พระธรรมเทศนา เรื่อง ตอบปัญหาธรรม แก่พระสงฆ์
เรื่องราวมีอยู่ว่า ในครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ข้าพเจ้าได้มาศึกษาธรรมะกับท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ที่วัดจิรวัฒนาราม (เนินดินแดง) ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ปัญหาที่ถามยังมีอยู่มาก แต่จะนำมาเขียนในที่นี้เฉพาะบางอย่างที่เห็นว่าเหมาะแก่การศึกษา
เรื่องราวมีอยู่ว่า ในครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ข้าพเจ้าได้มาศึกษาธรรมะกับท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ที่วัดจิรวัฒนาราม (เนินดินแดง) ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ปัญหาที่ถามยังมีอยู่มาก แต่จะนำมาเขียนในที่นี้เฉพาะบางอย่างที่เห็นว่าเหมาะแก่การศึกษา
ปัญหานี้ข้าพเจ้าได้ฟังมาจากคนเฒ่าคนแก่เล่าสู่ฟัง ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กนักเรียนและเคยได้ฟังเทศน์จากครูบาอาจารย์บางองค์
ส่วนใหญ่ของปัญหาที่จะนำมาเขียนในที่นี้ มี ๓ ข้อ ด้วยกัน
ข้อที่หนึ่งบอกว่า “สมัยนี้ไม่มีพระอรหันต์”
ข้อที่สองบอกว่า “หมดยุคหมดสมัยมรรคผลธรรมวิเศษ”
ข้อที่สามบอกว่า “ผู้ถึงนิพพานแล้ว ดวงจิตวิญญาณสูญหมด”
ต่อมาข้าพเจ้าก็ได้มาบวชในบวรพระพุทธศาสนา เมื่อมีโอกาสได้ศึกษาธรรมะจากตำรับตำรา และจากครูบาอาจารย์ จึงเห็นทัศนะแตกต่างกัน ในระหว่างตำรับตำราและครูบาอาจารย์ทั้งหลายในเรื่องปัญหา ๓ ข้อ ดังกล่าวมาแล้วนั้น
บางทัศนะก็เห็นว่ามรรคผลธรรมวิเศษหมด บางทัศนะก็เห็นว่าไม่หมด บางทัศนะเห็นว่าพระนิพพานสูญหมด บางทัศนะก็เห็นว่าสูญเป็นบางอย่าง ไม่สูญเป็นบางอย่าง ทัศนะที่เห็นว่ามรรค ผลธรรมวิเศษหมดให้เหตุผลว่า เพราะไม่เคยเห็นใครเป็นพระอริยะเจ้าหรือพระอรหันต์ ทัศนะที่เห็นว่า ไม่หมดให้เหตุผลว่าเพราะปฏิบัติไม่ถูกทาง ธรรมเป็น “อกาลิโก” ทัศนะที่เห็นว่าพระอรหันต์ ไม่มีให้เหตุผลว่า เพราะตำราว่าพระอรหันต์หมดตั้งแต่ พ.ศ. ๑๐๐๐ ทัศนะที่เห็นว่าพระอรหันต์ยังไม่แน่ (อาจมีก็ได้ อาจจะไม่มีก็ได้) ทัศนะที่เห็นว่าพระนิพพานสูญ ให้เหตุผลว่า “ถ้าไม่สูญจะดับทุกข์ได้อย่างไร” ทัศนะที่เห็นว่าพระนิพพานไม่สูญให้เหตุผลว่า “สูญเป็นบางอย่าง ไม่สูญเป็นบางอย่าง ถ้าสูญหมดทุกอย่างแล้วจะปฏิบัติไปทำไม”
เมื่อข้าพเจ้าได้ฟังทัศนะต่างๆดังกล่าวมาแล้วนั้นรู้สึกทำให้จิตยุ่งเหยิงไปหมด ยิ่งคิดยิ่งทำให้อึดอัดใจมาก ยิ่งฟังปัญหาที่ว่าผู้ถึงพระนิพพานและดวงจิตวิญญาณสูญหมด ยิ่งทำให้ข้าพเจ้ากระวนกระวายใจเป็นอย่างมาก และไม่ชอบพระนิพพานจริงๆ เพราะถึงพระนิพพานแล้วก็จะไม่มีอะไรเหลือเลย ตัวเองก็ไม่มี ไม่รู้จะไปหาความสุขมาเพื่ออะไร คิดเท่าไรก็คิดไม่ตก เมื่อพิจารณาแล้วจึงเห็นว่าเรื่องนี้สมควรกราบเรียนครูบาอาจารย์ท่านผู้รู้ทั้งหลายดูก่อนว่ามีความคิดเห็นเป็นอย่างไรบางทีอาจทำให้เราหายสงสัยได้พอตกลงปลงใจแล้วในวันหนึ่งเมื่อได้โอกาส ก็นำเรี่องนี้เข้ากราบเรียนท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย เพราะเห็นว่าท่านองค์นี้มีชื่อเสียงโด่งดังมากในทางสมาธิสมาบัติ พอนั่งเป็นทีเรียบร้อยแล้ว ข้าพเจ้าก็ประณมมือขึ้นแล้วกล่าวว่า “เกล้ากระผมขอโอกาสท่านอาจารย์”
ท่านถามว่า “ คุณมีธุระอะไร ?”
ข้าพเจ้าตอบว่า “เกล้ากระผมมีปัญหาบางอย่างจะกราบเรียนท่านอาจารย์”
ท่านถามว่า “ ปัญหาอะไร ?”
ข้าพเจ้าตอบว่า “ที่เขาว่าสมัยนี้ไม่มีมรรคผลธรรมวิเศษนั้น ถ้าว่าตามความจริงแล้ว ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไร เรื่องนี้กระผมมีความสงสัยมานานแล้ว”
ท่านตอบว่า “เรื่องนี้แต่ก่อนผมก็เคยสงสัยเหมือนกัน ถ้าว่าตามความจริงแล้ว ก็ไม่น่าจะหมด”
พอข้าพเจ้าได้ฟังคำตอบของท่านในลักษณะเยือกเย็น และสุขุมทั้งเป็นคำตอบกลางๆ โดยท่านยังไม่ทันได้อธิบายจบประโยค ข้าพเจ้าก็สวนขึ้นมาทันทีว่า “ท่านอาจารย์จะมีวิธีการหรือหลักฐานอะไร พอที่จะทำให้กระผมหายสงสัยได้”
ท่านตอบว่า จะหายสงสัยหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่ที่คุณ แต่ในที่นี้ผมจะนำเหตุผลตามตำรามาเล่าสู่ฟังจากนั้นผมก็จะอธิบาย เหตุผลเพิ่มเติมเป็นลำดับไป คือ มีธรรมะบทหนึ่งที่เป็น “สวากขาตะธรรม” ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว ซึ่งมีอยู่ในวรรค “ธรรมคุณ” บทที่ว่า “อกาลิโก “ แปลว่าไม่ประกอบด้วยกาล คือ หมายความว่าไม่ประกอบด้วยกาลด้วยเวลา ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้นโดยสมควรแก่การปฏิบัติ
ที่จริงถ้าเราจะว่าตามเหตุผลแล้ว ก็มีสิ่งที่ควรคิดอยู่หลายนัย อย่างการทำบุญและการทำบาปเป็นต้น เพราะการทำบุญและทำบาปไม่เลือกยุคเลือกสมัย ทำเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น ถ้าทำบุญยังเป็นบุญทำบาปยังเป็นบาปอยู่ตราบใด มรรคผลธรรมวิเศษก็ยังอยู่ตราบนั้น ถ้าการทำบุญเป็นบุญ การทำบาปเป็นบาป เป็นบางยุคบางสมัยก็ดี บางยุคบางสมัยทำบุญไม่เป็นบุญ ทำบาปไม่เป็นบาป ถ้าเหตุผลดังกล่าวมานี้เป็นไปได้ มรรคผลธรรมวิเศษก็เป็นไปได้ ถ้าเป็นไปไม่ได้มรรคผลธรรมวิเศษก็เป็นไปไม่ได้
เรื่องนี้คนพูดอาจเข้าใจว่า พระนิพพานคงเหมือนกับทางโลก เช่น ทางโลกเขารับสมัครคนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ เพื่อบริหารงานแต่ละประเภท เขาเปิดรับเป็นเวลา เมื่อเขาต้องการเมื่อไรก็เปิดรับเมื่อนั้น เมื่อครบจำนวนแล้วเขาก็ปิดทันที เลยลืมคิดไปว่าพระนิพพานเป็น “โลกุตรธรรม” คือ ธรรมที่เหนือโลก และเป็นกฎความจริงชนิดหนึ่งที่ไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจใคร แต่ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ความจริงกฎเกณฑ์การรับคนเข้าพระนิพพานมีดังนี้คือ รับได้เฉพาะคนที่มีจิตบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ถ้าหมดจากกิเลสได้ในขณะใด ก็เข้าพระนิพพานได้ในขณะนั้น ถ้ายังมีกิเลสอยู่แม้เพียงนิดเดียว ก็เข้าพระนิพพานไม่ได้ กฎเกณฑ์การเข้าพระนิพพานเป็นอย่างนี้
และอีกอย่างหนึ่งคุณก็เคยได้ศึกษาเรื่องพุทธประวัติมา ตอน “ปัจฉิมสักขีสาวก” คุณก็คงพอจะเข้าใจในปัญหาของ “สุภัททปริพาชก” ที่กราบทูลถามพระพุทธเจ้าในราตรีกาลคืนนั้น ก่อนแต่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระปรินิพพานมีใจความว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณะพราหมณ์นอกจากพระองค์ผู้ศาสดาพุทธแล้ว เวลานี้ยังมีผู้ตั้งตัวเป็นศาสดาอยู่ อีก ๖ คน คือ
๑. ศาสดาปุราณกัสสปะ
๒. ศาสดามักขลิโคศาล
๓. ศาสดาอชิตเกสกัมพล
๔. ศาสดาปกุทธกัจจายนะ
๕. ศาสดาสัญชัยเวรัฏฐบุตร
๖. ศาสดานิครนถนาฏบุตร
แต่ละคนก็มีศิษยานุศิษย์อยู่คนละมากๆและสั่งสอนลัทธิต่างๆกัน ข้าพเจ้าขอถามว่าศาสดาทั้ง ๖ นี้ ได้ตรัสรู้สัจจธรรมจริงดังที่เขากล่าวหรือไม่ หรือมิได้ตรัสรูธรรมดังที่เขากล่าว หรือตรัสรู้ธรรมเป็นบางจำพวก มีใครบ้างที่ได้ตรัสรู้และใครบ้างที่ไม่ได้ตรัสรู้ ข้าพเจ้าขอถามเพียงเท่านี้” พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “อย่าเลย สุภัททะ เรื่องนั้นยกไว้ก่อนเพราะเวลาของเรายังเหลือน้อย จงสนใจเรื่องของเราดีกว่า คนเหล่านั้นเขาจะได้ตรัสรูสัจจะธรรมหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา สำคัญที่สุด คือ ตัวของท่านควรฟังธรรม จงสนใจในคำที่เราจักกล่าว เราจักทำให้ท่านเข้าใจในธรรมะของเรา ดูก่อน สุภัททะ “มรรคแปด” มีในศาสนาใด พระอริยบุคคลสี่เหล่า คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ก็มีในศาสนานั้น ศาสนาใดไม่มีมรรคแปด ศาสนานั้นไม่มีพระอริยบุคคล ศาสนาพุทธของเรามีมรรคแปด เพราะฉะนั้น พระอริยบุคคลพิเศษสี่จำพวกจึงมีในศาสนาของเราถ้ายังมีผู้ปฏิบัติตามมรรคแปดอยู่ตราบใด “โลกย่อมไม่ว่างจากพระอรหันต์” เมื่อเราพิจารณาตามปัจฉิมปัญหาของพระศาสดาที่ดำรัสตอบสุภัททปริพาชกในราตรีนั้นแล้ว ก็ได้ความว่ามรรคผลธรรมวิเศษไม่ได้ขึ้นอยู่ที่กาลเวลา แต่ขึ้นอยู่ที่ปฏิบัติต่างหาก ถ้าปฏิบัติถูกต้องตามมรรคแปดอยู่ตราบใด “ ก็เป็นพระอรหันต์อยู่ตราบนั้น” ถ้าจะว่าในทางปฏิบัติแล้ว ก็มีดังนี้ คือ มรรคแปด รวมลงใน ศีล สมาธิ ปัญญา รวมลงใน สติกับปัญญา สติกับปัญญา รวมเข้ากับจิต เป็นหนึ่ง เรียกว่ามรรคสมังคี ซึ่งเป็นบาทฐานที่จะไปสู่โลกุตรธรรมและเป็นอริยบุคคลจะพูดให้ฟังง่ายๆ ก็หมายความว่า “ชำระกิเลสให้หมดจดจากจิตได้ในขณะใด ก็เป็นพระอรหันต์ได้ในขณะนั้น ที่ผมอธิบายเหตุผลมาทั้งหมดนี้คุณมีความเห็นเป็นอย่างไร”
ข้าพเจ้าตอบว่า “เมื่อกระผมได้ฟังเหตุผลของท่านอาจารย์แล้วรู้สึกซาบซึ้งใจมาก เพราะเป็นเหตุผลความจริงที่กระผมไม่เคยได้คิดและฟังมาก่อน จึงรู้สึกเป็นห่วงผู้มีเจตนาดี แต่ได้รับการศึกษาไม่ถูกทางอยากให้ฟังด้วยกันเพื่อพิจารณาต่อไป
และอีกอย่างหนึ่ง ที่คนเขาเล่าว่าสมัยนี้ไม่มีพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์หมดแค่ พ.ศ. ๑๐๐๐ เรื่องนี้ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไร และทำอย่างไรจึงจะสามารถเข้าใจได้ว่าใครเป็นพระอรหันต์และมิใช่พระอรหันต์”
ท่านตอบว่า “จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจนั้นก็ขึ้นอยู่ที่เรา ถ้าเราเข้าใจเรื่องพระอรหันต์พอว่าพระอรหันต์มีความเป็นอยู่อย่างไร ตลอดถึงมารยาทบทบาทที่ท่านแสดงออกภายนอกของผู้หมดกิเลสนั้นท่านแสดงอย่างไร เมื่อเราเข้าใจได้ดังกล่าวมานี้ สำหรับเรื่องพระอรหันต์แล้วเราก็จะสามารถพิสูจน์ได้อย่างง่ายดายและไม่เป็นสิ่งที่เหลือวิสัย ผมจะยกรูปเปรียบภายนอกมาเล่าสู่ฟัง สมมุติว่ามีคนๆ หนึ่งถามว่า “ทำอย่างไรผมจึงจะสามารถอ่านพลอยออก ว่าชนิดไหนเป็นพลอยอะไร” คนที่ชำนาญในการดูพลอยเขาก็จะตอบว่า “ขอให้คุณศึกษาให้เข้าใจก็จะสิ้นสงสัยเอง เรื่องมีอยู่แค่นี้” นี่ฉันใด พระอรหันต์ก็เหมือนกัน เมื่อเราปฏิบัติจนจิตซาบซึ้งถึงคุณธรรมภายใน จนรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ชั้นไหนมีความเป็นอยู่อย่างไรเพียงแค่นี้คุณก็สิ้นสงสัยเองและที่เขา ว่าพระอรหันต์หมดแค่ พ.ศ. ๑๐๐๐ที่จริงถ้าเราจะว่าตามหลักทางพุทธศาสนาแล้ว ก็อย่างที่ผมอธิบายสู่ฟังมาแล้วนั้นว่า ธรรมะเป็น “อกาลิโก” ไม่ประกอบด้วยกาล ถ้าสมัยใดชาวโลกไม่มีใครสามารถกำจัดกิเลสให้หมดจดจากจิตได้ สมัยนั้นโลกก็ว่างจากพระอรหันต์”
เรื่องที่เขาว่าสมัยนี้ไม่มีพระอรหันต์นั้นแต่ก่อนผมก็เคยสงสัยเหมือนกัน ต่อมาเมื่อผมได้ไปศึกษาธรรมะอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ถึงแม้ผมจะไม่ได้ใกล้ชิดเท่าใดนัก เท่าที่ผมสังเกตดูบทบาทที่ท่านแสดงออกเป็นประจำวัน รู้สึกว่าท่านมีความสม่ำเสมอจริงๆ แม้แต่การกราบของท่านๆทำตามแบบเบญจางคประดิษฐ์ตลอดทุกครั้งที่ท่านกราบท่านจะทำอยู่อย่างนั้นไม่เคยเห็นท่านเลินเล่อเผลอสติเลยแม้แต่ครั้งเดียว มือของท่านวางสูงต่ำแค่ไหนเวลากราบในคราวต่อไปก็ทำอยู่อย่างนั้นไม่มีวิปริตผิดเพี้ยนไปจากเดิมเลย ตลอดคำพูดของท่านก่อนแต่จะพูดออกมาแต่ละคำ จะต้องผ่านตาข่าย คือ “สติและปัญญา” กลั่นกรองเสียก่อน ท่านไม่ได้พูดไปตามอารมณ์ท่านพูดได้เหมาะสมกับ บุคคล สถานที่ และโอกาสจริงๆ แม้แต่มารยาทที่ท่านแสดงออกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบางครั้ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ทำให้เกิดความรักและชัง ท่านก็มิได้แสดงอาการวิปริตผิดเพี้ยนไปจากเดิมแม้แต่ประการใด โลกธรรมไม่มีทางทำจิตของท่านให้หวั่นไหวได้เลย ท่านวางตัวอยู่ในระดับปกติจริงๆ และมีลักษณะแผ่ซ่านออกซึ่ง “เมตตาธรรม” ซึ่งไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อคนอื่น จึงทำให้ผู้ที่ไปสู่สำนักของท่านได้รับความเย็นใจและสบายใจ ท่านจึงสามารถปรับปรุงแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นไม่ให้เป็นไปเพื่อความเสียหาย ไม่เพียงแต่ในจังหวะที่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเท่านั้นแม้แต่ยามปกติธรรมดาไม่มีเหตุการณ์อะไรเลย ท่านก็มีความปกติอยู่อย่างนั้น ถ้าคนไม่มีความปกติภายในจะมาดัดจริตทำเอานั้นต้องมีเผลอบ้างเป็นบางครั้งบางโอกาส ผมคอยสังเกตดูตั้งนานก็ไม่เคยเห็นท่านเผลอตัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว นี่ผมเล่าย่อๆ สู่ฟัง เท่าที่ผมสังเกตมา
ฉะนั้น เมื่อผมประมวลบทบาททุกอย่างที่ท่านแสดงออก จะอยู่ในจังหวะที่มีเหตุการณ์หรือไม่มีเหตุการณ์ก็ตาม ท่านก็มีความปกติอยู่อย่างนั้น อยู่ในลักษณะที่สม่ำเสมอและปกติจริงๆผมจึงเชื่อว่า ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร เป็นพระอรหันต์ขีณาสพแน่นอน ผมเองถึงแม้ไม่เห็นพระพุทธเจ้าแต่เมื่อได้เห็นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร และรู้สึกมีความปลื้มใจเป็นอย่างมาก และภูมิใจที่สุดในชีวิตนับว่าเรามีวาสนาบารมีเกิดมาไม่เสียชาติ ที่ได้มีโอกาสเห็นพระอรหันต์ขีณาสพในยุคสมัยปัจจุบัน เป็นการบูชาตา ผมคอยสังเกตดูท่านอย่างพินิจพิเคราะห์ดูบทบาทมารยาทที่ท่านแสดงออกทุกอย่าง ไม่เคยเห็นกิเลสของท่านแล่บออกมาด้วยเลยแม้แต่ครั้งเดียว ท่านสงบจริงๆ สมกับคำที่ว่า “สมณะ”ผู้สงบ ยิ่งมองยิ่งพิจารณายิ่งทำให้ผมมีความปลื้มใจเกิดศรัทธาเลื่อมใสเป็นลำดับ จนผมนึกอุทานในใจว่า โอที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในมงคลสูตรบทที่ว่า “สมณานญฺจ ทสฺสนํ” การเห็นสมณะเป็นมงคลเป็นอย่างนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไรจึงจะเหมือนความรู้สึกภายในได้
เรื่องที่เล่ามานี้เป็นเรื่องที่คนเข้าใจพิสูจน์แต่เป็นเรื่องเหลือวิสัยของคนบางคน เพราะคนที่ไม่มีเรื่องพิสูจน์เห็นท่านแล้วก็เฉยๆ “เหมือนไก่เห็นพลอย” ไม่เห็นตื่นเต้นอะไรถ้าจะเทียบบุคคลในครั้งพุทธกาลแล้วก็คงเหมือน “กามนิต”เป็นต้น
เรื่องมรรคผลธรรมวิเศษนี้ในสมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ ผมได้ยินครูบาอาจารย์บางท่านเล่าสู่ฟังว่ามีคนเข้าไปถามท่านเหมือนกันว่า “เมื่อท่านอาจารย์มรณภาพไปแล้ว จะมีอะไรเป็นสักขีพยานเครื่องยืนยันทำให้อนุชนที่เกิดมาสุดท้ายภายหลังเชื่อแน่นอนว่าท่านอาจารย์เป็น “พระอรหันต์ขีณาสพ แน่นอน เพื่อยืนยันว่าสมัยนี้ยังไม่หมดพระอรหันต์” ท่านบอกว่า “เมื่อท่านมรณภาพไปแล้วจะต้องมีอะไรสักอย่างเกิดขึ้นภายหลัง “ฌาปนกิจศพ” แล้ว
เมื่อได้ยินแล้วต่างคนต่างก็คอยสังเกตว่าอะไรจะเกิดขึ้น ด้วยความกระเหียนกระหายอยากดูว่าจะเป็นอะไร พอถึงคราวท่านมรณภาพจริงๆ และหลังจาก “ฌาปนกิจศพ” แล้วผลปรากฏว่า “อัฏฐิ”ของท่านกลายเป็น “พระธาตุ”คือเป็นก้อนกลมมีสีต่างๆ กันหลายร้อยก้อน ผู้ที่ได้รับแจกมีหลายคนเป็นก็มีไม่เป็นก็มีและเป็นอยู่คนละอำเภอ คนละจังหวัด แต่เรื่องนี้ตามที่ได้ยินข่าวเขาเล่าว่ามักเป็นกับพวกชนบทเป็นส่วนมาก ถ้าเป็นเฉพาะของนายวันที่โคราชแห่งเดียวเราก็อาจสงสัยได้เพราะเขาอาจจะมีวิธีทำให้เป็นของแปลกๆ เพื่อยกย่องครูบาอาจารย์ก็ได้แต่อันนี้ไม่เป็นเฉพาะคนเดียวของคนที่อยู่ตามบ้านนอกบ้านนาตาสีตาสาก็เป็นเหมือนกัน ฉะนั้น เรื่องที่ว่าเขาอาจมีวิธีทำขึ้นเพื่อสรรเสริญครูบาอาจารย์ดังกล่าวมานั้น จึงตกไป
สรุปแล้ว เรื่องมรรคผลธรรมวิเศษและพระอรหันต์ ว่ามีจริงหรือไม่นั้น สำหรับตัวผมเองแล้วไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยแม้แต่ประการใด ผมเชื่อว่า “ยังมีจริงๆอย่างแน่นอน” ผมเองก็เคยได้ศึกษาปฏิปทาข้อวัตรปฏิบัติมาจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ เป็นลำดับมา ถึงแม้การปฏิบัติของผมได้เพียงเล็กน้อยเท่าที่ผมได้ ผมก็รู้สึกภูมิใจมาก นับว่าไม่เสียชาติที่เกิดมาพบปะพระพุทธศาสนา ผลของการปฏิบัติ คือ “คุณธรรม” ที่เกิดขึ้นภายในเป็นสิ่งอัศจรรย์และเป็นความสุขที่ผมยังไม่เคยได้รับมาก่อนในชาติใดๆ ทั้งหมดที่ผมเคยผ่านมา ฉะนั้นผมจึงซาบซึ้งในคุณธรรมของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร เป็นอย่างสูง ที่ท่านได้อุตสาหะ พยายามประพฤติปฏิบัติจน “รู้แจ้งแทงตลอด ในทางดำเนินที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์” เพื่อยืนยันคำสอนของพระพุทธเจ้าในความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นในโลกอีกครั้งหนึ่งแล้วนำมาประสิทธิ์ประสาทให้แก่บรรดาผู้แสวงหาสันติสุขได้ประพฤติปฎิบัติตาม จึงนับว่าท่านพระอาจารย์มั่น ทำประโยชน์ที่สูงสุดในโลก และท่านเป็นสาวกที่เทิดทูลพระศาสนา ที่หาได้ยากองค์หนึ่งในยุคสมัยปัจจุบัน (ยุคสมัยปัจจุบันในที่นี้หมายถึงสมัยที่ท่านพระอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ ไม่ได้หมายเฉพาะตอนที่ท่านอธิบายเหตุผลให้ข้าพเจ้าฟังอย่างเดียว) ที่ผมเล่ามาก็ยืดยาว คุณยังมีเหตุผลอะไรข้องใจหรือไม่ที่ผมเล่ามา”
ข้าพเจ้าตอบว่า “เกล้ากระผมไม่มีเหตุผลอะไรข้องใจ เท่าที่อาจารย์เล่าสู่ฟังมาก็เป็นเหตุผลที่กระผมหาได้ฟังได้ยาก จึงเป็นสิ่งที่กระผมสมควรศึกษาและพิจารณาต่อไป”
ตอนนั้นข้าพเจ้าตั้งใจว่าเมื่อศึกษาได้แล้ว เราจะต้องไปปฏิบัติตามลำพัง ไม่ต้องอยู่กับท่านฉะนั้น จึงได้กราบเรียนท่านไปอีกว่า “เกล้ากระผมขอโอกาส การศึกษาตามตำราแล้วลงมือปฏิบัติเลย โดยไม่ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ จะมีทางสำเร็จหรือไม่”
ท่านตอบว่า เรื่องนี้จะต้องรู้จักฐานะของเราเองเสียก่อน ว่าเรามีฐานะความเป็นอยู่อย่างไร แล้วสมควรจะวางตัวอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับความเป็นอยู่ของเรา ถ้าว่าตามหลักความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่จะตรัสรู้ธรรมมีอยู่สามจำพวกด้วยกันคือ
๑.สัพพัญญูพุทธะ
๒.ปักเจกพุทธะ
๓.สาวกพุทธะ หรือ อนุพุทธะ
สองจำพวกเบื้องต้นไม่มีใครบอกก็ตรัสรู้เอง ส่วนจำพวกที่สาม ที่เรียกว่าสาวกพุทธะหรืออนุพุทธะนั้นหมายความว่า ผู้ที่เป็นวิสัยของสาวก จะต้องตรัสรู้ตามผู้อื่น จึงเรียกว่า “อนุพุทธะ” เพราะสร้างบารมีมาผิดกันตัวอย่างผู้ที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ต้องสร้างบารมีมาถึง ๓๐ ทัศ สาวกธรรมดาสร้างบารมีมา ๑๐ ทัศ เท่านั้น เมื่อเทียบกันแล้วรู้สึกไกลกันมาก
ฉะนั้น เราต้องพิจารณาดูว่าเราอยู่ในจำพวกไหน ถ้าอยู่ในสองจำพวกไม่เป็นไรถ้าอยู่จำพวกที่สามแล้ว ต้องอาศัยครูบาอาจารย์จึงจะสามารถเป็นไปได้ เพราะการอยู่กับครูบาอาจารย์เราได้เห็นการแสดงออกของท่านเป็นประจำวัน ว่าท่านทำอย่างไร บทบาทมารยาทของท่านผู้มีคุณธรรมที่ท่านแสดงออกท่านทำอย่างไร ในโอกาสสถานที่ และบุคคลเช่นไรควรทำอย่างไร เราต้องเห็นตัวอย่างผู้ที่ท่านมีคุณธรรมเสียก่อน จึงจะสามารถดำเนินประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปได้ การเห็นตัวอย่างจึงเป็นของสำคัญ ถ้าไม่อย่างนั้นไม่มีทางเป็นไปได้
เรื่องนี้คุณควรนำเอาประวัติของอสิติมหาสาวกมาพิจารณาดู ตังอย่างเช่น “พระสารีบุตร”
เป็นต้น ถึงแม้ท่านจะมีความฉลาดเป็นเยี่ยมในบรรดาสาวกทั้งหลายในครั้งพุทธกาล ถึงขนาดนั้นยังไม่สามารถตรัสรู้ธรรมด้วยตนเองได้ ต่อเมื่อได้ฟังธรรมจาก “ พระอัสสชิเถรเจ้า” จึงสามารถเป็นพระอริยบุคคลขึ้นมาได้ เมื่อสรุปแล้วก็ได้ความว่าผู้ที่มีวิสัยเป็นสาวก ต้องอาศัยผู้อื่นแนะนำทางที่ถูกต้องเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์เสียก่อน จึงจะสามารถเป็นไปได้ เรื่องนี้ผมของมอบให้คุณไปพิจารณาเอาเองว่าเห็นสมควรอย่างไร คุณยังมีเหตุผลอะไรที่ข้องใจอยู่หรือไม่ที่ผมเล่าสู่ฟัง”
ข้าพเจ้าตอบว่า “เกล้ากระผมไม่มีความข้องใจในเหตุผลอะไร เท่าที่อาจารย์เล่าสู่ฟังก็มีสิ่งที่มีคติเตือนใจเกล้ากระผมได้ดีมากที่สุด
แต่ยังสงสัยอีกจุดหนึ่งที่กระผมได้ฟังมา เขาเล่ากันว่าพระนิพานสูญหมด ไม่มีอะไรเหลือเลยแม้แต่ดวงจิตวิญญาณก็ไม่มี เรื่องนี้ถ้าว่าตามหลักทางพระพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้ว ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไร”
ท่านตอบว่า เรื่องนี้เราต้องศึกษาให้เข้าใจความหมายของนิพพาน และความเป็นมาของลัทธิทั้งหลายเสียก่อนว่า นิพพานมีความหมายอย่างไร และนิพพานแต่ละลัทธิมีลักษณะต่างกันอย่างไรในที่นี้ผมจะเล่าถึงเรื่องพระนิพพานตามความหมายของพุทธศาสนาเสียก่อน แล้วจึงอธิบายตามลัทธิทั้งหลายเป็นลำดับไป คำที่ว่า นิพพาน แปลว่า “ดับ” ดับในที่นี้หมายถึงดับเหตุแห่งทุกข์ เหตุแห่งทุกได้แก่ “กิเลสตัณหา” เมื่อดับกิเลสตัณหาอาสวะน้อยใหญ่ทั้งปวงได้แล้ว เรียกว่า “จิตถึงนิพพาน” และในภาษาบาลีที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า “นิพพานํ ปรมํ สุขํ” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ถ้าดับดวงจิตวิญญาณแล้ว จะได้รู้อย่างไรว่านิพพานเป็นสุข ตัวที่รู้ว่านิพพานเป็นสุขนั่นแหละ คือ “ดวงจิตวิญญาณ”ถ้าไม่มีดวงจิตวิญญาณแล้วก็คงไม่รู้ว่าพระนิพพานมีความสุขอย่างไร
และอีกประการหนึ่ง คุณก็เคยได้ศึกษาเรื่องพุทธานุพุทธประวัติมา ตัวอย่างพระพุทธเจ้าของเราเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็หมายความว่า จิตของพระองค์ถึง “นิพพาน” แล้ว แต่ทำไมพระพุทธเจ้าของเราจึงยังสามารถประกาศพระศาสนาอยู่ได้ถึง ๔๕ ปี และไม่เพียงแต่พระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้น แม้แต่พระอรหันต์สาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน บางองค์เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังดำรงชีวิตอยู่นานกว่าพระพุทธเจ้าก็มี เช่น พระมหากัสสปะ เป็นต้น
พระพุทธองค์ยังเคยตรัสว่าผู้ที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เข้าพระนิพพานไปก่อนพระองค์นั้นนับไม่ถ้วน แต่ละองค์ก็มีพระสาวกองค์ละหลายอสงไขย เมื่อถึงนิพพานแล้วไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารให้ลำบาก เสวยความสุขอยู่พระนิพพาน สถานที่เป็นบรมสุข คุณลองคิดดูว่าถ้าสูญจริงๆ ก็คงตรัสว่าหายเงียบไปเลย คงไม่ตรัสว่าเสวยบรมสุขถ้าดับจิตจริงๆ จะเอาอะไรมาเสวย
ที่จริง การทำสมาธิในครั้งพุทธกาลมีหลายลัทธิด้วยกัน บางลัทธิเมื่อทำไปทำไป จิตหายเงียบไปเลยไม่รู้เรื่องอะไร พอออกจากสมาธิมาเขาก็เล่าว่า “พระนิพพานไม่มีอะไร ดับหมด” สมาธิดังกล่าวมานี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น “โมหะสมาธิ” เพราะสติยังอ่อน ไม่สามารถควบคุมจิตได้ สติตามไม่มันจิตจึงหายเงียบไปไม่รู้ตัว ถ้าอยู่ในลักษณะนี้จนตลอดชีวิต ตายไปแล้วก็มีหวังตก “อสัญญีพรหม” คือ พรหมไม่มีสัญญา พรหมลูกฟักก็เรียก ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า โมหะสมาธินั้นถูกแล้วเพราะสติตามไม่ทัน ลักษณะที่จิตหายเงียบไปพักหนึ่งแล้วก็ถอนจากสมาธิออกมา เราจะว่าดับเลยก็ไม่ถูก เพราะถ้าดับจริงๆ คงกลับมาไม่ได้ จะต้องหายเงียบไปเลย
บางลัทธิเมื่อทำไปทำไป พอถึงที่สุดของเขา จิตเฉื่อยชา สุขก็ไม่สุข ทุกข์ก็ไม่ทุกข์เมื่อเขาออกมาแล้วก็เล่าว่า “นิพพานมีลักษณะเฉยๆ ว่างหมดอะไรก็ไม่เอา บุญก็ไม่มีบาปก็ไม่มี ถ้ายังมีบุญมีบาปอยู่ ยังไม่ใช่นิพพาน” ลัทธินี้อะไรก็ไม่เอา บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา นี่เล่าย่อๆ สู่ฟัง
ที่เล่ามานี้ผมก็อยากให้คุณเข้าใจความหมายที่ว่า “นิพพาน” เป็นชื่อที่เรียกกันอยู่ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติบังเกิดขึ้นในโลก ต่างคนก็ต่างค้นหานิพพานด้วยวิธีการต่างๆ กันตามแต่ความเข้าใจของแต่ละคณาจารย์และก็นำมาสั่งสอนแก่บรรดาศิษย์ของตนตามที่ตนเองเข้าใจที่จริงลัทธิดังกล่าวมานี้เป็นลัทธิที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้า ไม่ใช่สายโลกุตระในทางพระพุทธศาสนาของพวกเราเป็นแต่พระองค์นำมาปรารภ ให้เป็นเหตุหรือนำมาเปรียบเทียบว่าลัทธิที่พระองค์ค้นคว้าได้ใหม่นี้ และของคณาจารย์ทั้งหลายที่ตั้งตัวเป็นคณาจารย์อยู่ไปสมัยนั้นไม่เหมือนกัน หรือมิใช่อย่างเดียวกันจึงเป็นเหตุให้พระนิพพานมีความหมายต่างๆกัน ส่วนนิพพานของพุทธ เป็นนิพพานแบบจิตที่สงบจากบาปและเวลาเข้าสมาธิจิตถึงขั้นไหนมีความเป็นอยู่อย่างไรสุขแค่ไหน คือเป็น “โลกวิทูแห่งจิต” รู้แจ้งแทงตลอด จิตมีความรู้ชัชวาล เมื่อถึงพระนิพพานจุดสูงสุดของการบำเพ็ญนั้น มีความหมายอย่างไร ผู้ที่ถึงพระนิพพานแบบโลกุตระแล้ว เมื่อออกจากสมาธิมา เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า “นิพพานํ ปรมํ สุขํ” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งนี่เป็นสายโลกุตระที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบทีหลัง
แล้วคุณจะต้องการนิพพานแบบไหน ต้องการนิพพานแบบไม่มีอะไรเลย สุขก็ไม่มี ทุกข์ก็ไม่มีหรือต้องการนิพพานแบบสูญหมด ดวงจิตวิญญาณก็ไม่มี แต่ถ้าคุณต้องการนิพพานแบบที่มีความสุขแล้ว ก็ดำเนินตามสายโลกุตระที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบใหม่นี้ รับรองมีความสุขแน่นอน เรื่องที่คนเขาว่านิพพานสูญอย่างนั้นอย่างนี้ นั้นเขาว่าไปตามลัทธิของเขา เราก็ไม่เห็นอนาทรร้อนใจอะไรเพราะไปอยู่คนละนิพพานกัน เราจะไปอยู่ในนิพพานที่กิเลสสูญ เพราะเป็นนิพพานที่มีความสุข ขอให้คุณจำไว้ว่านิพพานที่ดวงจิตวิญญาณสูญนั้น เป็นลัทธิที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้า อย่างที่ผมเล่าสู่ฟังในลักษณะจิตเป็นโมหะสมาธินั่นเองฉะนั้น พวกนี้จึงบัญญัติศัพท์นิพพานของเขาว่า “นิพพานํ ปรมํ สูญญํ” นิพพานว่างอย่างยิ่ง ไม่มีอะไรเลยเราเลยเอาศัพท์นั้นมาใช่ แต่ความหมายคนละอย่างกันกับที่เขาเข้าใจ เราหมายถึงกิเลสสูญจากจิต หรือสิ่งที่ทำให้จิตเดือดร้อน เศร้าหมองขุนมัวสูญหมดก็มีอย่างนี้
วันนี้ผมก็ได้เล่าเหตุผลอะไรต่ออะไรหลายสิ่งหลายอย่างสู่ฟัง ก็รู้สึกว่าเป็นเวลายืดยาวพอสมควร บางอย่างก็ละเอียดบางอย่างก็ไม่ละเอียด วันหนึ่งข้างหน้าถ้ามีโอกาสผมก็จะเล่าเพิ่มเติมทีหลัง
ฉะนั้น เหตุผลทั้งหมดที่ผมเล่าสู่ฟังมานี้ ผมขอมอบให้คุณไปพิจารณาดู เมื่อเห็นว่ามีเหตุผลพอสมควรเชื่อถือได้แล้ว ต่อไปจึงค่อยศึกษารายละเอียดในปฏิปทาของท่านพระอาจารย์ต่อไป ผมเล่ามาทั้งหมดจึงขอยุติเพียงเท่านี้
ข้าพเจ้ายกมือสาธุ แล้วกราบ ๓ ครั้ง พอเสร็จเรียบร้อยก็กลับสถานที่พักตามเดิม
ตั้งแต่นั้นมา ข้าพเจ้าได้นำเหตุผลต่าง ๆ ที่ท่านอาจารย์เล่าสู่ฟัง ไปขบคิดพินิจพิจารณาเรื่อยมาเป็นลำดับ และเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าซึ้งใจมาก นับเป็นเหตุผลความจริงที่ข้าพเจ้าไม่เคยได้ฟังมาก่อนเลย จึงนับว่าเป็นเหตุผลความจริงที่หาฟังได้ยากฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงมีความประสงค์ ให้บรรดาท่านที่สนใจได้อ่านดู และมั่นใจว่าปัญหาที่กล่าวมานี้ จักเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ใคร่ต่อการศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างล้ำค่ามหาศาล เพราะอาจตัดความสงสัยลงได้
บทความในปัญหาที่นำมาเขียนนี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่จดจำนำมาบันทึกด้วยตนเอง หากโวหารปฏิภาณและเหตุผลทั้งหลายที่กล่าวมานี้ เพี้ยนไปจากความจริงที่ได้ฟังมา ข้าพเจ้าของรับผิดชอบแต่ผู้เดียว
ในที่สุดยุติลงแห่งปัญหา ข้าพเจ้าอำนวยอวยพรให้พวกท่านทั้งหลายที่ศึกษาธรรมะในหนังสือเล่มนี้ จงประสบแต่ความสุข ความเจริญ ปราศจากโรคาพาธพยาธิทั้งปวง รู้แจ้งแทงตลอดในธรรมะคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อช่วยกันฟื้นฟูพระศาสนาจงทุกถ้วนกันเทอญ ๆ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น