ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง

ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง

ร่วมกด Like แชร์ข้อมูล เจดีย์กำลังก่อสร้าง ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง


วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555

เรื่อง จิตที่อบรมแล้วย่อมนำสุขมาให้

พระธรรมเทศนา

เรื่อง  จิตที่อบรมแล้วย่อมนำสุขมาให้


“จิตฺตํทนฺตํ  สุขาวหํ จิตที่อบรมดีแล้วย่อมนำสุขมาให้” จะอธิบายบทธรรมดังต่อไปนี้ ก็คำที่ว่าจิตในที่นี้ ประสงค์เอาธรรมชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งให้ผลสำเร็จคือความนึกคิด จิตนี้ถ้าคิดในทางดี อันเป็นฝ่ายกุศล ก็เรียกว่า กุศลจิต ถ้าคิดในทางชั่วอันเป็นฝ่ายอกุศล ก็เรียกว่า อกุศลจิต ถ้าคิดในทางไม่ดีไม่ชั่วเป็นกลางๆ ก็เรียก อัพยากตาจิต จิตเป็นหัวหน้าของธรรมทั้งหลาย กิจการที่บุคคลทำในทางกายก็ดี พูดด้วยปากก็ดี จะดีหรือชั่วก็เพราะจิต สุขทุกข์ที่สัตว์จะพึงได้ประสบ ในภพปัจจุบันนี้ก็เพราะจิต เมื่อจิตดีแล้ว กิริยาที่แสดงออกทางกายและถ้อยคำที่พูดออกมาก็พลอยดีไปตามจิต อนึ่งบุคคลจะไปสู่สุคติหรือทุคติในภพเบื้องหน้าก็เพราะจิต ถ้าจิตไม่เศร้าหมอง คติคือภูมิเป็นที่ไปในภพหน้าก็ดีเป็นสุคติ ถ้าจิตชั่วเศร้าหมองอยู่คติก็ชั่วเป็นทุคติอย่างหนึ่ง บุคคลจะไปสู่พระนิพพานได้ก็เพราะจิต คือต้องปฏิบัติอบรมจิตอย่างเดียวเท่านั้น ตามที่กล่าวมานี้จะพึงเห็นได้ว่า จิตเป็นของสำคัญเพียงใด บุคคลจะดีหรือชั่วก็อาศัยจิตเป็นที่ตั้งเป็นประธาน แต่ตามธรรมดาของจิตมีปกติดิ้นรนกวัดแกว่งรักษายากห้ามได้ยาก มักตกไปในอารมณ์ตามปรารถนาน้อมไปสู่ความชั่วเสมอ  ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่หวังความสุขอย่างต่ำตลอดขึ้นไปสู่ความสุขอย่างยอด จำต้องฝึกหัดดัดแปลงจิตทรมานจิตหรืออบรมจิต ก็แลอุบายเป็นเครื่องฝึกหัดดัดปรือหรือปราบปรามทรมานจิตนั้น จะยกขึ้นแสดงในที่นี้เพียงสองประการ คือ สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน กิริยาบุคคลมาเจริญกัมมัฏฐานบทใดบทหนึ่งอันเป็นอุบายเครื่องมือทรมานจิต ทำให้จิตสงบจากฐานกิเลส คือ กิเลสเครื่องกลุ้มรุมจิต อันได้แก่ นิวรณ์ธรรม ๕ ประการ มี กามฉันท์ ความรักใคร่ พอใจในกามารมณ์ เป็นต้น ทำให้จิตแน่มั่นคง คือ มีสติจับมั่นอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก จิตไม่ไปต่ออารมณ์สัญญาทางอื่น รับรู้เฉพาะ ลมหายใจอย่างเดียว จุดประสงค์ไม่ให้จิตทำงาน 2 หน้าที่ หรือเป็นวิธีสร้างสติ ให้มีกำลังเหนือจิตใจ คือ เมื่อจิตเรารับรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออกได้ ก็เรียกว่าผู้มีสติดี ถ้าสติไม่ดี รับรองว่าจิตจะไม่อยู่เป็นปรกติแน่นอน เพราะจิตเป็นสภาวธรรมที่วิ่งต่ออารมณ์ หรือ เป็นผู้มีหน้าที่รับรู้อารมณ์ทั้งภายนอก ภายในตลอดเวลา เพราะเหตุนั้นผู้ใด ทำจิตของตัวเองให้รับรู้ เฉพาะลมหายใจเข้าออกได้ ก็จัดว่าเป็นผู้มีสติเหนือจิตใจได้ และสตินี้เป็นตัวคุ้มครองจิตโดยตรง คนเราถ้าเผลอสติแล้วจะมีความเสียหายได้ ถ้าเผลอบ่อยๆจะดูไม่ได้เลย เราจะมองเห็นได้ ตัวอย่าง คนที่พูดหรือทำอะไรไม่มีสติกำกับแล้ว จะเสียหายหรือดูไม่ได้ ที่ทำแล้วก็พูดออกจากจิต ถ้ามีสติกำกับจิตอยู่เสมอแล้ว จิตที่มีสติสั่งออกมาภายนอก ก็จะมีสติคลุมถึงกันหมด นี้พูดถึงสติตัวคุม และค่าของสติและโทษของคนที่ไม่มีสติ เมื่อเรามองเห็นคุณค่าของสติแล้วอย่างนี้ ผู้ทำกัมมัฏฐาน เมื่อสร้างสติจนเหนือจิตคุมจิตให้อยู่ในอำนาจของสติได้แล้วเป็นที่สมควรแก่การงาน เป็น บรรทัดฐานที่ตั้งแห่งความรู้จริงเห็นจริงอย่างนี้ เชื่อว่าทรมานจิตด้วย สมถะกัมมัฏฐาน กิริยาที่บุคคลมาอบรมวิปัสสนาที่จะให้รู้ยิ่งเห็นจริงใน สภาวธรรม เล็งเห็นสังขารทั้งหลาย หมายถึง กิเลสปรุงจิตหรือพูดว่ากิเลสมีอำนาจเหนือจิตและบังคับจิตก็ได้ แต่ภาษา ธรรมว่า ปรุง จึงนิยมพูดว่ากิเลสปรุงจิต จิตจึงได้ปรุงกายและวาจาต่อไป กายและวาจาที่ถูกจิตที่อาศัยกิเลสปรุงนั้น ประกอบไปด้วยโทษ เมื่อมีสติเข้ากำกับอยู่ใกล้ชิดกับจิตพิสูจน์สภาวธรรม จนเห็นชัดว่าจิตที่แสดงออกอย่างนี้ ได้ด้วยกำลังของกิเลส สติเข้าไปรู้ได้แล้วบังคับไม่ยอมให้แสดงออกมา ต้องทำอยู่อย่างนี้เสมอไม่ขาดระยะจนชนะจิตได้ด้วยกำลังของสติ ผลที่สุดเลยเอาสติเข้าบังคับจิตแทนกิเลส ต่อไปเมื่อสติอบรมจิตจนดีแล้ว เรื่องของจิต จิตไม่ปรากฏเลย ปรากฏแต่สติ เลยเป็นเรื่องของสติไปหมด กายวาจาที่แสดงออกก็แสดงออกไปด้วยกำลังของสติ เพราะมีสติคุมอยู่ทุกครั้งที่แสดงออก จึงไม่พูดว่าเรื่องของกิเลสปรุงเลย กลายเป็นเรื่องของสติไปทั้งหมด เพราะเมื่อจิตแสดงต่ออารมณ์ก็มีสติบังคับอยู่เมื่อแสดงออกมาทางกายและทางวาจาก็มาด้วยกำลังของสติ หมายความว่า การเคลื่อนไหวของกายก็มีสติคุมอยู่ทุกจุด วาจาที่พูดก็มีสติคุมอยู่ทุกคำ ควรหรือไม่ควรมีสติตามระลึกอยู่ทุกอาการ จึงว่ากลายเป็นเรื่องของสติไปทั้งหมด เมื่อเห็นว่าสติมีอำนาจเหนือกิเลสแล้ว สติเข้าไปบัญชาจิตแทนกิเลสแล้วจึงน้อมจิตไปเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริงเรียกว่า เจริญวิปัสสนา เป็นอันดับที่สองของการเจริญวิปัสสนา ทีแรกเอากำลังของสติมาจากสมถกัมมัฏฐานเข้าไปยึดฐานของกิเลสต่อไปจะได้ทำลายฐานของกิเลส การเจริญวิปัสสนาครั้งที่สองก็ต้องอาศัยกำลังของสติบังคับจิตให้เล็งดูสังขารธรรมที่ตกอยู่ในไตรลักษณญาณ คืออนิจจัง สภาวธรรมเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ร่างกายเป็นก้อนทุกข์ อนัตตา ร่างกายเป็นของไม่ใช่ตัวตนของเรา จนถึงความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอุปาทานเสียได้ จิตมิได้ติดอยู่ในสังขารด้วยอำนาจกิเลสตัณหามานะทิฐิแล้ว ย่อมหลุดพ้นได้เด็ดขาดจากกิเลสอาสวะทั้งปวง อย่างนี้ได้ชื่อว่าทรมานจิตด้วยวิปัสสนากัมมัฏฐาน สติที่ได้รับการฝึกฝนดีแล้ว นำเข้าไปทรมานจิตด้วยวิธีดังกล่าวมาแล้วนั้น จัดเป็นการดีสมดังบาลีในธรรมบท ขุททกนิกาย ว่า จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ การฝึกฝนสติดีแล้วนำเข้าไปทรมานจิตได้เป็นการดี เพราะว่าจิตที่ได้รับทรมานดีแล้วจากสติย่อมปลอดภัยจากทุกข์อันเนื่องมาจากกิเลสอาสวะ มีแต่จะได้รับความสุขกายสบายจิตตั้งแต่สุขอย่างต่ำขึ้นไปจนถึงสุขอย่างยอด กล่าวคือพระนิพพาน อันเป็นสถานดับเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์ เป็น เอกันตบรมสุข นับว่าเป็นอันสิ้นภพสิ้นชาติกันต่อไป สมดังบาลีที่ยกขึ้นไว้ในเบื้องต้นนั้นว่า “จิตฺตํทนฺตํ สุขาวหํ” จิตที่ฝึกฝนดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้มีนัยดังพรรณนามาฉะนี้ เอวํ


พิมพ์คัดจากหนังสือฐิตวิริยาจารย์เทศนา  รวมธรรมคำสอน ของ พระวิสุทธิญาณเถร
หลวงปู่สมชาย  ฐิตวิริโย
วัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
เล่ม ๑(หน้าที่ ๓๘ – ๔๐)
วัตถุประสงค์ : พิมพ์ถวายเป็นธรรมทาน เพื่อมอบเป็นที่ระลึก แด่ผู้ร่วมสร้างเจดีย์ วัดเขาสุกิม
สงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ