พระธรรมเทศนา
เรื่อง พระพุทธเจ้าให้อุบายโดยย่อแก่พระสารีบุตร
๑.สารีบุตรเถระ..ดูกรสารีบุตร ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายมีสติเข้าไปรับรู้อยู่ที่จิต เอาสติห้ามความรักความชังของจิตอยู่เสมอไม่เผลอ กิเลสเครื่องประกอบจิตหรือเครื่องย้อมจิตทั้งปวงของผู้ปฏิบัติที่มีสติเข้าไปรับรู้อยู่ที่จิตทุกเมื่อ ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เราเรียกผู้นั้นว่าผู้ถึงฝั่ง คำว่าฝั่งคือ แม่น้ำฟากทางนี้แหละทางโน้นเรียกว่าฝั่ง ผู้ที่ลงเรือไปยังไม่ถึงฝั่ง ผู้อยู่ในกลางแม่น้ำใหญ่เรียกว่าผู้กระวนกระวาย ผู้ถึงฝั่งแล้วเรียกว่า ผู้กระวนกระวายไปปราศแล้ว คิดดูที่พระพุทธเจ้าเทศน์มีเหตุผลอย่างไรบ้างพอที่จะยึดเอาเป็นหลักต่อไป
๒. ข้อความของพระพุทธเจ้าโดยย่อมีอีกว่า พระอาทิตย์ย่อมส่องแสงในเวลากลางวัน พระจันทร์ย่อมรุ่งเรืองในตอนกลางคืน กษัตริย์ทรงเครื่องรบแล้งย่อมรุ่งเรือง ส่วนพระพุทธเจ้ามีสติเครื่องแผดเผากิเลสให้เหือดแห้งแล้ว พร้อมทั้งสาวกผู้มีสติกำกับจิตอยู่ทุกเมื่อ ย่อมเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยเดชตลอดกลางวันกลางคืน คิดดูได้ความว่าอย่างไรพอมองเห็นแนวปฏิบัติได้แล้วหรือยัง
๓. พระศาสดาสอนอีกว่า บุคคลผู้มีสติเข้าไปกำจัดอารมณ์ที่เป็นบาปได้แล้ว เราเรียกบุคคลนั้นว่า พราหมณ์(ผู้รู้) ผู้มีสติสมบูรณ์ประพฤติเรียบร้อยขับไล่มลทินด้วยกำลังตปธรรมคือสติได้แล้ว เราเรียกผู้นั้นว่าสมณะ ความชั่วทางกายและใจของบุคคลใดไม่มี เราเรียกบุคคลผู้นั้นว่า ผู้สำรวมโดยฐานะสาม คือ มีสติรับรู้อาการเคลื่อนไหวของกายได้ทุกส่วน มีสติรับรู้คำพูดได้ทุกคำและหักห้ามอารมณ์ชั่วของจิตได้ ควรเรียกผู้นั้นว่าบรรพชิต ผู้มีสติกางกั้นความชั่วของกายวาจาและจิตของบุคคลผู้ใดเราเรียกผู้นั้นว่าผู้ประเสริฐคือพระ บุคคลผู้ประเสริฐด้วยโคตร ชาติ ตระกูลหามิได้ลักษณะของผู้ประเสริฐดังกล่าวมานี้
๔. ผู้ใดตรัสสังโยชน์ได้แล้วย่อมเป็นผู้ไม่สะดุ้ง เราเรียกผู้นั้นว่า ผู้ก้าวล่วงกิเลสเครื่องข้องได้ ผู้หลุดพ้นแล้ว ว่าผู้ประเสริฐ(ผู้รู้)
๕.พระศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลายชะเนาะคือเชือกนั้นเป็นแต่ภายนอก คนใดคนหนึ่งก็ตัดชะเนาะและเชือกนั้นได้ทั้งนั้นส่วนผู้ปฏิบัติตัดชะเนาะคือ ความโกรธ และเชือกคือ ตัณหา อันเป็นภพภายในได้เราเรียกว่าผู้ประเสริฐ(ผู้รู้) (รู้ด้วยสัญญาไม่รู้ด้วยปัญญาไม่ประเสริฐ)
๖.พระศาสดาตรัสว่า บุคคลฆ่าความโกรธ คือ มีสติระลึกถึงโทษของความโกรธเสมอได้แล้วจึงเป็นสุข ฆ่าความโกรธได้แล้วจึงไม่เศร้าโศก พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมสรรเสริญการฆ่าความโกรธ อันมีรากเป็นพิษมียอดหวาน เพราะบุคคลนั้นฆ่าความโกรธนั้นแล้วย่อมเป็นที่เสน่หาของคนทั่วไป
๗.ผู้ใดมีสติเข้าไปกำกับคำพูด กล่าวถ้อยคำอันไม่ระคายหูรู้กันได้เป็นคำจริง อันเป็นเหตุ ไม่ยังให้ใครๆขัดใจ เราตถาคตเรียกผู้นั้นว่าผู้ประเสริฐ (ผู้รู้ คำว่า ผู้รู้ท่านรู้จริง) เราตถาคตเรียกว่าผู้ไม่มีหวังในกามภพรูปภพ อรูปภพ ว่าผู้ประเสริฐ เพราะความปรารถนาในภพจะนำมาซึ่งความเศร้าโศก ผู้ไม่ปรารถนาในภพเป็นผู้มีธุลีไปปราศแล้ว คำที่ว่า ผู้ประเสริฐหรือผู้รู้นั่นรู้ด้วยตนเองไม่ใช่ว่าจำคนเล่า หรือจำตำรามารู้ หรือจำตำรามาพูด รู้เพียงแค่นี้ จะรู้จนจบพระไตรปิฎกก็ไม่ประเสริฐ เพราะกิเลสไม่หลุด บางทีอาจเพิ่มพูนให้มากอีก เราตถาคตเรียกผู้นั้นว่ารู้โดยสัญญา รู้ด้วยสัญญาอาจหลอกลวงโลกบางทีอาจทำบาปได้มากกว่าคนไม่รู้เสียอีก เพราะกิเลสตัวนำพามันยังนำหัวใจของเขาอยู่เสมอ อาจเอาวิชาเป็นเครื่องทำบาปก็ได้ แต่ผู้รู้ตัวตนเองคือผู้รู้ด้วยข้อปฏิบัติเข้าไปถึงนั้นเรียกว่า ผู้ประเสริฐเพราะกิเลสหมด
จะเล่าเรื่องผู้วิเศษกับพระพุทธเจ้าให้ฟัง พระศาสดาประทับอยู่ในเชตวัน มีศาสดาองค์หนึ่งนอกศาสนาพุทธ เรื่องเก่งแล้วศาสดาทั้งหมดในสมัยนั้น ทั้งหมดในโลกสู้เขาไม่ได้เหลือโคดมพุทธเจ้าจะมาแข่งขัน มีบรรดาบริวารเขามากติดตามมา ส่วนพุทธบริษัทก็มากันมาก พระศาสดาทรงทราบว่าชนเหล่านั้นมา จึงรับสั่งให้นำกะโหลกศีรษะมา ๕ ศีรษะ คือ ศีรษะทั้ง ๔ คือ ผู้เกิดในฐานะทั้ง ๔ คือ วิญญาณเข้าไปเกิดในนรก กำเนิดในสัตว์เดรัจฉาน ในมนุษย์โลก เท-วโลก และกะโหลกศีรษะพระขีณาสพ แล้วรับสั่งให้วางไว้ตามลำดับพอเวลาวังคีสะมาแล้ว จึงตรัสถามวังคีสะว่า ทราบว่าท่านเคาะกะโหลกศีรษะแล้ว รู้ที่เกิดของสัตว์ทั้งหลายที่ตายแล้วหรือวังคีสะวังคีสะตอบว่าจริงข้าพเจ้ารู้ได้ พระศาสดาถามว่านี้กะโหลกศีรษะของใคร เขาเคาะกะโหลกศีรษะนั้นแล้วตอบว่า ของสัตว์ผู้เกิดในนรก พระศาสดารับว่าถูก พระศาสดาตรัสถามกะโหลก ๒-๓-๔ เขาตอบถูกหมด พระศาสดารับว่าสาธุ จึงตรัสถามกะโหลกศีรษะที่ ๕ ว่าของใคร เขาเคาะกะโหลกนั้นแล้วว่าไม่รู้ที่เกิด พระศาสดาจึงตรัสต่อเขาว่าเรารู้ที่เกิด พระองค์รู้ได้อย่างไร พระองค์ตอบว่า รู้ด้วยมนต์ เขาขอให้พระองค์บอกมนต์ พระองค์บอกว่ามนต์เหล่านี้บอกไม่ได้ บวชแล้วจึงจะบอกได้ เขาก็ยอมบวชเรียนมนต์ต่อไป พระองค์ก็สอนมนต์ให้อย่างอาจารย์สอนให้แก่บรรดาผู้ปฏิบัตินั้นเอง เอวํ
พิมพ์คัดจากหนังสือฐิตวิริยาจารย์เทศนา รวมธรรมคำสอน ของ พระวิสุทธิญาณเถร
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
วัดเขาสุกิม ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี
เล่ม ๑(หน้าที่ ๔๑ – ๔๒)
วัตถุประสงค์ : พิมพ์ถวายเป็นธรรมทาน เพื่อมอบเป็นที่ระลึก แด่ผู้ร่วมสร้างเจดีย์ วัดเขาสุกิม
สงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติ