านยังไม่หมดวุ่น และหมู่คณะที่บำเพ็ญร่วมท่านถ้าต้องการความสงบก็ไม่ได้ผลอะไรเลยนะครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  อย่างนั้นน่ะสิ
อุบาสกกราบเรียน       ผู้ปฏิบัติไม่ต้องอาศัยครูอาจารย์ ทำไปโดยลำพัง จะเป็นไปเพื่อความสำเร็จได้ไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  บางคนอาจสำเร็จได้ แต่บางคนไม่มีทางสำเร็จได้
อุบาสกกราบเรียน       เป็นเพราะเหตุใดครับ
หลวงปู่ตอบ                  ผู้ตรัสรู้ มีอยู่ด้วยกันสามจำพวก คือ หนึ่งสัพพัญญูพุทธ  สองปัจเจกพุทธ สองจำพวกนี้ตรัสรู้เองโดยไม่ต้องมีใครบอก สามสาวกพุทธ ตรัสรู้ตามผู้อื่น เขาผู้นั้นจะอยู่พวกไหน ถ้าอยู่ในสองพวกข้างต้นก็ตรัสรู้เองได้ แต่ถ้าหากเป็นจำพวกที่สามก็ไม่มีทางที่จะตรัสรู้เองได้
อุบาสกกราบเรียน       พวกสาวกพุทธต้องอาศัยคนอื่นแนะนำจึงจะสำเร็จได้อย่างนั้นหรือครับ
หลวงปู่ตอบ                  ใช่อย่างนั้นจริง ยกรูปเปรียบคนที่มีนัยน์ตาอันดี แต่อยู่ในที่มืดไม่มีแสงสว่างช่วย ย่อมมองไม่เห็นอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งทางควรเดินหรือไม่ควรเดินก็ไม่รู้  จึงเป็นเหตุให้เดิน
                                        ทางผิด อันบัณฑิตไม่พึงปรารถนา จึงเรียกว่าผู้ทำชีวิตให้เป็นหมัน คนตาดีเสมือนหนึ่งคนตาบอด   นี่พูดถึงคนที่มีวาสนาพอที่จะรับธรรมะและปฏิบัติ แต่ขาดกัลยาณมิตรหรือบัณฑิตที่แนะนำประโยชน์ให้
อุบาสกกราบเรียน       บางคนเขาพูดกันว่าคนที่มีวาสนาแล้วไม่ยากเลยใช่ไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ใช่อย่างที่เขาพูด
อุบาสกกราบเรียน       เป็นเพราะเหตุอะไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  ดูตัวอย่างในครั้งพุทธกาลไม่ปรากฏว่าสาวก สาวิกาองค์ใดสำเร็จโดยลำพังตนเองแม้แต่องค์เดียว ต้องอาศัยคนอื่นแนะนำให้จึงสำเร็จได้
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าอย่างนั้นจะไม่แย่หรือครับท่านอาจารย์ กระผมเห็นครูบาอาจารย์สมัยนี้ส่วนมากเข้าใจไม่ถูก ผู้ปฏิบัติมีจำนวนมากทีเดียวที่อยากพิสูจน์ความจริงทางพระศาสนา กระผมคนหนึ่ง เพราะมานึกถึงพระพุทธเจ้าพระองค์เป็นลูกชายใหญ่ของกษัตริย์ ความสุขของพระองค์ครั้งสมัยเป็นฆราวาสจะต้องมีความสุขมากทีเดียว แต่เป็นความสุขแบบโลกๆ มานึกถึงความสุขที่พระองค์ได้มาจากการตรัสรู้ที่เรียกว่า สุญญตวิโมกข์ จะต้องเป็นความสุขที่ประเสริฐแน่ ถ้าไม่ประเสริฐพระองค์จะต้องสึกออกมารับความสุขอย่างเดิมอีกแน่นอน กระผมจึงนึกสงสารพวกที่มีศรัทธาออกแสวงหาของจริงของแท้ อย่างพระพุทธเจ้าได้ อย่างพระพุทธเจ้าถึง และมุ่งจะเดินตามยุคลบาทของพระพุทธเจ้า แต่แล้วมาพบครูบาอาจารย์ที่ไม่เคยเห็นของจริง ของแท้ และไม่รู้จักเส้นทางที่พระองค์ทรงดำเนิน จึงเป็นเหตุให้เขาเดินทางผิด ผลที่ได้รับก็ไม่เป็นสิ่งอันพึงปรารถนา ถูกไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ถูกอย่างนั้น
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไรดีครับ
หลวงปู่ตอบ                  จะทำอย่างไรก็แล้วแต่คนที่แสวงหา ถ้าโง่ก็พลาด ฉลาดก็ดี  จุดประสงค์ของการภาวนาต้องการอะไรกันแน่ ผู้เป็นอาจารย์ที่เราจะไปอาศัยนั้นมีหลักวิชาพอที่จะมีสิ่งที่เราปรารถนาแจกเราไหม  ตัวอย่างภายนอก คนที่ป่วยเป็นโรคฟันก็ควรไปหาทันตแพทย์ คนที่ต้องการเงินก็ต้องไปทำงานเพื่อเงิน ต้องไปทำงานให้คนที่มีเงินจึงจะได้เงินเป็นสิ่งตอบแทน ฉันใดก็ดี ผู้มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อต้องการของจริงของแท้ ต้องแสวงหาผู้รู้ ผู้เห็นของจริงของแท้ จึงจะสมประสงค์ตามเจตนาของเรา เราภาวนาเพื่อชำระจิตของเราให้พ้นไปจากความวุ่น ผู้ที่เราจะถือเป็นครูเป็นอาจารย์ของเราหมดวุ่นแล้วหรือยัง  เราต้องสังเกตดู
อุบาสกกราบเรียน       ในสมัยนี้หาได้ยากทีเดียวครับท่านอาจารย์ กระผมหาไม่เป็น กระผมจะดูตำราแล้วปฏิบัติตามเลยจะดีไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ดี ถ้าเราเข้าใจเลือก สมัยนี้คนเขียนธรรมะมากเหลือเกิน ตีความหมายในข้อธรรมะตามทัศนะของตนเอง ตนเองก็ไม่รู้ไม่เห็นของจริงทำไมรู้ว่าถูก  ยิ่งผู้เขียนๆ ตามทัศนะของตนเองเพื่อขายเอาสตางค์ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเขาไม่ได้มองถึงความเสียหาย และฆราวาสก็ปฏิบัติตาม ถึงแม้ตัวหนังสือที่เขาเขียนว่าประกาศพระศาสนาก็ตาม เมื่อมองดูตามพฤติการณ์แล้วเป็นการทำลายพระศาสนา เพราะการกระทำอาศัยกิเลสนำพาหัวใจให้กระทำ เมื่อหากจิตใจของผู้กระทำอยู่ใต้อำนาจของกิเลสแล้ว ก็ไม่น่าจะตั้งตนเป็นอาจารย์ผู้ประกาศพระศาสนา เพราะการกระทำอยู่ใต้อำนาจของกิเลส ผู้ประกาศพระศาสนาควรเป็นปัญญาจารย์ อย่าได้เป็นเพียงสัญญาจารย์ และขอให้คิดดูอีกทีว่าผู้ที่อาศัยกิเลสนำพาหัวใจก็เรียกว่า ผู้วุ่น จะประกาศความว่างให้แก่ผู้อื่นได้อย่างไร ขอให้คุณสังเกตดูศาสนพิธีใหม่ ๆ ที่คนมีกิเลสจัดขึ้นมาทำลายศาสนพิธีจนเกือบไม่เหลือปรากฏไว้เป็นอนุสรณ์เลย
อุบาสกกราบเรียน       ความจริงแล้วครูบาอาจารย์ควรทำอย่างไรจึงจะถูกครับ
หลวงปู่ตอบ                  ความจริงแล้ว ครูบาอาจารย์ควรลงมือปฏิบัติเสียก่อน จนกว่าจะเห็นผลแล้วจึงสอนคนอื่น ถ้าไม่อย่างนั้นก็สอนคนอื่นไม่ถูก ถ้าต้องการนำหลักวิชาของพระพุทธเจ้าที่ไม่แฝงหลักวิชามาจากศาสนาอื่น เฉพาะปฏิปทาที่จะดำเนินเข้าไปสู่ความพ้นทุกข์จริงๆ มาวางให้ลูกศิษย์ แต่ครูบาอาจารย์ผู้สอนเข้าใจไม่จริง  ตนเองได้เป็นครูบาอาจารย์ก็เนื่องจากผู้อื่นสมมุติให้ พอได้รับสมมุติแล้วก็ตั้งตนเป็นอาจารย์ประกาศพระศาสนาต่อไป แต่ไม่ได้พูดทั่วไป พูดเฉพาะบุคคลผู้ไม่รู้จริงๆ  แล้วแต่งตั้งตนเป็นผู้ประกาศพระศาสนา  เข้าในทำนองที่ว่าคนเป็นขี้กลากรักษายังไม่หายหรือยังไม่ได้รักษาเลยแล้วไปตั้งตนของเขาเป็นหมอ เที่ยวประกาศขายยาแก้ขี้กลากฉันนั้น  ผู้เป็นครูบาอาจารย์เช่นเดียวกัน ความจริงทางที่ถูกแล้ว  ผู้ที่จะเป็นครูอาจารย์ควรจะต้องปฏิบัติชำระกิเลสให้เบาบางหรือหมดก่อน หรือให้รู้จักคุณค่าพระธรรม ให้ได้รับรสชาติของพระธรรมนั้นมีรสชาติแค่ไหน จึงสมควรเป็นครูบาอาจารย์ ถ้าไม่อย่างนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าการดำเนินตามพระธรรมนี้จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ และโทษที่ควรหลีกนั้นมีอย่างไรบ้าง เพราะการปฏิบัติไม่มีแต่คุณอย่างเดียว โทษก็มี ถ้าปฏิบัติผิดคือเดินทางผิดก็เป็นโทษ ถ้าปฏิบัติถูกหรือเดินทางถูกก็มีคุณ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่จะเป็นครูบาอาจารย์ควรปฏิบัติเสียก่อน จนรู้ถูกรู้ผิด ชำนาญทางพอแล้วจึงนำพาคนอื่นให้เดินตาม หรือแนะนำทางให้คนอื่นได้  ถ้าไม่อย่างนั้น ผู้ไม่เข้าใจมาแนะนำทำให้ผู้ตามเดินทางผิด จะขาดทุนและเสียเวลาเปล่าๆ หรืออาจเป็นอันตรายก็ได้ แต่แล้วผู้เป็นอาจารย์ผู้ไม่ได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติอยู่แต่ดำเนินไม่ถูก เพราะเดินทางผิด จึงเป็นเหตุให้กิเลสยังนุงนังอยู่ กิเลสนำพาให้อยากเป็นครูบาอาจารย์ เพราะที่เรารู้กันการเป็นครูบาอาจารย์สอนกัมมัฏฐานมีคนเลื่อมใสมาก ลาภสักการะมาก กิเลสมันนำพาให้ต้องการแล้วก็เลียนแบบเขา ว่าเขาทำอย่างไร เขาสอนอย่างไร ทำตามเขา สอนตามเขา เอาอย่างเขา แต่จุดเจตนาไม่เหมือนเขา เหมือนเขาแต่อาการ
                                        ผลเสียจะเป็นอย่างไรไม่คำนึง ขอให้ตนเองได้รับความสุขเพราะอามิส หรือเป็นอาจารย์หรือมีชื่อว่าอาจารย์ ตามโลกนิยมก็พอใจ อย่างนี้แย่มาก เพราะเมื่อใครได้ครูบาอาจารย์อย่างนี้นำพาแล้ว จะเสียแรงและเสียประโยชน์เปล่าๆ หรือจะมีโทษอีกด้วย และอาจย่ำยีพระศาสนาให้ย่อยยับก็ได้ บางทีตนเองได้รับคำแนะนำจากคนอื่นที่เข้าใจไม่จริง แนะนำให้จำได้แล้วยังนำไปสอนคนอื่นอีก ยังแถมอ้างว่าเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าเสียอีก บางทีอาจว่าไม่ถูกธรรมะของพระพุทธเจ้า จะว่าอย่างไรลองคิดดูดี ๆ ก่อนที่เราจะเชื่อ  ควรเชื่อด้วยเหตุผล อย่างมงาย และต้องปฏิบัติดูก่อน อย่าด่วนสอนคนอื่น จึงจะไม่เข้าทำนองที่ว่านกสาลิกาพูดภาษามนุษย์ และไม่เป็นการดูถูกพระพุทธเจ้า ทำไมว่าดูถูกพระพุทธเจ้า ก็เราอ้างธรรมะของพระพุทธเจ้า บางทีไม่ถูกตามธรรมะของพระพุทธเจ้าเล่าจะว่าอย่างไร และอย่างหนึ่ง คุณธรรมบางอย่างที่พระพุทธเจ้าได้วางไว้เป็นหลักฐานว่าอันนี้ได้แก่อันนี้ เมื่อเราเข้าใจยังไม่ถึงว่าผิดจุดประสงค์จะว่าอย่างไร  จะไม่เป็นการกล่าวตู่พุทธวจนะหรอกหรือ  และจะเป็นการนำพาคนอื่นที่มีวาสนาพอที่จะรับธรรมะและปฏิบัติต่อธรรมะได้ให้เสียประโยชน์ ไม่สมหวัง  ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้าในคราวพระองค์เสด็จแสวงหาการตรัสรู้อยู่ พระองค์ได้รับการศึกษาจากอาจารย์ที่ไม่เข้าใจทางสำเร็จมรรคผล สอนให้พระองค์ดำเนินตามหลักวิชานั้น ก็ไม่เป็นไปเพื่อความสำเร็จได้  ตัวอย่างคนที่จะเดินไปสู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่ไม่รู้ทาง คนเขาแนะนำทางให้ แต่ทางไม่ได้ไปสู่บ้านนั้น คนที่เดินทางนั้นจะมีกำลังดีสักเท่าไรก็ไม่สามารถไปให้ถึงบ้านหลังนั้นได้ ยิ่งไปก็ยิ่งไกล ต่อเมื่อไปพบคนที่รู้จักทางแนะนำทางถูกให้จึงจะไปถูกหรือถึงบ้านนั้นได้ ตัวอย่าง พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะในคราวแสวงหาโมกขธรรม ได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ไม่เข้าใจทางมรรคผล แนะนำให้ก็ไม่เห็นสำเร็จมรรคผลได้เลย  ต่อเมื่อไปพบพระอัสสชิเถรเจ้า พระสารีบุตรได้ฟังธรรมจากท่านแล้วจึงสำเร็จเป็นพระโสดาบัน พอกลับสู่สำนักได้นำธรรมะไปแสดงให้โมคคัลลานะฟัง โมคคัลลานะได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ทั้งสองเข้าไปสู่สำนักของพระบรมศาสดา พระองค์ได้ทรงสอนธรรมะเพิ่มเติมให้ตามอัธยาศัย จึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัวอย่างมีอยู่อย่างนี้ เราผู้แสวงหาครูบาอาจารย์ควรระวังอย่าให้พบหมอขี้โรคและอาจารย์กิเลสนำพา ถ้าเราไม่เข้าใจหรือไม่ระวังจะขาดทุน ปรารถนามรรคผลจะได้นรก หวังเทิดทูนพระศาสนาจะกลายเป็นย่ำยี พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ในมงคลสูตรว่า อย่าเสพคนพาล ให้เสพบัณฑิต โบราณกล่าวไว้ว่า คบคนพาล พาลพาไปหาผิด  คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล นี้เป็นความจริง และความจริงของการปฏิบัติธรรมมุ่งความสงบ  เพราะสงบเป็นเหตุแห่งความสุข หรือจะพูดได้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมต้องการความสุข ผู้ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติแล้วแต่ยังไม่ถึงความสงบก็ยังไม่พ้นจากความวุ่น  เหตุของความวุ่นมาจากไหน ตอบได้ว่ามาจากกิเลส
                                        พราะเหตุนั้นความวุ่นเกิดมาจากกิเลสก่อกวน ผู้ปฏิบัติที่ต้องการความสงบไม่ควรทำอย่างอื่น เพราะจุดประสงค์ของเราต้องการความสงบ สิ่งที่ทำให้สงบไม่ได้เนื่องมาจากกิเลสก่อกวน เมื่อเป็นอย่างนี้ควรชำระกิเลสโดยตรง เพราะกิเลสเป็นตัวก่อกวน กิเลสอยู่ที่ไหนตอบได้ว่าอยู่ที่จิต
อุบาสกกราบเรียน       จิตมีลักษณะอาการเป็นอย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  จิตเป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งไม่มีตัวตน เป็นนามธรรม มีหน้าที่รับรู้อารมณ์ หรือมีหน้าที่นึกคิด และมีอำนาจเหนืออวัยวะทั้งปวงในร่างกายเรา  เมื่อมันนึกคิดอย่างไรแล้ว ทั้งทางดี และทางชั่ว มันบังคับออกมาภายนอกตามความต้องการของมัน เมื่อสั่งออกมาทางกาย กายก็รับทำตามหน้าที่ของจิต เมื่อสั่งออกมาทางวาจา วาจาก็พูดไปตามอำนาจของจิต
อุบาสกกราบเรียน       กิเลสมีลักษณะอาการอย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  กิเลสมีลักษณะรุนแรงมาก และมีพิษร้ายอยู่กับจิต ทำให้จิตเมาเซ่อซึม ยกรูปเปรียบเหมือนช้างตกมัน  ตามปกติช้างที่ฝึกดีแล้วเป็นช้างแสนรู้รักเจ้าของ เจ้าของนำไปใช้เพื่อการงานได้ตามปรารถนา แต่เมื่อช้างตกมันหรือเมามันแล้วจะเป็นช้างที่ดุที่สุด ไม่รู้จักเจ้าของ เจ้าของเข้าไปไม่ระวังมันจะฆ่าตายเสียอีก จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์อะไรก็ไม่ได้ฉันใด กิเลสเมื่อรุนแรงอยู่ที่จิตของใครเหมือนกันฉันนั้น
อุบาสกกราบเรียน       ช้างที่เมามันทำอย่างไรจึงจะหายเมามันได้ครับ
หลวงปู่ตอบ                  เบื้องต้น เมื่อรู้ว่าช้างจะเมามัน ก็ต้องรีบผูกมัดในสถานที่ห่างฝูงคนทันที
อุบาสกกราบเรียน       ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าช้างจะตกมันครับ
หลวงปู่ตอบ                  เจ้าของช้างที่คุ้นเคยอยู่กับช้างมานานและอยู่ใกล้ชิดช้างมานานย่อมรู้ดี
อุบาสกกราบเรียน       เมื่อผูกแล้วจะทำอย่างไรต่อไปครับ
หลวงปู่ตอบ                  ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอย่าให้มันหลุดไปได้ ให้อาหารและน้ำพอกินไม่ตาย เจ้าของคอยดักขู่อยู่เสมอๆ
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าขู่มันจะเป็นอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  ด้วยอำนาจของความเมาแล้ว ถ้าปล่อยไปตามลำพังของมันมีแต่โทษ ไม่มีคุณเลย เจ้าของต้องเอาใจใส่รักษาอยู่อย่างนี้จนกว่าจะหาย
อุบาสกกราบเรียน       เมื่อหายแล้วจะเป็นอย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  เมื่อหายแล้วจะไม่วุ่นวาย คือไม่ดิ้นรน เรียกว่าช้างปกติ จะนำไปเพื่อประโยชน์หรือเพื่อการงานได้ตามปรารถนา
อุบาสกกราบเรียน       คนที่มีกิเลสรุนแรงจะเป็นอย่างช้างไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  เป็นเหมือนกัน จะยิ่งกว่าช้างเสียอีก
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าอย่างนั้นคนก็ปล่อยไม่ได้ จะต้องผูกมัดอย่างช้างหรือครับ
หลวงปู่ตอบ                  ต้องกระทำเช่นเดียวกัน
อุบาสกกราบเรียน       ดูเหมือนจะไม่จริง เพราะกระผมไม่เห็นเขาผูกมัดคนที่ไหนเลยครับ พูดถึงกิเลสก็มีกันทุกคน นอกจากพระอรหันต์เท่านั้น แต่แล้วไม่เห็นใครทรมานผูกมัดคนเหมือนช้างเลย จะว่าเหมือนกันอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  คนคือมนุษย์ ไม่ใช้สัตว์เดรัจฉาน มันทรมานกันคนละอย่าง เด็กที่อยู่ในความปกครองของพ่อแม่ พ่อแม่จะมีข้อผูกมัดเด็กอย่างไรบ้างเมื่อหากว่าเด็กทำไปตามลำพังของกิเลส จะทำอย่างไรกับเด็ก คิดดูให้ดี สามีภรรยามีข้อผูกมัดกันอย่างไรบ้าง สังคมในโลก มีกฎหมายผูกมัดอย่างไรบ้าง ถ้าฝ่าฝืนจะต้องผูกมัดเหมือนช้างอีก หรือจะหนักกว่าช้างอีก ไปดูที่เรือนจำจะเห็นได้ดี
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าปล่อยไปโดยลำพังอย่างช้าง คนกับช้างข้างไหนจะมีโทษมากกว่ากันครับ
หลวงปู่ตอบ                  คนมีโทษมากกว่า คนถ้าไม่มีข้อผูกมัดปล่อยไปตามธรรมชาติธรรมดาแล้วดูไม่ได้เลย
อุบาสกกราบเรียน       กระผมรู้จักอำนาจของกิเลสแล้วครับ แต่ก่อนกระผมไม่เข้าใจอย่างนี้เลย ขอนิมนต์ท่านอาจารย์อธิบายวิธีทรมานจิตที่เมาด้วยกิเลสให้กระผมฟังด้วย กระผมจะจำและนำไปใช้ชำระจิตต่อไป เพราะเวลานี้กระผมรู้จักอำนาจของกิเลส และโทษของกิเลสดีแล้ว แต่ก่อนรู้แต่ว่าจิตมันรุนแรงเป็นทีๆ เป็นอย่างๆ พอหมดอย่างนี้ก็ไปอย่างนั้นต่อเรื่อยไปแรงไปในทางภายนอก เมื่อสงบทางภายนอกก็เข้าไปแรงทางภายในอีก  กระผมจึงเข้าใจว่ามันรุนแรงมาก แต่บางทีกระผมนึกว่ามันไม่มีเลยเป็นบางครั้งบางคราว เมื่อได้ฟังคำอธิบายของท่านอาจารย์แล้วเป็นเหตุให้กระผมมีปัญญาสว่างขึ้น ได้ความว่ากิเลสมันรุนแรงอยู่เสมอ แต่มันรุนแรงไปคนละอย่าง บางทีแรงไปในทางดีใจ  บางทีแรงไปในทางเสียใจ  บางทีก็ไปภายนอก  บางทีก็ไปภายใน ดูดีๆ จึงจะรู้ คนที่เข้าใจอย่างกระผมในเบื้องต้นดูเหมือนจะมีอยู่มากเหมือนกันครับ เพราะไม่ได้ดูให้ละเอียด บางอย่างกิเลสมันทำให้ชอบเลยเข้าข้างกิเลสไปเสีย นึกว่าไม่รุนแรง หรืออีกอย่างหนึ่งเหมือนคนตาฟางที่มองเห็นไฟ ถ้าเปลวพุ่งอยู่ถือว่าเป็นไฟ เมื่อไฟมันไม่มีเปลวเพราะหมดเชื้อที่จะทำให้ไฟลุกเป็นเปลวไม่มี แต่ไฟยังแดงร่าอยู่ไม่ใช่ไฟเหมือนมองเห็น    พิษบางอย่างทำให้ปวดเกล้าเมาหัว แต่ไม่เป็นอันตราย เพียงแต่ไม่พอใจก็หายาแก้ หรือวิ่งหาหมอ ถ้าไม่หายก็ปวดครวญคราง แต่เมื่อดื่มสุราเข้าไปก็ปวดหัวเวียนหน้า บางทีถึงกับอาเจียนก็ไม่เห็นเขาหายาแก้หรือวิ่งหาหมอ บางคนกลัวมันจะสร่างเสียอีก สิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบเห็นได้ชัดอย่างนี้แหละ ผู้ที่เข้าข้างกิเลสก็เหมือนกัน กระผมเมื่อยังไม่ได้ฟังธรรมจากท่านอาจารย์ก็เหมือนกัน บัดนี้กระผมทราบดีแล้ว กรุณาช่วยแนะนำให้กระผมด้วยครับ
หลวงปู่ตอบ                  วิธีทรมานจิตที่เมากิเลสทำเหมือนวิธีทรมานช้าง การผูกมัดเหมือนการผูกมัดคนแต่เจ้าของผู้กำกับได้แก่สติผูกด้วยอุบายของปัญญาที่สอดส่องถึงโทษและคุณนั้นเป็นเชือก
                                        ผูกมัด ทุบตีด้วยอาวุธคือพระธรรม จะนำธรรมมาเป็นอาวุธสักสี่อย่าง เครื่องประกอบทรมานจิตที่เมากิเลสสัก ๔ ข้อ ได้แก่  อิทธิบาท ๔
                                        หนึ่ง ฉันทะความพอใจ หมายความว่า พอใจที่จะชนะจิตที่อาศัยกิเลสนำพา ถึงแม้จิตจะสั่งออกมาภายนอก คือ ทางกายและทางวาจา ด้วยกำลังของกิเลสแล้วจะไม่ยอมเลย
                                        สอง  วิริยะ ความเพียรพยายามต่อสู้กับจิตที่บัญชามาด้วยกำลังของกิเลสไม่ยอมให้แสดงออกมาได้เลยเป็นอันขาด
                                        สาม  จิตตะ ความฝักใฝ่จะอุดหนุนกิจการที่ทำการปฏิวัติกับจิตที่เมาด้วยกำลังของกิเลส จนกว่าจะอ่อนกำลังลง
                                        สี่  วิมังสา ความตริตรอง คือปัญญาจะพิสูจน์ความจริงของจิตที่แสดง จะไปด้วยกำลังอะไรทั้งส่วนตัวของมัน และสั่งการออกมาภายนอก เมื่อเห็นว่ามาด้วยกำลังของกิเลส หรือประกอบด้วยโทษจะไม่ยอมเป็นอันขาด หรือมาด้วยกำลังของโมหจิตก็ไม่ยอม มาโดยธรรมชาติทั้งหมดไม่ยอมแน่  จะปฏิวัติจนกว่าจิตหายเมา จิตไม่ได้แสดงด้วยความเมา เรียกว่า จิตหมดพิษ  นำสติกับปัญญาเข้าทำงานแทนกิเลสทั้งหมด ที่แสดงออกเป็นไปด้วยกำลังของสติและปัญญาก็หมดโทษมีแต่คุณ เป็นคุณทั้งตนเองและคนอื่น จึงสมกับคำว่าจิตที่มีคุณ หรือมนุษย์ที่มีคุณจัดว่าเป็นปัญญาชน เพราะประกอบอะไรๆ ประกอบด้วยปัญญา ไม่เหมือนสัญญา ไม่เหมือนสัญญาชนผู้รู้ไม่จริง รู้ด้วยสัญญาในทำนองที่ว่า ทัพพีตักแกง คนที่ถึงซึ่งปัญญาเรียกว่านักปราชญ์ ไม่ใช่นักเถือ จิตที่ชำระดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ ต้องหมายถึงจิตที่ชำระอย่างนี้ จิตนี้ว่างไม่วุ่น เพราะหมดกิเลสสิ่งที่ก่อกวน เรียกว่าจิตสงบ เรียกว่าจิตสะอาด ประภัสสร จิตนี้สมควรแก่นิพพาน
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับกระผมยังสงสัยคำที่ว่าสูญญตา หมายความว่าอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  สูญญ แปลว่าว่าง  ตาแปลว่าความ  รวมกันแล้วแปลว่าความว่าง
อุบาสกกราบเรียน       คำที่ว่าความว่างนี้ คือว่างอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  คำที่ว่าว่าง แปลว่าปราศจากไป
อุบาสกกราบเรียน       ปราศจากไปนั้น ปราศจากอะไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  ปราศจากสิ่งที่ก่อกวน คือกิเลส
อุบาสกกราบเรียน       สมมุติว่าคนที่อยู่เฉยๆ ก็มีบางครั้งบางคราว จะจัดว่าปราศจากกิเลสได้ไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  ถ้าเฉยๆ  อย่างพระอริยเจ้าชั้นสูง คือพระอรหันต์ เรียกว่าปราศจากกิเลสได้
อุบาสกกราบเรียน       ปุถุชนบางครั้งก็ว่างนะครับอาจารย์ เพราะกระผมคิดดูแล้วได้ความว่ามีทั้งวุ่นและว่าง มิใช่หรือครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ดูเหมือนจะอย่างนั้น
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าอย่างนั้น คนจะไม่เป็นโรคประสาทตายกันหมดหรือครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ถ้าไม่เข้าข้างกิเลส และไม่มีวิธีเอาชนะกิเลส หรือไม่บรรเทาให้เบาบางลงแล้ว ต้องเป็นโรคประสาท หรือฆ่าตัวตายแน่ๆ
อุบาสกกราบเรียน       ทำไมคนจึงไม่ฆ่าตัวเองตายหมดครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  เพราะคนเราเข้าข้างกิเลสเสมอ  ตัวอย่าง กิเลสว่าอย่างนี้ดีก็ดีด้วย กิเลสว่าทำอย่างนี้ดี ไปอย่างนี้ดี พูดอย่างนี้ดี ก็ว่าตาม เห็นตาม จึงเป็นเหตุไม่ให้ฆ่าตนเอง
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจแล้วครับ แต่กระผมสงสัยคนพูดกันว่า เมื่อเราอยู่เฉยๆ หรือมีความเพลิดเพลินจนถึงกับร้องเพลงหรือผิวปาก ก็เหมือนเราอยู่ในนิพพานใช่ไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ใช่ เพราะมันไม่ปราศจากกิเลส สุขก็สุขด้วยอำนาจของกิเลสนำให้สุข
อุบาสกกราบเรียน       กระผมนึกว่าบางทีดูเหมือนไม่มีกิเลสเลยเสียอีกครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  คุณยังไม่เป็นอริยเจ้า คุณยังรู้ไม่จริง เหมือนเด็กไม่รู้ว่าตนเองวุ่นวาย แต่คนโตมองเห็นเด็กวุ่นวายอยู่เสมอ เว้นแต่เวลาหลับนอน ต่อเด็กอ่อนได้รับการเลี้ยงดูจนโต เด็กโง่ได้รับการอบรมจนฉลาด เมื่อนั้นจึงจะหมดวุ่น หรือบรรลุนิติภาวะในทางโลกแล้วจึงจะหมดวุ่นแบบเด็ก ฉันใดคนที่เป็นปุถุชนผู้มีกิเลสนำพาก็เหมือนกันฉันนั้น
อุบาสกกราบเรียน       พระอริยเจ้ามีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน คงจะมองเห็นคนที่เป็นปุถุชนเหมือนกับคนโตมองดูเด็กใช่ไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  อย่างนั้นนั่นแหละ
อุบาสกกราบเรียน       เมื่อปุถุชนดูปุถุชนคงไม่รู้ว่าวุ่นวายนะครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  บางครั้งรู้ได้เหมือนกัน แต่บางครั้งรู้ไม่ได้
อุบาสกกราบเรียน       รู้ได้ด้วยเหตุใด ไม่รู้ได้ด้วยเหตุใดครับ
หลวงปู่ตอบ                  คุณลองนึกดู เมื่อลูกของคุณทำผิด แต่คุณเข้าข้างลูกของคุณ
อุบาสกกราบเรียน       สมมุติว่าอย่างไรครับท่านอาจารย์ กรุณาอธิบายให้กระผมฟังดัวยครับ
หลวงปู่ตอบ                  ตัวอย่างลูกของคนอื่นมาด่าลูกของคุณ ลูกของคุณเลยเกิดกิเลสขึ้นมา ต่อยลูกเขาเข้าเป็นเหตุให้วุ่นวายถึงผู้ปกครองทั้งสองข้าง เนื่องด้วยอำนาจของกิเลส แต่แล้วคุณว่าลูกของคุณถูกเพราะลูกของเขามาด่าลูกของคุณก่อน  คุณลองนึกดูอย่างนี้แล้วกัน
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจแล้วครับท่านอาจารย์ เรื่องนี้กระผมสว่างแล้วครับ เพราะผู้ลุอำนาจของกิเลสไม่ดีเลย กระผมนึกถึงพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วไม่มุ่งชนะผู้อื่นด้วยกำลังของกิเลสเลย และพระองค์ยังสอนให้เอาชนะตนเองเสียอีก และความรู้ที่เรามีความสงบเพียงแต่ปุถุชนสงบจะรู้เหมือนพระอริยเจ้า พระอรหันต์ไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  จะรู้เหมือนไม่ได้ พระอรหันต์มีความรู้สูงกว่า เพราะท่านหมดกิเลสแล้ว
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์กรุณาเล่าถึงปัญญาสามให้ฟังด้วยครับ
หลวงปู่ตอบ                  อาตมาจะเล่าเพียงวิชา หรือปัญญาสามให้ฟัง ปุพเพนิวาสานุสสติวิชชา ระลึกชาติหนหลังได้ จุตูปปาตยวิชชา รู้การจุติของสัตว์ที่ตายแล้วไปเกิดที่ไหน และสัตว์ที่เกิดมาจากไหน อาสวักขยวิชชา รู้จักอาสวกิเลส หยาบ ละเอียด และทำลายกิเลสได้หมด เพียงเท่านี้ก็เห็นว่าเหนือปุถุชนแล้ว
อุบาสกกราบเรียน       คนที่ว่าปุถุชนสงบ เขาเทียบความรู้เหมือนพระอริยเจ้า และมีความสุขเหมือนพระอริยเจ้ามีพระพุทธเจ้าเป็นต้นก็ผิดสิครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ผิดเต็มประตูเลย
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าอย่างนั้นไม่ใช่ดูถูกอริยธรรมชั้นสูงหรือครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  เป็นทางดูถูกแน่นอน
อุบาสกกราบเรียน       จะเป็นการทำลายพระศาสนาไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  แน่นอน ต่อไปคนที่จะศึกษาตามก็จะเห็นว่าความสุข และความรู้ชั้นสูงเพียงแค่นี้ ไม่จำเป็นจะต้องบำเพ็ญให้ลำบากเลย  รสชาติของพระนิพพานมีเพียงแค่นี้ เขาไม่ต้องการแน่ๆ
อุบาสกกราบเรียน       คนพูดผิดจะไม่มีโทษหรือครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ก็มีโทษ ท่านจัดเป็นมหาโจรผู้ทำลายพระศาสนา ใครร่วมมือจะพลอยได้โทษบาปไปตามๆ กัน
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ อริยสัจทั้งสี่ก็น่าจะสมบูรณ์อยู่ในสัตว์ที่มีวิญญาณทั่วไป มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ใช่ไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ใช่อย่างนั้น
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าไม่ใช่   มีอย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  อริยสัจสองข้างต้น คือทุกข์กับกิเลสเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายของปุถุชน อริยสัจสอง ข้างปลาย คือมรรคกับบรมสุขเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายของพระอริยเจ้า คุณลองนึกดู สุขกับทุกข์เกิดพร้อมกันไม่ได้ มันคนละทีกัน หิวกับอิ่มก็คนละทีกัน ปุถุชนเป็นผู้หิวอยู่ เพราะกิเลสนำพาให้หิว พระอริยเจ้าเป็นผู้หมดกิเลสตัณหาซึ่งเป็นเครื่องนำพาให้หิว จึงเรียกว่า อิ่ม
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับความจริงแล้วอริยสัจทั้งสี่น่าจะสมบูรณ์อยู่ในสัตว์และสังขารที่มีวิญญาณครองอยู่ทั่วไปนะครับท่านอาจารย์ เพราะกระผมมีความเห็นอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติเมื่อทำลายกิเลสได้แล้วทุกข์ก็หมด แต่การทำลายกิเลสก็ดำเนินในมรรคแปด  มรรคแปดรวมลงในศีล สมาธิ ปัญญา จะบริบูรณ์ได้ดีต้องอาศัยสติ สติและความบริสุทธิ์เป็นเครื่องอุดหนุนให้เกิดสมาธิ สมาธิอุดหนุนให้เกิดปัญญา การชำระกิเลสคงนำสติกับปัญญาเป็นเครื่องชำระจิตให้ปราศจากกิเลส  เมื่อหมดกิเลสแล้วก็หมดทุกข์ มีแค่สุข ด้วยเหตุนี้กระผมจึงเห็นว่าอริยสัจสี่จะต้องมีสมบูรณ์อยู่ในปุถุชนและอริยชน ทุกข์  สมุทัย ได้แก่กิเลสคือโทษของกิเลส  มรรคกับนิโรธมีสมบูรณ์ อยู่ในตัวของคนเราทั้งหมด หรือท่านอาจารย์เห็นว่าอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ถูก มันก็เหมือนอย่างอาตมาว่ามาแล้วนั่นแหละ กิเลสกับทุกข์เป็นของปุถุชน สติปัญญาและบรมสุขเป็นของพระอริยเจ้า ยกรูปเปรียบภายนอก ตัวอย่าง กล้วยที่ยังไม่สุกมันก็มีแต่รสฝาด ไม่มีรสหวาน เมื่อสุขแล้วมีแต่รสหวาน ไม่มีรสฝาดฉันใด ปุถุชนมีแต่กิเลสกับทุกข์ สุขอย่างพระอริยเจ้าไม่มี พระอริยเจ้ามีสติปัญญากับสุข ไม่มีทุกข์ทางใจอย่างปุถุชนเลย ของที่หมดไปแล้วว่ายังมีอยู่อีกหรือ ของที่ยังไม่ได้ไม่ถึงจะว่าได้ว่าถึงอย่างนั้นหรอกหรือ ถ้าอย่างนั้นนายร้อยนายสิบมิต้องได้เครื่องยศอย่างเดียวกันหรือ ถ้าใช้เครื่องยศอย่างเดียวกัน ทำไมจะรู้ว่านายร้อยนายสิบเล่า ฉันใด เผื่อหากว่าอริยสัจมีสมบูรณ์อยู่ทั้งปุถุชนและอริยชน คงไม่รู้ว่าใครเป็นอริยเจ้า ใครเป็นปุถุชนกันแน่ หรืออาจไม่มีพระอริยเจ้าและปุถุชนเลย เพราะเหมือนกันหมด หรือเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์สาวกทั้งหลายมีทั้งเจตสิกสุข และเจตสิกทุกข์อย่างนั้นหรือ ถ้าใครเป็นอย่างนั้นก็ไม่ถูก หรือถ้าใครเป็นอย่างนั้นและเข้าใจว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ ก็อรหันต์ดิบแน่
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ ปุถุชนยังมีสุขมีทุกข์เป็นคู่กันอยู่นี่ครับ ไม่ใช่มีแต่ทุกข์อย่างเดียว      ใช่ไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  สุขเหมือนกัน แต่กิเลสนำให้สุขในคราวเข้าข้างกิเลส กิเลสพาให้สุขก็สุขไปด้วย บางสิ่งบางอย่างมันเป็นเรื่องทุกข์แท้ๆ แต่กิเลสนำให้สุขก็เลยถือว่าเป็นเรื่องสุข ตัวอย่าง มีงานเทศกาล บางพวกเขาต้องการความสุขและนึกว่าเป็นเรื่องของความสุข เขาจึงได้เตรียมศาสตราวุธไปเพื่อจะประหัตประหารกัน  ขอให้อุบาสกดูดีๆ สิ น่าเสียวไส้ไหม มันเป็นเรื่องทุกข์หรือสุขกันแน่  ต่อเมื่อเขายกขบวนไปในงาน พอพบพวกที่อาฆาตกันก็ยกขบวนเข้าประหารกัน เขาถือว่าเป็นเรื่องสนุกสนาน อุบาสกเห็นอย่างนี้จะว่าอย่างไร พอเลิกกันอุบาสกดูเอาเองจะเห็นเป็นอย่างไร และอีกต่อไปนาน เขานึกถึงเรื่องนี้อีก ทั้งๆ ตนเองถูกตีจนหัวแตก แต่แล้วยังพูดว่างานนั้นสนุกดีเหลือเกิน อุบาสกฟังแล้วจะเห็นเป็นอย่างไร นี่แหละคนเข้าข้างกิเลส หรือกิเลสเป็นเจ้านายจิตใจ และคนที่ยึดเรื่องของความทุกข์ว่าเป็นเรื่องของความสุข และความสุขของปุถุชนก็เป็นอย่างนี้ เรื่องอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนไม่ได้ยกมาเล่าให้ฟัง ให้อุบาสกพิจารณาเองเถิด
อุบาสกกราบเรียน       กระผมกราบเรียนถามท่านอาจารย์อีกครับ เขาว่าจิตดวงเดิมเป็นจิตสะอาด ประภัสสร และจิตดวงเดิมเป็นจิตที่ว่างเป็นพื้นฐานมาก่อน อาศัยกิเลสเป็นอาคันตุกะจรมาภายหลัง ยกรูปเปรียบเหมือนแก้วมณีโชติที่สะอาดประภัสสรตกอยู่ในดินนานๆ อาศัยธุลีละอองห่อหุ้มแก้วที่สะอาดประภัสสรจึงหมดรัศมี  ต่อเมื่อคนนำมาขัดธุลีละอองออกแก้วมณีโชติดวงนั้นจึงสะอาด ประภัสสรขึ้นมาอีก  ใช่ไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ใช่ ดูหลักปฏิจจสมุปบาทก็แล้วกัน พระพุทธเจ้าตรัสว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร  สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ  วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป  นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตน  สฬายตนเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ  ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา  ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพชาติ เป็นลำดับไป   ฐานที่รองรับมีอยู่อย่างนี้   จิตเดิมนั้นสะอาดได้อย่างไร คนที่มองเห็นจิตดวงเดิมสะอาดประภัสสรก็คนเข้าข้างกิเลส คนที่ยึดทุกข์เป็นสุขแล้วชวนให้คนอื่นเห็นด้วย  ตัวอย่างคนที่เข้าใจว่าเรื่องฆ่ากันเป็นเรื่องสนุกสนาน ชวนคนอื่นที่โง่เห็นด้วย ก็ดำเนินตามทัศนะอย่างนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งเพชรพลอยที่ยังไม่ได้ขัดยังไม่สมควรแก่เครื่องประดับ หรือเหลือบหินยังปิดอยู่ ยังไม่ประภัสสร  ต่อเมื่อช่างเขาขัดเหลือบหินออกแล้ว หรือแต่งเป็นรูปพรรณดีแล้ว จึงสมควรแก่เครื่องประดับ เพราะเป็นเพชรพลอยที่มีประภัสสร เจ้าของจะใช้ไปนานเท่าใด จะเก็บไว้ก็ตาม เพชรพลอยที่ขัดดีแล้วย่อมประภัสสรอยู่ตลอดเวลา ไม่จำเป็นจะต้องไปหาช่างขัดหรือเจียระไนใหม่อีกเลย หยิบมาใช้ได้ทันที  ฉันใด จิตที่ประภัสสรแล้วก็ไม่มีทางใดที่กิเลสจะมาห่อหุ้มได้อีกฉันนั้น จิตประภัสสรเรียกว่า จิตที่รู้ฉลาด ไม่ยอมมาเข้าท้องสัตว์อีก
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ พระก็ดี ฆราวาสก็ดีที่ว่าจิตดวงเดิมสะอาดประภัสสรนี้ จะไม่เป็นการดูถูกพระพุทธเจ้าหรือครับ
หลวงปู่ตอบ                  แน่นอน คำที่เขาพูดเท่ากับว่าพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้า เข้าสู่พระนิพพานแล้วยังจะต้องกลับมาเข้าท้องคนอีกหรือ ยังจะต้องกลับมาให้กิเลสห่อหุ้มจิตใจอีกต่อไป แต่แล้วพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นท่านไม่กลับมาให้กิเลสห่อหุ้มอีกแล้ว หมดภพ หมดชาติแล้วเสวยบรมสุขอยู่ที่พระนิพพานเท่านั้น
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ ที่ท่านอาจารย์ว่าเสวยบรมสุขอยู่ที่พระนิพพานนั้น  กระผมสงสัยเข้าใจว่าพระนิพพานสูญหรือหมดไป  กระผมได้มาจากคำที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุญฺญํ และสูญญตาวิโมกข์  ฟังๆ แล้วเหมือนจะหมายความว่านิพพานสูญ  หรือดับ ไม่มีอะไรทำนองนี้จะจริงหรือไม่ครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ไม่จริง คำที่ว่านิพพานสูญหมด ไม่มีอะไรเหลือนั้น ได้แก่อสัญญีต่างหาก ลักษณะผู้ทำสมาธิเมื่อทำไปจะหมดสุข ทุกข์ไม่มี หายหมดทั้งสุข และทุกข์ แต่ไม่ใช่นอนหลับ จิตจมหายลงไปก็เรียกว่าอสัญญี ผู้ไปตกอสัญญีอย่างนั้นพระพุทธเจ้าตำหนิว่าผู้ตกอเวจีพรหม หรือเรียกว่าพรหมลูกฟัก หรืออสัญญีพรหมก็เรียก  ถ้าตกไปอีกอย่างหนึ่งจิตเข้าก็รู้ แต่ไม่ทำอะไร อยู่เฉยๆ ซึมและโง่ ไม่รับรู้อะไร  เรียกว่าโมหจิต หรือโมหสมาธิ
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ ที่สอนว่านิพพานสูญหมด ไม่มีอะไร  ดูเหมือนท่านจะได้อสัญญี หรือตกอยู่แค่อสัญญี ใช่ไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  ดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้น
อุบาสกกราบเรียน       ถ้าอย่างนั้น อาจารย์ที่ตกอสัญญีสอนคนอื่นให้ประกอบอย่างนั้น เมื่อคนอื่นเข้าใจถูก เพราะบางทีเขาอาจได้รับการศึกษามาถูกทางแล้ว หรือบางทีเขาปฏิบัติไปถูกทาง แต่บอกเขาว่าไปไม่ถูกทาง ให้เขากลับมาดำเนินอย่างที่ตนรู้เห็น จะผิดไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ผิดและหลงแน่นอน แต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร
อุบาสกกราบเรียน       คำที่ว่าว่าง และนิพพาน  ว่างอย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  คำที่ว่าว่างอย่างนิพพานนั้น หมายถึงสูญญตาวิโมกข์ สูญญ แปลว่าว่าง ตาแปลว่าความ วิโมกข์ แปลว่าพ้นวิเศษ รวมกันแล้วได้ความว่าพ้นวิเศษเพราะความว่าง คำที่ว่าว่าง หรือหมด หรือไม่มีนั้นหมายถึงอะไร หมดจากอะไร คือหมายถึงกิเลสหมดจากจิต จึงได้คำว่าจิตว่าง คือว่างจากกิเลส เมื่อจิตว่างจากกิเลสก็หมดวุ่น เมื่อหมดวุ่นก็หมดทุกข์ มีแต่สุข  อยู่ปัจจุบันก็เสวยบรมสุข เมื่อจากร่างไปก็เสวยบรมสุขอยู่ที่พระนิพพาน จิตและเจตสิกอย่างนี้เรียกว่าจิตสุข หรือเจตสิกสุข ปราศจากทุกข์
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ คำว่ามรรคได้แก่อะไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  คำว่ามรรคในที่นี้ได้แก่ทาง หรือปฏิปทา  เครื่องดำเนินเข้าไปสู่ความพ้นทุกข์ จึงเรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ คือ ๑. ความเห็นชอบ  ๒. ความดำริชอบ ๓. กล่าววาจาชอบ  ๔. ทำการงานชอบ  ๕. เลี้ยงชีพชอบ  ๖. ความเพียรชอบ ๗. ตั้งสติไว้ชอบ ๘. ตั้งใจไว้ชอบ  นี้แหละเรียกว่า อริยมรรค
อุบาสกกราบเรียน       คำที่ว่ามรรคสมังคีคืออย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  มรรคสมังคีคืออริยมรรครวมกัน ย่นมรรคลงหรือรวมกันเข้า ตัวอย่างมีอย่างนี้ ความเห็นชอบกับความดำริชอบเป็นปัญญา  กล่าววาจาชอบ การทำงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบเป็นศีล  ความเพียรชอบ ตั้งสติชอบ ตั้งใจไว้ชอบนี้เป็นสมาธิ  หมายความว่า รวมมรรค๘ ลงในศีล สมาธิ ปัญญา หรือเรียกว่าไตรสิกขา รวมไตรสิกขาลงให้ได้ในสมอง คือคนจะมีศีลบริสุทธิ์ต้องอาศัยสติ ตัวอย่างพระอริยเจ้าเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ด้วยกำลังของสติ ท่านจึงเรียกว่า สติวินัย สมาธิคือ ความตั้งใจไว้มั่น ต้องอาศัยสติ ถ้าไม่มีสติแล้วสมาธิจะตั้งอยู่ไม่ได้เลย ผลสุดท้ายก็อาศัยสติกับปัญญาต่อไป จึงกลายเป็นสติปัญญารวมลงได้อย่างนี้ มรรค ๘ รวมลงในไตรสิกขา ไตรสิกขารวมลงในสติปัญญา วิธีรวมมรรครวมอย่างนี้
อุบาสกกราบเรียน       คำที่ว่ามัคคุเทศก์คืออย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  มัคคุเทศก์คือผู้นำทาง (หรือผู้นำเที่ยว)
อุบาสกกราบเรียน       คำที่ว่าอริยมรรค หมายถึง ทางของพระอริยเจ้า คือสติปัญญา ผู้นำทางของพระอริยเจ้า หรืออริยมัคคุเทศก์ คำนี้เป็นเหตุให้กระผมสงสัย ผู้นำทางของปุถุชนมีไหมครับ และจะนำไปอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  ผู้นำทางของปุถุชนก็มี ได้แก่ กิเลสตัณหา  กิเลสตัณหาที่เป็นตัวนำทางของปุถุชนนี้จะนำหัวใจของปุถุชนให้ไปในทางที่ชั่วบ้าง ดีบ้าง มันนำพาให้สุขบ้าง ให้ทุกข์บ้าง และนำไปสวรรค์บ้าง ไปนรกบ้าง ไปเป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง ไปเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง วกวนไปมาไม่มีที่สิ้นสุด บางทีก็กลับมาเป็นมนุษย์อีก เป็นมนุษย์บางชาติรวย บางชาติจน บางชาติโง่ บางชาติฉลาด เป็นไปร้อยแปด เรื่องของกิเลสนำพามันก็นำไปอย่างนี้แหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       หมายความว่าเมื่อกิเลสมันเป็นเจ้านายของจิตใจใครแล้ว มันจะนำให้เป็นไปเช่นนี้หรือครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ถ้าเรายอมให้กิเลสเป็นเจ้านายของเราแล้ว มันจะต้องนำพาให้เป็นไปอย่างนี้แหละ
อุบาสกกราบเรียน       กระผมขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่าอริยมัคคุเทศก์จะนำพาจิตใจให้เป็นไปอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  อริยมัคคุเทศก์จะนำทางให้รับความสุข และนำไปสู่นิพพาน
อุบาสกกราบเรียน       กระผมไม่พอใจกับเรื่องกิเลสตัณหา เพราะมันนำพาคนไปให้ได้รับความทุกข์ยากลำบากอย่างนี้  ขอท่านอาจารย์กรุณาสอนวิธีขับไล่กิเลสตัณหาให้กระผมด้วย ทำอย่างไรมันจึงจะออกจากจิตใจของกระผมได้ครับ
หลวงปู่ตอบ                  พระพุทธองค์ตรัสไว้ในอาทิตตปริยายสูตรว่า กิเลส คือราคะ โทสะ โมหะ เป็นไฟ เรารู้อยู่ว่าเป็นไฟ เราก็อย่าให้เชื้อมัน  ยกรูปเปรียบภายนอก สมมุติว่าไฟมันลุกฮูมๆ อยู่ เมื่อต้องการจะให้มันดับจะทำอย่างไร มีอย่างนี้ เราต้องรักษาอยู่อย่างใกล้ชิดให้มีสติระลึกรู้อยู่ที่กองไฟ พยายามดักดูอยู่เสมอ เมื่อไฟแลบออกมาข้างนอก รีบดับทันที อย่าปล่อยให้มันลุกลามไปเป็นเด็ดขาด และอย่าให้เชื้อมันอีก ใครจะนำเชื้อมาใส่ก็อย่ายอมให้ใส่เข้าไปเป็นเด็ดขาด รอดูอยู่อย่างนี้เสมอๆ ไฟก็จะอ่อนกำลังลงเป็นอันดับ เพราะไฟไม่ได้เชื้อมันจะอยู่ได้อย่างไร มีแต่มันจะดับลงเท่านั้นเอง เมื่อไฟดับแล้วความร้อนก็หมด เหลือแต่ความเย็น ต่อจากนั้นไปมันจะมีใครนำเชื้อชนิดใดมาใส่ ไฟก็ไม่ปรากฏ หรือจะนำน้ำมันไปเทราดใส่ ไฟก็ไม่ปรากฏลุกฮูมๆ ขึ้นมาอีกเลย เพราะไฟไม่มี มันดับไปแล้ว ฉันใด เรื่องขับไล่กิเลสเหมือนกันฉันนั้น หมายความว่า กิเลสคือไฟภายใน มันก็รอเชื้ออยู่เหมือนกัน เชื้อของไฟภายในมีอย่างนี้ สิ่งที่รักมายั่วยวนให้รักก็รัก แล้วปล่อยให้เหตุการณ์เป็นไปตามอำนาจของความรัก เมื่อสิ่งที่ชังมากระทบก็ปล่อยไปตามอำนาจของความชัง หรือให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหา เป็นเหตุให้ไฟภายในใจ คือกิเลส ตัณหา ได้เชื้ออยู่เสมอ ไม่มีทางที่จะดับได้ มันได้เชื้อเมื่อใดมันก็ลุกฮูมๆ ขึ้นมาเมื่อนั้น เขาผู้มีไฟภายในเผาอยู่มันร้อนอยู่เสมอจนอยู่ไม่ติด วิ่งพลุกพล่านกันอยู่อย่างที่เรามองเห็น ไม่ว่าพระ เณร ฆราวาส แม่ชี ฤๅษีชีไพรที่ไหนก็ตาม ถ้าไฟภายในยังไม่ดับ ก็เรียกว่าผู้ร้อนเหมือนกันหมด วุ่นวายอยู่ทั่วโลกเห็นไหมอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       เห็นแล้วครับท่านอาจารย์ กระผมเห็นโทษของกิเลสแล้ว ขอความกรุณาท่านอาจารย์แนะวิธีกำจัดไฟให้กระผมด้วยครับ
หลวงปู่ตอบ                  วิธีกำจัดไฟภายในให้อุบาสกดำเนินตามอย่างพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ท่านดำเนินไว้ก่อนเรา ท่านได้รับผลดีแล้ว ตัวอย่างพระอริยเจ้าท่านดำเนิน ท่านก็สอนให้พิจารณาให้เห็นทุกข์ก่อน เหตุของความทุกข์มาจากกิเลศ ตัวอย่างอุบาสกรู้โทษของกิเลสตัณหาอยู่เดี๋ยวนี้แหละ เพราะสิ่งทั้งปวงเราไม่เข้าใจว่ามันมีโทษ เราก็ไม่อยากจะทิ้ง ต่อเมื่อเรารู้โทษมัน เราจึงจะทิ้ง หรือจะหาวิธีทิ้งอย่างอุบาสกกำลังหาวิธีทิ้งอยู่เดี๋ยวนี้แหละ พอเรารู้โทษรู้ทุกข์แล้วอย่างนี้ เราก็ต้องรวมมรรคที่เรารวมในสติปัญญาไว้ทำลายเหตุแห่งทุกข์ คือกิเลส ตัณหาที่เป็นตัวไฟภายใน วิธีดับไฟภายในก็เหมือนกันกับวิธีดับไฟภายนอก คือให้นำสติปัญญาเข้ามากำกับที่ตรงไฟ ไฟภายในมันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่จิต เราต้องระวังอย่าให้มันแลบลุกลามออกไปต่อเชื้อภายนอกเป็นอันขาด การออกต่อเชื้อออกอย่างไร มันให้จิตคิดไปต่ออารมณ์สัญญาให้เป็นไปตามความชอบของมัน  ไฟภายในมันลุกลามไปอย่างนี้ เราต้องดับด้วยสติระลึกรู้ก่อน ต่อไปสติปัญญาสอดส่องถึงโทษ หรือความทุกข์ที่กิเลสตัณหามันนำพาว่าให้ได้รับโทษอย่างไรบ้าง พอมันจะออกต่อเชื้อก็ต้องทำอยู่อย่างนี้เสมอๆ อย่าให้มันได้เชื้อ เมื่อมีสิ่งกระทบจะทำให้ดีใจ เสียใจ จะเป็นรูป เสียง หรือสิ่งอื่นๆ ก็ดี เราอย่าดูสิ่งกระทบหมายความว่าอย่าไปสนใจที่เหตุการณ์หรือสิ่งกระทบ ให้ดูอยู่ที่จิต กิเลสเจ้านายเดิมของจิตมันจะสั่งจิตให้แสดงอย่างไรบ้าง จะให้รัก หรือจะให้ชัง เราต้องดูให้ดีๆ  เมื่อจิตเชื่อเจ้านายเก่าของมัน เราก็ใช้กำลังของสติบังคับจิตไว้ก่อน ยึดไว้ให้ดี อย่าให้แสดงออกได้ ต่อจากนั้นไปก็ใช้กำลังของสติปัญญาสอดส่องถึงโทษของกิเลสตัณหาที่ทำให้จิตของเราไปสู่ภพต่างๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้รักสิ่งโน้น ทำให้ชังสิ่งนี้ เป็นเหตุให้เราพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักมามากต่อมาก ทำให้สิ่งที่เรารักเราชอบใจจากเราไป เป็นเหตุให้เราร้องไห้ เป็นเหตุให้เราเสียน้ำตามามากต่อมากแล้ว เมื่อยังยอมให้จิตของเรารับใช้เป็นเครื่องมือให้แก่กิเลสตัณหาก็จะต้องได้รับโทษทุกข์ หรือเสียน้ำตาอีกไม่มีที่สิ้นสุดลงได้ ให้ระลึกอยู่ย่างนี้เป็นเครื่องแก้ เมื่อจิตของเรารู้ตัวว่าได้รับทุกข์อย่างนี้มามากต่อมากแล้ว เมื่อรู้อย่างนี้จิตจะอ่อนลง ต่อไปจิตไม่ยอมเป็นเครื่องมือให้แก่กิเลสตัณหาอีกเลยก็อาจจะเป็นได้ เมื่อเป็นได้อย่างนี้แล้วเรียกว่าจิตรู้ ก็ให้ใช้สติปัญญาเข้ากำกับจิตให้ใกล้ชิดเป็นลำดับเข้าเหมือนอำมาตย์เข้าใกล้ชิดพระราชาคอยดักช่วยป้องกันรักษาอันตราย ช่วยอยู่เสมออย่างใกล้ชิด เมื่อเผลอก็คอยตักเตือนให้สติอยู่ตลอดเวลา พยายามให้ใกล้ชิดจนรู้จักอัธยาศัยใจคอซึ่งกันและกันดี และไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันดีจนเป็นอันเดียวกัน รวมอยู่ด้วยกันได้จนไม่ระแวงใจกันอันนี้ฉันใด การใช้สติปัญญาเข้าใกล้ชิดกับจิตก็ฉันนั้นเหมือนกัน พยายามใช้สติปัญญารวมกับจิต เรียกว่าสมังคีกัน ในอันดับที่สาม คือใช้สติปัญญาเข้ากับจิตได้ หรือพูดว่าไล่กิเลสตัณหาออกจากจิตได้ มัคคุเทศก์ผู้นำทางที่เป็นนายทางเก่าที่ทำให้จิตรับความทุกข์ยากลำบากมาแล้วนั้นออกไป หรือหมดไปแล้วก็เป็นโอกาสของสติปัญญาเป็นตัวมัคคุเทศก์ที่เป็นอริยมรรค ผู้นำทางของพระอริยเจ้ามาเป็นผู้นำจิตใจของเราต่อไป อริยมัคคุเทศก์ที่นำพระอริยเจ้าไปไม่เคยที่จะทำให้พระอริยเจ้าทั้งหลายที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้ได้รับความทุกข์ยากลำบากเลย เมื่ออริยมัคคุเทศก์มานำเราไปก็ไม่มีทางที่จะนำเราไปให้เป็นศัตรูกับเพื่อนมนุษย์ มีแต่จะทำให้เราเป็นกัลยาณมิตรกับเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก ไฟคือเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ สิ่งที่ทำให้เราเดือดร้อน วุ่นวาย วิ่งพลุกพล่าน กระเจิดกระเจิง อย่างคนที่มีเพลิงทุกข์เพลิงกิเลสอยู่นั้นไม่มีอยู่ในตัวเราแล้ว มีแต่ความเย็นสบาย อยู่ ณ สถานที่ใดก็สบาย จึงเรียกว่าผู้ไม่มีข้าศึก จึงเป็นผู้ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น มีแต่จะนำความเย็นใจมาให้ตนเองและคนอื่น เมื่อร่างกายแตกดับ อริยมัคคุเทศก์ก็นำเราไปสู่นิพพานไปอยู่กับพระพุทธเจ้า และพระอริยสาวกผู้ไม่วุ่น ปล่อยให้ชาวโลกที่กิเลสตัณหายังเป็นเจ้านายจิตใจอยู่ให้วุ่นไปตามเรื่อง เพราะพวกท่านทั้งหลายเหล่านั้นไม่เห็นโทษของมัน ยังเห็นว่ากิเลสตัณหามีคุณอยู่ อุบาสกเป็นผู้รู้โทษของกิเลสก็อยากทิ้งกิเลส จงกำจัดให้ได้ ดำเนินอย่างที่อาตมาแนะนำอยู่นี้เสมอจะหมดความวุ่น
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ เมื่อไฟภายในดับลงไปแล้ว มันจะกลับคืนมาอีกไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  เมื่อจิตที่อาศัยสติปัญญาเข้าไปทำงานแทนกิเลส ก็ไม่มีทางใดที่กิเลสจะมีโอกาสเข้ามาก่อกวนได้อีกเลย เพราะมหาสติ มหาปัญญามีกำลังมาก เมื่อเข้าไปรวมอยู่กับจิตจะทำให้จิตรู้ จิตฉลาด เมื่อมีความฉลาดแล้วย่อมไม่ประกอบในสิ่งที่มีโทษ ยกตัวอย่าง อุบาสกรู้ชัดว่านี้เป็นยาพิษ รับเข้าไปแล้วเป็นอันตรายมาก เมื่อรู้ชัดอยู่อย่างนี้อุบาสกจะเผลอรับยาพิษไหม
อุบาสกกราบเรียน       เมื่อกระผมรู้ว่าเป็นยาพิษ กระผมจะไม่ยอมเก็บไว้ที่บ้านอีกเลย เพราะของที่มีโทษ ถ้ากระผมยอมเก็บไว้ที่บ้านกระผมแล้ว รับรองว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งจะต้องมีโทษแน่นอน  ส่วนกระผมที่จะให้รับยาพิษนี้อีกไม่มีทางแล้วครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  นี้ฉันใด เมื่ออุบาสกรู้ว่าสิ่งที่จะทำให้เราได้รับความทุกข์ มีความรู้ชัดอยู่อย่างนี้ อุบาสกคงไม่ต้องการแน่
อุบาสกกราบเรียน       ครับ กระผมไม่ต้องการแน่นอนครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  นี่แหละอุบาสก จิตที่อาศัยสติปัญญานำพาให้เป็นจิตรู้ จิตฉลาด ไม่เหมือนจิตที่มีกิเลสตัณหานำพา  คำที่ว่า จิตที่รู้ คือ รู้ดี รู้ชั่ว สิ่งที่ชั่วเลิก สิ่งที่ดีเอา เมื่อเป็นอย่างนี้อุบาสกจะยอมเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาอีกไหม
อุบาสกกราบเรียน       ไม่ยอมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  นี่แหละอุบาสก จิตของผู้รู้ทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน จึงไม่ยึดสิ่งที่ทุกข์ว่าสุข
                                        สิ่งสุขก็รู้ว่าสุข จึงเป็นเหตุ ไม่ใช่ยึดถือสิ่งทั้งปวงในโลก จึงเป็นผู้ที่ไม่ติดอยู่ในโลก ไม่ข้องอยู่ในโลก ถึงแม้ท่านยังมีชีวิตอยู่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในโลก ใจของท่านเสมือนหนึ่งอยู่เหนือโลก ได้แก่โลกธรรมแปด โลกธรรมแปดไม่ทับถมหัวใจท่านได้ จึงเรียกว่า โลกุตตระ ผู้พ้นไปเสียแล้วจากโลก  โดยนัยนี้ ผู้พ้นไปเสียจากโลกด้วยความรู้ที่ถูกต้องตามความจริงอย่างนี้จึงได้นามว่า ..โลกวิทู.. ผู้รู้แจ้งโลก..  ยกรูปเปรียบเหมือนน้ำมันกับน้ำธรรมดา ถึงแม้จะเทรวมไว้ในขวดเดียวกัน จะเก็บไว้นานสักเท่าใดก็ตาม หรือจะเขย่าให้เข้ากันสักเท่าใดๆ ก็ไม่มีทางที่น้ำมันกับน้ำธรรมดาจะเข้าเป็นอันเดียวกันได้ พอหยุดเขย่าน้ำมันก็จะขึ้นข้างบนทันทีแยกส่วนกันอยู่ฉันใด จิตของผู้รู้ย่อมระคนกันกับอารมณ์ของโลก หรือเหตุการณ์ของโลก แต่ย่อมไม่ทับถมหัวใจของท่านได้ฉันนั้น อุบาสกต้องทำให้เป็นอย่างพระอริยเจ้า จึงจะเป็นผู้หมดทุกข์ หมดโศก ถึงซึ่งบรมสุขอย่างพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลาย
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ กระผมได้ฟังคำที่ท่านอาจารย์ว่า พระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ถึงแม้ชีวิตของท่านยังอยู่ อารมณ์ของโลกหรือเหตุการณ์ของโลกย่อมทับถมหัวใจของท่านไม่ได้ หมายความว่าร่างกายของท่านยังมีอยู่ก็ไม่เป็นเหตุที่จะดึงดูดกิเลสตัณหาเข้ามาทับถมหัวใจของท่านได้ อย่างนี้ใช่ไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  อย่างนั้นน่ะซิอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       คำที่ว่า  สอุปาทิเสสนิพพาน หมายความว่า พระอรหันต์หมดกิเลสแล้ว แต่เบญจขันธ์ยังเหลือ ในตำนานก็บ่งชัดอยู่อย่างนี้ ดูเหมือนจะขัดกับคำของท่านอาจารย์ แต่กระผมเชื่อว่าในตำราคงจะถูกใช่ไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ในตำนานถูก แต่ถูกเฉพาะในตำนาน มันไม่ถูกตามความเป็นจริง ขอให้อุบาสกคิดดูอย่างนี้ก็แล้วกัน คำที่ว่า สอุปาทิ คืออุปาทาน เอา สะ ไปประกอบกับเสส แปลว่า เศษ คือยังเหลืออยู่ หมายความว่าอุปาทานยังเหลืออยู่   คำที่ว่าอุปาทานยังเหลืออยู่หมายความว่ากิเลสยังมีอยู่   เมื่อมีคำที่ว่ากิเลสยังมีอยู่กับเรื่องร่างกายยังมีอยู่จะเป็นอันเดียวกันไหม ถ้าเป็นอันเดียวกัน เราสมมุติพระนามของพระพุทธเจ้า อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ถูก หรือพระอรหันต์อื่นๆ เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ควรเรียกว่า พระอรหันต์
อุบาสกกราบเรียน       ในตำนานที่กระผมดู ก็คือหลักสูตรนักธรรมที่สอนกันอยู่ทุกวันนี้บ่งชัดอย่างนี้ และกระผมเชื่อว่าเห็นหลักฐานที่พอเชื่อถือได้ เพราะเป็นตำราที่ผ่านตาของท่านผู้รู้ทั้งหลาย เมื่อกระผมฟังท่านอาจารย์อธิบายกระผมเกิดมีความสงสัยขึ้นมาว่าความจริงนั้นมีอย่างไรกันแน่  กรุณาอธิบายให้กระผมทราบด้วยครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ขอจงตั้งใจฟัง สมมุติว่า อุบาสกมีปืนอยู่หนึ่งกระบอก อุบาสกนำไปยิงคน  เจ้าหน้าที่เขารู้เข้า เขามาจับอุบาสกไปเป็นผู้ต้องหา อุบาสกยืนยันว่าอุบาสกไม่ได้นำปืนไปยิงเขา ปืนมันไปยิงเอง พนักงานสอบสวนเขาจะเชื่อถือได้ไหม หรือคนทั้งโลกเขาจะเชื่อถือคำพูด
                                        ของอุบาสกไหม  ฉันใด ร่างกายเป็นเพียงเครื่องมือของจิตใจ  กายจะไปทำอะไรโดยลำพังของมันไม่ได้ นอกจากจะนำพามันไปทำ กายเป็นผู้รับทำตามหน้าที่ของจิต ด้วยเหตุนี้เมื่อจิตไม่มีกิเลสแล้วก็เหมือนกันกับอุบาสกที่มีปืนอยู่ในบ้าน เมื่ออุบาสกเป็นผู้รู้โทษของการประพฤติไม่ดีแล้ว  ถ้ามีคนเขาว่าอุบาสก อุบาสกก็เฉย เพราะเป็นผู้รู้โทษ ปืนของอุบาสกจะวิ่งไปยิงคนที่เป็นศัตรูของอุบาสกโดยลำพังของมันเองได้หรือ
อุบาสกกราบเรียน       เป็นไปไม่ได้ครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  พระอรหันต์ที่หมดกิเลสแล้วจะเรียกว่าผู้เหลืออยู่อีกหรือ ถ้าจะตามคำที่ว่า สอุปาทิเสส หมายถึงผู้มีอุปาทาน คือกิเลสเหลือ ไม่ใช่พระอรหันต์ ความจริงแล้ว พระอริยเจ้ามีถึง   ๔ จำพวก สอุปาทิเสส คือ ผู้ถึงกระแสนิพพานแล้ว แต่ยังไม่ถึงพระนิพพาน ได้แก่ เสขะบุคคล คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี สามจำพวกนี้  ส่วนพระอรหันต์ ได้แก่ อนุปาทิเสสนิพพาน แปลว่าผู้ถึงนิพพานแล้ว ไม่มีอุปาทาน หรือกิเลสเหลือ  พูดตามความเป็นจริงต้องอย่างนี้ถูก
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ กระผมสงสัยคำที่ว่า พระอริยเจ้าสามจำพวกที่ถึงกระแสนิพพานแล้ว กระผมเห็นในตำรานั้นอีกเหมือนกันนั่นแหละครับ ท่านกล่าวว่า พระโสดาบันจะต้องมาสู่โลกมนุษย์เจ็ดชาติบ้าง สามชาติบ้าง หนึ่งชาติบ้าง พระสกิทาคามาชาติเดียว ส่วนพระอนาคาไม่กลับมา เรื่องนี้ความจริงมีอย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  พระอริยเจ้าสามจำพวกนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นผู้ได้โลกุตตรธรรมแล้ว คำที่ว่า  โลกุตตรธรรม คือธรรมที่พ้นไปเสียจากโลกนี้   คำที่ว่าโลก ก็แบ่งออกเป็นสามโลก หนึ่งกามโลก คือโลกที่บริโภคกาม นับตั้งแต่สวรรค์หกชั้นลงมา สองรูปโลก คือโลกที่ยังมีรูปอยู่แต่กิเลสเบาบาง ได้แก่ รูปพรหม  สามอรูปโลก คืออรูปพรหม  กิเลสกามหมดเหลือกิเลสที่ละเอียดบาง  ตามความจริงแล้วในครั้งพุทธกาล คำที่ว่า โลกุตตรธรรม เป็นคำศัพท์ที่ฟังกันง่ายๆ เพราะเหตุนั้น พระคันถรจนาจารย์เจ้าที่สืบเนื่องมาเป็นลำดับจึงไม่ได้อธิบายละเอียดลออ เป็นเหตุให้คำศัพท์ที่ว่าโลกุตตรธรรมมัวไปเป็นบางส่วน ตัวอย่าง โลกุตตรธรรมของพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ผู้ถึงธรรมที่พ้นไปเสียจากโลกจะต้องกลับมาวุ่นวายกับโลกอีก ถึงขนาดเจ็ดชาติก็ยังมี ความจริงแล้วเราท่านนักเหตุผลทั้งหลายลองคิดดูให้ดีๆ หรือพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงจะเห็นชัดว่าโลกุตตรธรรมชั้นต้นควรพ้นไปเสียจากกามโลกไปอยู่ที่รูปโลกที่มีกิเลสเบาบาง ผู้ถึงโลกุตตรธรรมชั้นที่สองควรไปอยู่รูปโลกชั้นสูง โลกุตตรธรรมชั้นที่สาม ควรไปอยู่ที่ไม่มีกิเลสกาม โลกุตตรธรรมชั้นที่สี่สมควรแก่นิพพาน อย่างนี้จึงสมควร หรืออุบาสกจะเข้าใจว่าอย่างไร
อุบาสกกราบเรียน       ครับ  กระผมรู้สึกแปลกมาก ความจริงกระผมเชื่อที่สุดว่าพระอริยเจ้าชั้นต้นสองจำพวก  จะต้องลงมาสู่มนุษย์โลกอีกแน่นอน
หลวงปู่ตอบ                  ขอให้อุบาสกคิดดูอย่างนี้แล้วกัน ในครั้งพุทธกาล ปรากฏว่ามีพระอริยเจ้า อันได้แก่ สองจำพวกนี้มาเกิดในสมัยพุทธกาลมีบ้างไหม
อุบาสกกราบเรียน       ทำไมถึงว่าอย่างนั้นล่ะครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในโลกนี้นับจำนวนไม่ถ้วน ผู้ที่สำเร็จจนเป็นพระอริยเจ้าอันได้แก่สองจำพวกนี้จากพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นนับไม่ถ้วนเช่นเดียวกัน อุบาสกลองคิดดู เมื่อครั้งสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาในชั้นดาวดึงส์พิภพ ปรากฏว่าเทพเจ้าสำเร็จมรรคผลตั้งแปดสิบโกฏิ เชื่อว่าเทพเจ้าเหล่านั้นไม่ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แน่นอน และสมัยอื่นได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้ามาก มนุษย์อีกเล่าที่ได้สำเร็จเป็นพระอริยเจ้าอีกสองจำพวกนี้ก็มีมาก เทพเจ้าก็ดี มนุษย์ก็ดีที่ตรัสรู้ตามสาวกของพระพุทธเจ้าไม่รู้ว่ามากมายเท่าไร  นี้เล่าเฉพาะศาสนาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ก็ต้องอย่างนี้ พระอริยเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นเผื่อหากว่าจะต้องลงมาสู่มนุษย์โลกอีกคงจะต้องมาเกิดร่วมในครั้งสมัยพุทธกาลแน่นอน แต่นี่ไม่ปรากฏว่าจะมีเลย หรือหากว่าสาวกสาวิกาทั้งหลายของพระพุทธเจ้าทั้งหมดไม่มีปรากฏว่าเป็นพระอริยเจ้ามาก่อน เผื่อหากว่าพระอริยสาวกทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้สำเร็จมาก่อนแล้วมาสำเร็จเป็นพระอรหันต์ในชาติปัจจุบันไม่เห็นมี ตัวอย่างพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอานนท์ และองค์อื่น ๆ อีกก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันในชาติปัจจุบันแล้วจึงได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าไม่มีพระอริยบุคคลสองจำพวกมาเกิดในโลกมนุษย์เลย หรืออุบาสกเห็นว่าอย่างไร
อุบาสกกราบเรียน       กระผมแปลกใจมากครับท่านอาจารย์ ตำนานที่เป็นหลักฐานพอที่จะเชื่อถือได้ พอกระผมได้ฟังคำตอบของท่านอาจารย์แล้ว กระผมมีความรู้สึกอย่างนี้ไม่รู้จะถูกหรือผิด คือกระผมคิดเห็นว่าตำนานที่เป็นหลักสูตรนักธรรมที่ควรเชื่อถือได้อย่างนั้น ถ้าไม่มีเหตุผลสมบูรณ์อาจเป็นจุดมัวหมองแก่พระศาสนาอย่างหนึ่งเหมือนกัน กระผมคิดว่าถ้าไม่รีบแก้ไขให้ถูกต้องแล้ว เมื่อเหตุผลไม่สมบูรณ์อย่างนี้จะเป็นเหตุให้เขาไม่เลื่อมใส และมานึกอีกอย่างว่า เวลานี้คนต่างศาสนากำลังสนใจในทางพุทธศาสนาอยู่มาก เมื่อมาพบเหตุผลอย่างนี้เข้าจะเป็นเหตุให้หมดศรัทธาได้ ของจริงแล้วต้องทนต่อการพิสูจน์มานานแล้ว ใครพิสูจน์แล้วมักจะเข้ามาเลื่อมใส แต่สมัยนี้กำลังจะเป็นของเก๊ ของปลอม เนื่องจากกิเลสาสวะยาจารย์ อาจารย์ที่กิเลสนำพาให้เป็นอาจารย์ทำให้ศาสนามัวหมอง กระผมคนหนึ่งเป็นพุทธศาสนทายาทไม่รู้ว่าสิ่งไหนเป็นของแท้ สิ่งไหนเป็นของเทียม กระผมรู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  อุบาสกไม่ต้องเสียใจ ความเป็นอยู่ในโลกนี้มันก็เป็นอย่างนี้แหละ ถ้าหากว่าโลกนี้ไม่วุ่นวาย พระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้าทั้งหลายคงไม่หนีจากโลก แต่แล้วพระพุทธเจ้า
                                        และพระอริยเจ้าทั้งหลายหนีจากโลกนี้ไปแล้วมากมาย โลกนี้มันวุ่นเพราะกิเลสตัณหา ด้วยเหตุนี้ขออุบาสกจงพยายามกำจัดความวุ่นวายของอุบาสกให้หมดไปก็แล้วกัน เรื่องของคนอื่นจะวุ่นก็เรื่องของเขา ขออุบาสกจงมีความสุขตลอดกาล
                                        วันนี้อาตมาได้อธิบายเหตุผลต่างๆ สู่อุบาสกรู้สึกจะยืดยาวมาก พอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้อุบาสกนำเหตุผลทั้งหมดนี้ไปใคร่ครวญพิจารณา จึงขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้...เอวํ

ผู้ตอบปัญหา                 คือ หลวงปู่สมชาย      ฐิตวิริโย
ผู้กราบเรียนถามปัญหา คือ คุณครูสมบูรณ์      อินทรเสนา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น