พระธรรมเทศนา
เรื่อง ต้องการของจริงต้องทำจริง
พวกเราต้องการของจริงของแท้ ควรจะเร่งความพยายาม อุตสาหะบากบั่นลงในหัวใจของตนเอง เอาธุระอย่างใจสมัคร เอาใจใส่แน่วแน่ ทำอะไรให้ตั้งใจทำจริง ทำให้ตรงต่อหน้าที่ มุ่งให้สำเร็จไม่คั่งค้าง มุมานะอดทนฝ่าฟันอุปสรรคโดยไม่ท้อถอย มีสติจดจ่ออยู่เฉพาะกิจที่ตนทำ เพียรคิดเพียรทำเพียรเลื่อนอันดับขึ้นเสมอ ต้องการของจริงต้องทำให้จริง ดำเนินงานให้เป็นไปในทำนองรากไม้แทรกหินค่อยแทรกทีละน้อยๆ ก้อนหินใหญ่ก็พังทลาย เมื่อทำจริงอย่างนี้ของจริงของแท้จะปรากฏเป็นอานิสงส์ ความทุกข์ก็หมดไปเลยกลายเป็นเจ้าของความสุข ไม่ต้องดิ้นรนไปหาความสุขอื่นอีก เราจะเป็นผู้ครองความสุขอย่างสมบูรณ์ด้วยความอิ่มใจ อนุสาวรีย์อันใดจะเด่นกว่าความจริงอย่างนี้ไม่มีกำลังแรงทั้งหลายในโลกจะผลักดันให้พังทลายไม่ได้ เพราะเป็นอนุสาวรีย์มั่นคงถาวรถึงแม้การจะล่วงไปแต่อนุสาวรีย์คือความดียังคงอยู่ ด้วยเหตุนี้ขอเชิญท่านที่รักของจริงแท้ คือ อมตธรรม ขอเชิญสร้างอนุสาวรีย์อันยืนนานกว่าอนุสาวรีย์ใดๆ ในโลกให้จงสำเร็จ และถือสถิตเป็นของสำคัญ เพราะมีสติเป็นเหตุไม่ให้คิดพลาดพูดพลาดกระทำก็ไม่พลาด ความเป็นผู้มีสติเป็นแม่บทของความดีงาม เป็นอุปการะในกรณียกิจทุกอย่าง สวมลงในความไม่เผลอ บัณฑิตย่อมกล่าวสรรเสริญว่าเป็นเหตุแห่งความดีความงามทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้โบราณบัณฑิตท่านจึงแนะนำไว้ว่าจะทำจะพูดให้มีสติระลึกรู้ก่อนเมื่อทำหรือพูดอยู่ก็ให้มีสติกำกับอยู่เสมอ ควรหรือไม่ควร ใช้สติระลึกถึงโทษคุณอยู่ทุกระยะ ตัวอย่างท่านผู้มีสติผู้เป็นบัณฑิตท่านจะพูดออกมาคำหนึ่ง ท่านระลึกก่อนว่าคำหนึ่งที่จะพูดออกไปนี้ประกอบด้วยโทษหรือคุณ เมื่อประกอบด้วยคุณท่านก็ปล่อยออกไป เมื่อประกอบด้วยโทษท่านก็หยุดทันที พระพุทธเจ้าท่านมุ่งสอนให้คนมีสติความรู้สึกตัวก่อน เมื่อจะทำพูดคิดสิ่งหนึ่งประการใด เมื่อรู้แล้วให้ประคองใจของตน ให้ตรงต่อในทางที่ดีที่ชอบ ซึ่งบัณฑิตชนสรรเสริญให้เหินห่างจากทางแห่งหายนะ ความเสียหาย เมื่อบุคคลดำเนินกายวาจาของตนให้เป็นไปแต่ในทางที่ถูกที่ชอบก็จะมีแต่ความสำราญ นี้แสดงถึงกรณีที่บุคคลทำความรู้สึกทุกขณะจิตไม่ให้หมุนไปสู่ความผิดที่บัณฑิตจะพึงครหา ถ้าทำกันจริง ๆ จัง ๆ ด้วยความไม่ประมาทก็จะสำเร็จผลที่ตนปรารถนา คิดดูแต่พระสารีบุตรเถรเจ้าเมื่อได้รับโอวาทจากพระพุทธเจ้าไม่มากเพียงแค่นี้ว่า ดูกรสารีบุตร ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายมีสติเข้าไปรับรู้อยู่ที่จิต เอาสติห้ามความรักและความชังของจิตอยู่เสมออย่าเผลอ กิเลสเครื่องย้อมจิตทั้งปวงของผู้ที่ปฏิบัติที่มีสติเข้าไปรับรู้อยู่ที่จิตทุกเมื่อย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ พระสารีบุตรได้อุบายจากพระพุทธเจ้าอย่างนี้ ท่านก็ดำเนินตามจึงเป็นเหตุให้ท่านสำเร็จมรรคผล พวกเราผู้ปฏิบัติทั้งหลายจงพยายามสร้างสติให้มาก แล้วเอาเข้าไปกำกับจิตอยู่เสมอ เราผู้ปฏิบัติจะมองเห็นธรรม อันเป็นนามที่บัญญัติว่าจิตหรือวิญญาณประกอบอารมณ์ ถ้าเป็นเหตุแห่งโทษก็เรียกสิ่งนั้นว่าอกุศลธรรม ถ้าเป็นเหตุแห่งคุณ ก็เรียกว่ากุศลธรรม ผู้จักเหตุแห่งสุขและทุกข์โทษคุณ ก็เรียกว่าธัมมัญญุตา คือ ผู้รู้จักเหตุ ผู้เห็นผลที่ปรากฏทั้งดีและชั่ว ทั้งที่เป็นสุขและทุกข์ ว่าเป็นผลมาจากอะไรเป็นเหตุ เรียกว่า อัตตัญญุตา ผู้รู้จักผล ผลนั้นแลจะเป็นเหตุต่อไป คนที่รู้จักเหตุ และรู้จักผลนั้น รู้ชั้นเดียวก็ดี รู้สองชั้นก็ดี และรู้แต่ที่หยาบ ๆ ก็ดี เมื่อความพยายามมีอยู่มีความหวังว่าจะต้องรู้ยิ่งเห็นจริง สมัยนี้ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่มีกำลังกายและสติปัญญาพอที่จะรับธรรมะและปฏิบัติตามได้ แต่ขาดครูบาอาจารย์ที่แนะนำ ตามปฏิปทาของพระพุทธเจ้าที่เป็นข้อปฏิบัติเข้าไปสู่มรรคผลจริงๆ จึงเป็นเหตุทั้งหลายเหล่านั้นเป็นคนอาภัพ ทำชีวิตให้เป็นหมันเพราะไม่ได้รับแสงสว่างจากครูบาอาจารย์ที่เข้าใจทาง เหมือนคนตาดีแต่อยู่ในที่มืดย่อมจะมองอะไรไม่เห็น แต่บางคนพูดว่าถ้าเรามีวาสนาแล้วไม่ยาก นึกดูแต่พระพุทธเจ้า พระองค์เป็นผู้มีวาสนาบารมีพอ ก็ไม่เห็นพระองค์ได้รับการแนะนำจากใครเลย พระองค์ก็ยังตรัสรู้ได้ เป็นสยัมภูผู้รู้เอง คำนี้จริงแต่มันจริงแต่คำนี้ เราลองนึกดูการตรัสรู้มีถึงสามอย่าง ๑.สัพพัญญูพุทธะ ๒.ปัจเจกพุทธะ ๓.สาวกพุทธะ ตรัสรู้ตามผู้อื่น เราเป็นจำพวกไหนคิดดูให้ดีๆ ถ้าอยู่ในจำพวกสาวกพุทธจะต้องตรัสรู้ตามผู้อื่นขอให้คิดดูอีกว่า มีสาวิกาองค์ไหนที่ไม่ได้รับคำแนะนำจากท่านผู้อื่นที่เข้าใจแล้วในธรรมะแนะนำให้ ตรัสรู้ไปโดยลำพังตนเอง ไม่ปรากฏมีเลยในครั้งพุทธกาล ผู้ที่เป็นสาวกพุทธจะต้องอาศัยแสงสว่างจากผู้อื่นช่วย จึงเป็นเหตุให้เดินทางไปสู่มรรคผลถูก ตัวอย่าง พระอัสสชิได้รับธรรมจากพระพุทธเจ้า พระสารีบุตรในคราวแสวงหาโมกธรรมได้รับธรรมต่อจากพระอัสสชิ พระโมคคัลลานะได้รับธรรมต่อจากพระสารีบุตร ตัวอย่างก็มีอยู่อย่างนี้ ด้วยเหตุนี้จำเป็นทีเดียวผู้เป็นเวไนยชนจะต้องอาศัยแสงสว่างจากครูบาอาจารย์ที่เข้าใจปฏิปทาที่แท้จริงของพระพุทธเจ้ามาแนะนำให้เพื่อความสำเร็จมรรคผล ดังบรรยายมาก็พอสมควรเวลา เอวํ ก็มีมาด้วยประการฉะนี้
พิมพ์คัดจากหนังสือฐิตวิริยาจารย์เทศนา รวมธรรมคำสอน ของ พระวิสุทธิญาณเถร
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
วัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
เล่ม ๑(หน้าที่ ๔๓ – ๔๔)
วัตถุประสงค์ : พิมพ์ถวายเป็นธรรมทาน เพื่อมอบเป็นที่ระลึก แด่ผู้ร่วมสร้างเจดีย์ วัดเขาสุกิม
สงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ