ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง

ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง

ร่วมกด Like แชร์ข้อมูล เจดีย์กำลังก่อสร้าง ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง


วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ตอบปัญหาธรรม แก่อุบาสกผู้สงสัย (ภาคที่สอง)

พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย
ตอบปัญหาธรรม แก่อุบาสกผู้สงสัย
(ภาคที่สอง)
๘  พฤศจิกายน ๒๕๐๘    ณ วัดเขาสุกิม

อุบาสกกราบเรียน       คำที่ว่าโลกุตตรฌานกับโลกียฌานต่างกันอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  โลกุตตรฌานจะทำให้ผู้ได้ผู้ถึงพ้นไปเสียจากโลก  จึงเรียกว่าโลกุตตรฌาน เท่ากันกับได้  โลกุตตรปัญญา หรือโลกุตตรธรรม  หรือหมายความว่าผู้ที่ได้โลกียฌาณ ไม่ได้ทำให้ผู้ได้ผู้ถึงพ้นไปเสียจากโลก  จึงเรียกว่าโลกียฌาน  ก็เท่ากับผู้ที่ได้โลกุตตรฌาน และผู้ที่ได้ โลกียฌานหรือโลกียธรรม ต่างกันอย่างนี้แหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       สมมุติว่าพวกฤๅษีที่เจริญฌานจนสำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตนฌานของฤๅษี ปัญญาเห็นปานนั้น และคุณธรรมที่ได้ถึงอย่างนี้จะเรียกว่าโลกุตตรปัญญา และโลกุตตรธรรมได้ไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ได้อุบาสก เพราะฌานของพวกฤๅษีเป็นเพียงโลกียฌาน ไม่ใช่โลกุตตรฌาน
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจว่าโลกุตตรฌานกับโลกียฌานเป็นอันเดียวกัน ยกตัวอย่าง เครื่องทรงของพระราชา เมื่อพระราชาทรงก็กลายเป็นเครื่องทรงของพระราชาไป เมื่อคนสามัญธรรมดานำมาใช้ก็กลายเป็นของคนสามัญธรรมดา เรื่องนี้ฉันใด ฌานก็เหมือนกันฉันนั้น กระผมเข้าใจอย่างนี้ ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  อาตมามีความเห็นว่าอย่างนี้ พระราชาองค์หนึ่งมีแก้วมณีโชติที่มีค่ามาก พระองค์ได้พระราชทานให้อำมาตย์ อำมาตย์ได้ให้คนสามัญธรรมดา คนสามัญธรรมดาได้มอบก้อนหินสวยๆ ก้อนหนึ่งให้แก่อำมาตย์เป็นเครื่องตอบแทน อำมาตย์ได้นำก้อนหิน    ก้อนนั้นไปถวายพระราชา อยากถามอุบาสกว่า แก้วมณีโชติดวงสว่างไสวและมีค่ามากที่ได้พระราชทานไปแล้วนั้นจะเปลี่ยนแปลงเป็นอื่นได้ไหม หรือยังมีสภาพคงที่เหมือนเดิม ส่วนก้อนหินที่นำไปถวายพระราชาจะกลายเป็นแก้วมณีโชติได้ไหม
อุบาสกกราบเรียน       เป็นไปไม่ได้ครับท่านอาจารย์ แก้วมณีโชติก็ต้องเป็นแก้วมณีโชติเช่นเดิม ส่วนก้อนหินสวยๆ ก้อนนั้นก็คือก้อนหินครับ
หลวงปู่ตอบ                  นี่แหละอุบาสก ของจริงย่อมเป็นของจริง ของปลอมย่อมเป็นของปลอมอยู่อย่างนั้น แก้วมณีโชติถึงแม้จะถูกยักย้ายเปลี่ยนแปลงไปตามเจ้าของสักกี่เจ้าก็ตามย่อมเป็น  แก้วมณีโชติที่สว่างไสวประภัสสรอยู่อย่างเดิม ส่วนก้อนหินที่นำไปถวายพระราชาจะให้กลายเป็นแก้วมณีโชติเป็นไปไม่ได้ เรื่องนี้ฉันใด โลกุตตรฌานกับโลกียฌาน เหมือนกันฉันนั้น

อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ  กระผมจะนำเหตุผลภายนอกมาเล่าเปรียบเทียบถวายให้ท่านอาจารย์ฟัง สมมุติว่ากระผมมีสร้อยทองคำเก่าอยู่เส้นหนึ่ง ใช้มานานมันยืดบู้บี้ไม่สวยงาม กระผมไปให้ช่างเขาทำให้ใหม่ จึงได้สร้อยทองคำที่สวยงามมาใช้ ฉันใดก็ดี โลกียฌาน เป็นของปุถุชน เมื่ออริยชนนำไปประกอบจึงกลายเป็นโลกุตตรฌานไป  กระผมมีความคิดเห็นอย่างนี้ ท่านอาจารย์ว่ากระผมเข้าใจถูกไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  สร้อยเดิมเป็นสร้อยทองคำอยู่แล้ว เมื่อนำไปประกอบให้ใหม่ จึงได้สร้อยทองคำกลับมา สมมุติว่า อาตมามีทองคำอยู่แท่งหนึ่ง ซึ่งอุบาสกเคยเห็นอาตมานำไปให้ช่าง เขาทำสร้อยให้ อาตมาได้สร้อยทองคำที่สวยงามมาประดับ อุบาสกเห็นเข้านึกชอบใจ และอุบาสกมีทองเหลืองอยู่ที่บ้านหนึ่งแท่ง อุบาสกได้นำไปให้ช่างเขาทำสร้อยให้ เสร็จแล้วอุบาสกนำมาเป็นเครื่องประดับตัว  มีเหตุผลที่จะอธิบายให้อุบาสกฟังอยู่สองสถาน สถานหนึ่ง นายช่างที่ทำทองจะเป็นช่างที่วิเศษสักเท่าไรก็ตาม ก็ไม่มีความสามารถพอที่จะทำทองเหลืองหรือทองอื่นๆ ให้เป็นสร้อยทองคำไปได้  อย่างอุบาสกนำทองเหลืองไปทำก็ได้สร้อยทองเหลืองกลับมา อาตมานำทองคำไปทำก็ได้ทองคำกลับมา  ส่วนฌานก็เช่นเดียวกันฉันนั้น หรือตัวอย่างนี้ อุบาสกปลูกต้นขนุน เมื่อมันออกลูกมาจะเป็นลูกทุเรียนได้ไหม
อุบาสกกราบเรียน       เป็นไปไม่ได้ครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  นี่แหละอุบาสก ผู้ดำเนินทางโลกุตตรฌาน ผลก็เป็นโลกุตตระ ผู้ทำเนินทางโลกียฌาน ผลก็เป็นโลกีย์   พระพุทธเจ้าของเรา พระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรที่ดำเนินโลกียฌานที่ฤๅษีสอนให้ก็ไม่เห็นได้รับผลเป็นโลกุตตระเลย  ได้เพียงแค่โลกียะเท่านั้นเองต่อเมื่อพระพุทธเจ้าทรงดำเนินในสายทางโลกุตตระ จึงรับผลเป็นโลกุตตระ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตรเมื่อได้รับคำแนะนำปฏิปทาสายทางโลกุตตระจากพระพุทธเจ้า  ทั้งสองท่านได้ดำเนินตาม จึงเป็นเหตุให้ได้รับโลกุตตรธรรมชั้นสูง ขอให้อุบาสกจงพิจารณาดูให้ดี ใช้โยนิโสมนสิการไตร่ตรองตามเหตุผลนี้จะได้ความว่าอย่างไร
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจแล้วครับท่านอาจารย์   กระผมอยากจะทราบวิธีดำเนินของฤๅษีที่เขาเจริญฌาน เขาทำอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  อาตมาได้ศึกษาและปฏิบัติน้อย เห็นว่าไม่ใช่ทางโลกุตตระเลยหยุด  จึงเป็นเหตุให้รู้น้อย จะอธิบายเท่าที่รู้เห็นดังต่อไปนี้ วิธีเจริญกสิณฌาน จุดประสงค์เบื้องต้นต้องการสร้างสติให้มีพลังสูงเหนือจิตใจ วิธีสร้างสติเขาทำกันอย่างนี้ คือเขานำดินสีขาว หรือสีแดงเขียนวงกลมแบบเลขศูนย์ติดฝากุฏิหรือต้นเสา หรือเขียนใส่ป้ายนำไปติดไว้ตรงที่ตนเองเห็นว่าเป็นที่เงียบสงัดจากฝูงคนพลุกพล่าน อิริยาบถใช้ประกอบเจริญกสิณฌาน สามอิริยาบถ คือ ยืน นั่ง นอน ตัวอย่างมีอย่างนี้ ถอยออกจากป้ายให้มองดูที่เลขศูนย์ ให้เห็นถนัดพอดี เมื่อรู้ว่าพอดีแล้วให้ลืมตามองดูอยู่อย่างนั้น ทำได้ทั้งสามอิริยาบถ ให้มีสติระลึกรู้อยู่เฉพาะวงกสิณ เมื่อเผลอสติจิตคิดไปต่ออารมณ์อื่น เมื่อมีสติระลึกรู้ ให้รีบกลับเข้ามารับรู้ที่ดวงกสิณทันที พยายามทำอยู่อย่างนี้เสมอๆ จนกว่าสติจะมีกำลังสูงกว่าจิต จนบังคับจิตให้รู้เฉพาะวงกสิณ ความระลึกรู้จนกลายเป็นชวนะจิตอยู่ในอำนาจของสติไม่นอกเหนืออำนาจของสติไปได้ เพราะคลื่นของสติมันถี่จนเป็นเหตุให้บังคับจิตรับรู้อยู่เฉพาะกสิณ เมื่อเห็นว่าสติต้อนจิตอยู่ในอำนาจของมันได้แล้ว ให้หลับตาลองดูจะปรากฏดวงกสิณเป็นนิมิตติดตาอยู่ไหม เมื่อปรากฏดวงกสิณติดตาอยู่ให้เพ่งหรือรับรู้ที่ดวงกสิณนั้น อย่าได้คิดไปในทางอื่นเลยเป็นอันขาด ต่อไปจิตกับสติเป็นอันเดียวกัน เขาเรียกว่า มรรคสมังคี  เมื่อทำความรู้อยู่เฉพาะดวงกสิณได้ก็เรียกว่า เอกัคคตารมณ์ คืออารมณ์เป็นอันเดียว เมื่อปรากฏดวงกสิณเด่นเป็นนิมิตอยู่เรียกว่าได้อุคคหนิมิต ต่อไปสั่งดวงกสิณให้ห่างออกไป ปรากฏว่าดวงกสิณลอยห่างออกไปจริงๆ สั่งให้เข้ามาปรากฏว่าดวงกสิณลอยเข้ามาใกล้จริงๆ เมื่อเป็นได้อย่างนี้ เรียกว่าสติมีพลังเหนือจิต หรือจะพูดว่าจิตกับสติสมังคีกันเต็มที่ก็ได้ ต่อไปจะลืมกาย เหมือนความรู้ทั้งหมดเข้าไปอยู่ที่ดวงกสิณแล้วสั่งดวงกสิณให้ขยายตัวออกให้กว้าง ปรากฏว่ากว้างออกจริงๆ จิตไม่งอแงคัดค้านกับสติตัวสั่ง  สติสั่งให้กสิณหดตัวเข้าให้เล็กเท่าเดิม ทำอยู่อย่างนี้จนชำนาญให้ไวที่สุดเท่าที่จะไวได้ ทำได้อย่างนี้เรียกว่า ผู้ได้ปฏิภาคนิมิตภายนอก ต่อจากนั้นไป หนึ่งให้               ๑.รับรู้เรื่องกาย...ให้กายเป็นดวงกสิณ  สั่งกายให้ใหญ่ให้เล็กให้ชำนาญเหมือนดวงกสิณ เรียกว่าผู้ได้ปฏิภาคนิมิตภายใน 
                                                ๒.สอง...ต่อจากนั้นไปปรากฏว่าเบา สั่งให้ลอยขึ้นปรากฏว่าลอยจริงๆ นี้เรียกว่าเจริญเพื่ออิทธิฤทธิ์ในทางกาย เป็นอันได้ความว่าฤทธิ์ที่หนึ่งก็สำเร็จขึ้น  เรียกว่าผู้ถึงรูปฌาน  รูปฌานของฤๅษีมีอย่างนี้  ส่วนรูปฌานอื่นๆ เขาทำดุจเดียวกันนี้ แต่เขาเจริญตามธาตุสี่  คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ  น้ำเพื่อดำดิน ลมเพื่อให้แรง สำหรับต่อสู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเป็นอันตรายแก่ตัว ไฟสำหรับเผาผลาญ ที่เขาเรียกว่าฤๅษีตาไฟมีอยู่อย่างนี้  รูปฌานสี่ของฤๅษีจบเพียงเท่านี้
                                                 วิธีเจริญฤทธิ์ในทางอรูปฌานคือ หมายถึงในทางจิตใจ ไม่ได้นำมาประกอบในทางกายเพื่อจะให้ ดำดินบินบนอะไรเลย เป็นฤทธิ์ในทางใจ วิธีทำเขามีอย่างนี้ คือ สมมุติคนที่ทำยากให้เพ่งอากาศ คือช่องว่าง หมายถึงความโปร่งโล่งบนอากาศ หรือบางทีเขาให้เพ่งบริกรรมว่าไม่มี ทั้งหมดจุดประสงค์จะไม่ให้จิตปรากฏว่ามีกายทับอยู่ เพราะต้องการจะนำจิตออกไปหารู้สิ่งต่างๆ  ตัวอย่างเช่น ตาทิพย์ หูทิพย์ ไม่ใช่ตาอิงประสาทตา หูอิงประสาทหูอย่างที่เราได้เห็นได้ยินอยู่ปัจจุบันนี้ แต่อาศัยจิตได้ยินได้เห็นเพราะนำจิตออกจากร่างไปดู จุดประสงค์ต้องการพยากรณ์สิ่งต่างๆ ให้ถูกต้องได้ จุดประสงค์มีเพียงเท่านี้ ตามจุดประสงค์ของความต้องการมีอยู่ ๔ อย่าง ๑.ลาภ  ๒.ยศ  ๓.สรรเสริญ  ๔.ความสุข  จุดประสงค์ของผู้เจริญกสิณฌานเท่าที่ดูมีเพียงเท่านี้ ลาภยศสรรเสริญ   เป็นเพียงสมบัติของโลก และเป็นความปรารถนาของคนในโลก อันความสุขนั้นเป็นเพียงกามสุข ไม่ใช่บรมสุข ขอให้คิดดูสิ่งที่ต้องการเพียงแค่อาหารของกิเลส หรือฤทธิ์อำนาจต่างๆ ในเมื่อผู้เจริญได้ในสมัยโน้นเขาจัดว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เขาจะนิมนต์หรือเป็นเจ้าพิธีต่างๆ เรียกว่าเป็นผู้มีเกียรติ เขานับถือว่าเป็นผู้เด่น ก็เรียกว่าผู้มียศ ลาภสักการะ ก็ย่อมเจริญมีแก่ท่าน ผู้ที่ยังไม่ได้ที่ยังไม่ถึงก็ดิ้นรนกันดูๆ ความต้องการและจุดประสงค์ ก็ควรเรียกว่า พิธีทางไสยศาสตร์ หรือศาสนาไสยศาสตร์ก็เรียก นี่แหละอุบาสกดูให้ดีๆ จุดเจตนาทุกอย่างเท่าที่อาตมาได้ดำเนินและได้ฟังเสียงหมู่คณะที่พูดกัน ฟังที่เจตนาคือความต้องการแล้ว ไม่เป็นไปเพื่อทำลายกิเลสตัณหาเลย ความต้องการทั้งหมดอาศัยกิเลสตัณหาให้ต้องการอยากได้อยากทำ เมื่อเขาทำไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาต้องการ เรียกว่าเริ่มทำหน้าที่ของกิเลสตัณหา จึงเรียกว่าผู้เป็นทาสของกิเลสตัณหา เมื่อปล่อยให้กิเลสตัณหาเป็นเจ้านายนำพาอย่างนี้ยังจะเรียกว่าโลกุตตระอยู่อีกหรือ อาตมาเชื่อมาอย่างนี้ว่าผู้มีเจตนาอย่างนี้จะไม่ได้รับปริญญาบัตรของพระพุทธเจ้าเลย ถึงแม้ผู้ดำเนินอยู่ในพระพุทธศาสนาของเราหากมีจุดเจตนาอย่างนี้ไม่มีทางที่จะได้รับปริญญาบัตรเหมือนกัน ถึงแม้จะได้ปริญญาบัตรคงได้ปริญญาบัตรของปุถุชน
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ กระผมจะไม่ยอมหลงเชื่อตามคนที่แนะนำทางที่หลงวกวนอยู่ในโลกอย่างนี้ให้แก่กระผมเป็นอันขาด และผมจะสมญานามของผู้นี้ว่าเป็นมหาโจรผู้ปล้นศาสนาเสียอีก  กระผมยังสงสัยที่ท่านอาจารย์ว่าปริญญาบัตรของพระพุทธเจ้านั้นคืออย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  คุณธรรมที่เรียกว่าโลกุตตรธรรมที่พระองค์จะยอมให้ปริญญาบัตรต้องอาศัยผู้ทำลายเชื้อของโลก หรือตัดบ่วงของมารขาด มีอยู่ทั้งหมดด้วยกัน ๑๐ บ่วง
อุบาสกกราบเรียน       คำที่ว่าบ่วงของมารหมายความว่าอย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  บ่วงของมารคือกิเลส เครื่องผูกใจสัตว์ให้ติดอยู่ในโลก พระพุทธองค์ทรงวางไว้  เป็นหลักปริญญาบัตร ได้แก่สังโยชน์๑๐ คือ หมายความว่าผู้ทำลายสังโยชน์๑๐นี้ได้  เป็นส่วน ๆ หมวด ๆ พระองค์ให้ปริญญาบัตรเป็นชั้นๆ ตามกำลังที่ทำได้ดังนี้ อาตมาจะตอบตามหลักเสียก่อน และจะนำมติของอาตมามาอธิบายเพิ่มเติมภายหลัง
                                         ๑. อนุปริญญาบัตร คือ ของพระโสดาบัน พระโสดาบันทำลายบ่วงของกิเลสมารขาดไปได้ ๓ เส้น คือ  ๑. สักกายทิฐิ  ๒. วิจิกิจฉา  ๓. สีลัพพัตตปรามาส
                                        ๒. ปริญญาตรี คือ พระสกิทาคา ละสังโยชน์ได้ ๓ เหมือนพระโสดาบัน แต่เพิ่ม กามราคะโทสะ ทำให้               บางลงได้
                                        ๓. ปริญญาโท คือ พระอนาคา ละสังโยชน์ได้ ๕ เพิ่ม คือ ทำลาย กามราคะกับปฏิฆะได้ขาด 
                                        ๔. ปริญญาเอก คือ พระอรหันต์ ท่านละสังโยชน์ได้หมดทั้ง ๑๐
                                                ความจริงแล้วอาตมาว่า 
                                                พระโสดาบันน่าจะทำให้โทสะหรือความประทุษร้ายให้ขาดไปเพราะพระโสดาบันไม่เคยปรากฏว่า               ก่อข้าศึกให้แก่ใครในโลก จึงสมกับคำที่ว่า อริยโสดา ส่วนกามราคะน่าจะเบาบาง
                                                 พระสกิทาคามี น่าจะทำลายกามราคะได้ขาด เหลือแต่รูปราคะขึ้นไป    
                                                พระอนาคามี ควรทำลายรูปราคะได้ขาด เหลือแต่อรูปราคะขึ้นไป
       พระอรหันต์ละได้หมด อันนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของอาตมาคนเดียว  ขอให้อุบาสกพิจารณาด้วยเหตุผลว่าจะจริงอย่างอาตมาว่าหรือไม่
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ทุกอย่าง กระผมไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะมาคัดค้านท่านอาจารย์ได้ ถ้าพูดตามความเป็นจริงแล้วพระโสดาบันผู้ได้รับอนุโลกุตตรปริญญาควรจะละในเรื่องโทสะ คือความประทุษร้าย เพราะเป็นอริยเจ้า แต่กระผมยังไม่เข้าใจจริงๆ ในคำที่ว่า พระอริยะเขาแปลกันว่าอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  คำที่ว่า อริยะ แปลกันว่าอย่างนี้  อริ  แปลว่า  ข้าศึก  ยะ  แปลว่า  ไปปราศ  รวมกันเข้าได้ความว่าไปปราศจากข้าศึก คือ ..ผู้ไม่มีข้าศึก.. มีความหมายแค่นี้แหละ
อุบาสกกราบเรียน       คำที่ว่า ข้าศึกในสมัยพุทธกาล ถืออะไรเป็นข้าศึกครับ
หลวงปู่ตอบ                  ข้าศึก หมายถึงกิเลส ตัวก่อกวน หมายความว่า ผู้มีกิเลสอยู่เหนืออำนาจจิตใจจะต้องนำพาให้ได้รับความเดือดร้อนทั้งตนเองและคนอื่น ตัวอย่าง สักกายทิฐิ ความถือตน ถือตัว ถือชาติ ถือโคตร ส่วนเขาส่วนเรา เหล่านี้เป็นต้น ประกอบเข้ากับโทสะ เป็นเหตุให้ก่อข้าศึกขึ้นในโลก เช่น เขาแย่งดี ชิงดีกัน เป็นเหตุให้อาฆาตมาดร้าย ให้ได้รับความทุกข์ทั้งตนเองและผู้อื่น นี้เรียกว่าผู้ก่อข้าศึก หรือจะพูดตามภาษาสมัยนี้เรียกว่าผู้ก่อศัตรู แต่ภาษาครั้งสมัยพุทธกาลเรียกว่า ผู้ก่อข้าศึก ตัวอย่างในบาลีบ่งชัดว่า สมณีธ อรณา โลเก สมณะไม่เป็นข้าศึกในโลก คำที่ว่าไม่เป็นข้าศึกเพราะท่านเป็นผู้สงบ คือสงบจากบาปกรรม เรียกว่า สมณะ  ด้วยเหตุนี้จึงว่าพระอริยเจ้าตั้งแต่พระโสดาบัน เป็นต้นไป เป็นผู้ไม่เป็นข้าศึก คือไม่ก่อข้าศึก  จึงสมควรทีเดียวจะจัดว่าพระโสดาบันจะต้องละโทสะ ความประทุษร้ายได้แน่นอน  ส่วนกามราคะนั้นเบาบางลง กิเลสเป็นเหตุนำพา คือ ตัวสักกายทิฐิและโทสะเป็นตัวข้าศึกร้ายที่สุดในโลก เมื่อพระโสดาบันยังมีโทสะอยู่ จึงเรียกว่า พระอริยเจ้าไม่ได้เลย
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจแล้วครับท่านอาจารย์  แต่กระผมอยากทราบว่าการเจริญโลกุตตรฌานมีผ่านอะไรก่อน หรือเข้าถึงฌานเลยครับ
หลวงปู่ตอบ                  ต้องผ่านสมาธิ ๓ อันดับ คือ  ๑. ขณิกสมาธิ  ๒. อุปจารสมาธิ  ๓. อัปปนาสมาธิ แล้วจึงถึงฌาน ๓ อย่างนี้ แหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ  วิธีเข้าสมาธิ ๓ อันดับมีวิธีดำเนินอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  ๑.  ฤๅษีดำเนินในทางสมถะ คือ อุบายวิธีให้เป็นไปเพื่อความสงบ ตัวอย่างผู้ที่ทำสมาธิง่าย ต้องอาศัยการกำหนดลมหายใจเข้าออกให้รับรู้อยู่เฉพาะลมหายใจเข้าออก หาทางบังคับจิตดุจเดียวกับพวกฤๅษีเพ่งกสิณ  ของเราไม่ใช่เพ่งเพียงรับรู้อยู่เฉยๆ และไม่ต้องแต่งลม ให้ปล่อยตามสภาพของลม  ขอให้ถือว่าลมเป็นเพียงนิมิตเครื่องหมาย เมื่อเห็นว่าสติมีพลังเหนือจิตแล้วจะได้นำสติเข้าไปแต่งจิตดูใจ    ตัวอย่างเบื้องต้นโน้น นี้เป็นวิธีเจริญสมถะ  แต่บางคนเมื่อจิตไม่อยู่ ฟุ้งซ่านรุนแรง ควรใช้คำบริกรรมเป็นเครื่องผูกด้วย จะบริกรรมว่า เกิด ตาย หรือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ อย่างนี้เรียกว่า บริกรรมภาวนา เพิ่มในองค์ของสมถะ
                                        ๒. วิธีเจริญวิปัสสนา เมื่อผู้ที่กำหนดลมหายใจเข้าออก หรือใช้คำบริกรรมเป็นเครื่องประกอบจิตยังไม่อยู่ ไม่เป็นไปเพื่อความสำเร็จได้ ก็ใช้อุบายกำหนดรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  อันเป็นเหตุที่จะให้จิตเกิดสังเวชได้ ตัวอย่างเช่น จิตมันฟุ้งซ่านไปในทางรักให้กำหนดถึงความไม่สวยงาม และสกปรก โสโครก ปฏิกูลน่าเกลียดมีอยู่ในตัวของเราและคนอื่น หรือจะกำหนดถึงคนตาย ให้จิตได้เห็นสภาพของคนตายที่มาจากคนเป็น เหล่านี้เป็นต้น ให้จิตเกิดสังเวช เมื่อจิตหมดความรุนแรงแล้วจะได้กำหนดได้อย่างสมถะ นี้เป็น วิปัสสนา
อุบาสกกราบเรียน       สมถะกับวิปัสสนาต่างกันตรงไหนครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ต่างกันตรงนี้ คือ ผู้กำหนดได้เลยเรียกว่า สมถะ  ผู้มีจิตอันรุนแรงกำหนดเลยไม่ได้ เป็นเหตุให้สร้างสติไม่ได้ จะต้องใช้อุบายภายนอกเป็นเครื่องบรรเทาความรุนแรงของจิตเสียก่อน จึงมากำหนดสร้างสติต่อภายหลัง เรียกว่า วิปัสสนา ทั้งสองวิธีนี้คือ สมถะ และวิปัสสนา ต่อไปก็เป็นอันเดียวกัน ผิดกันแต่เบื้องต้นเนื่องมาจากการทำง่าย และทำยาก  ต่อไปเมื่อสติสมบูรณ์แล้วจะปรากฏว่า สติเข้าไปจับรู้อยู่ที่จิต พอมองเห็นกิริยาของจิตแล้ว กำลังของสติที่สร้างได้จะเข้าไปจับมั่นอยู่ที่จิต จิตเป็นนิมิตเครื่องเกาะรอแต่งและตัดกระแสภพของจิตที่มันจะออกไปต่อภพ อย่างที่อธิบายมาแล้วแต่ก่อนโน้นเมื่อจิตออกไปต่อภพไม่ได้ เป็นเหตุที่จะหยั่งเข้าไปสู่สมาธิลำดับที่๑ จะปรากฏมีความเบาความอิ่ม เป็นเครื่องหมาย  พยายามอย่าให้จิตหลงเพลิดเพลินอยู่ในผลของสมาธิ หรือจะเป็นความรู้เห็นที่เกิดมาจากกำลังของสมาธิ  อันดับนี้พยายามตัดกระแสดุจในเบื้องต้น จิตจะจมลงสู่สมาธิ ลำดับที่ ๒ จะปรากฏเย็นในหน้าอกแล้วซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย นี้เป็นข้อสังเกต พยายามนำกำลังของสติเข้าไปบังคับจิต อย่าให้หลงใหลไปตามสิ่งที่รู้เห็น และผลของสมาธิดังกล่าวให้ทำดุจในหนหลัง จิตจะจมดิ่งลงไปสู่สมาธิลำดับที่ ๓  จะปรากฏความสว่างสีขาวๆ อยู่รอบด้านทั้งข้างหน้าและข้างหลัง จะรู้สึกสบายมาก จิตแจ่มใส อย่าให้จิตหลง ความรู้อื่นๆ มีมากอย่างที่จะล่อให้เราหลง พยายามบังคับไว้อย่าให้หลงไปตาม  เมื่อหลงให้เป็นไปตามสิ่งที่รู้เห็น อาจจะไปด้วยกำลังของกิเลสในสมาธิที่ท่านเรียกว่า วิปัสสนูอุปกิเลส ก็ได้ อาจจะเป็นอันตรายหรืออาจจะเป็นเหตุให้ล่าช้าต่อการเดินลำดับของสมาธิ  เลยจากนี้ไปก็เข้าถึงปฐมฌาน มีอย่างนี้แหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ สมาธิทั้ง ๓ ลำดับนี้ ต้องการอยากรู้เห็นสิ่งต่างๆ ตัวอย่างเช่นเห็นผี เห็นเทวดา ระลึกชาติหนหลัง พยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ พอที่จะมีทางทราบได้บ้างไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  พอจะทราบได้เหมือนกัน แต่มันเหมือนฝัน หรืออาจดีกว่าฝันก็ไม่มากกว่ากันเท่าไรนัก เช่น ตัวอย่าง ปรากฏว่า เข้าได้ ไปเห็นอันนั้นอันนี้ รูปทรงที่ไปเหมือนๆ ฝัน ตัวอย่าง เขาถามถึงคนป่วยว่าจะตาย หรือจะหาย ผู้พยากรณ์เข้าสมาธิกำหนดให้เห็นนิมิตเหมือนๆ ฝันไป ไปเห็นคนตาย หรือไปเห็นคนป่วยหาย ก็พยากรณ์ว่าตายหรือหายไปตามนิมิตที่เห็นนี้ หมายถึงผู้ที่ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ เมื่อผู้ถึงอัปปนาสมาธิแล้วจะปรากฏมีคนมาบอกให้ แต่บางทีอาจจะเป็นแบบฝันๆ ก็มี ในอันดับนี้มี ๒ อย่างคู่คี่กันอยู่  แต่ผู้ที่มุ่งหวังมรรคผลชั้นสูงไม่ควรเล่นเลยเป็นอันขาด เพราะเมื่อเล่นแล้วต้องหลงเล่นภายนอก สู้เล่นภายในไม่ได้ ภายนอกต้องติดแค่นี้ ภายในจะติดแค่ไหนอีก ขอให้เราตัดสินใจอย่างเดียวว่า ถ้าเล่นต้องจมแน่ อย่าหลงเล่นเป็นอันขาด
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ ความรู้เห็นในสมาธิมีเพียงเท่านี้หรือ หรือว่ายังมีอีกครับ นิมนต์อธิบายเป็นเค้า ๆ พอให้กระผมเข้าใจบ้างครับ
หลวงปู่ตอบ                  มีมาก  แต่ไม่แจ่มเหมือนอย่างอธิบายสู่กันฟังมานั่นแหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       สมมุติผู้เข้าถึงฌานจะแจ่มขนาดไหนครับ ตัวอย่างท่านผู้ระลึกชาติได้อย่างนี้ครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ถ้าถึงรูปฌานองค์ที่๑  ดูเหมือนคนบอกให้เข้าใจยังไม่แจ่มดีเท่าไรนัก ต่อๆ ไปมีภาพนิมิตเกิดขึ้น เมื่ออธิษฐานต้องการอยากจะรู้  น้อยมากตามแต่ลำดับของฌานหรือกำลังของปัญญา สมมุติอย่างนี้ เมื่อเราอธิษฐานแล้วจะปรากฏเห็นรูปต่างๆ มีช้าง หรือคน อย่างนี้เป็นต้น เรานึกได้ในใจว่าเราเคยเป็นช้าง เป็นคน ความเข้าใจชัดเจนไม่สงสัย แต่สำหรับจะรู้ละเอียดเข้าไปอีก หรือระลึกต่อไปอีกว่าอย่างไหนมีความสุข ความทุกข์ อย่างไรไปเป็นลำดับแล้วแต่กำลังของปัญญาของผู้นั้นว่ามีมากและน้อย แต่ไปถึงรูปฌานองค์ที่๔  อาจมีความรู้ผุดขึ้นมาทางใจเป็นครั้งคราว เมื่อก้าวเข้าไปถึงอรูปฌานจะปรากฏเหมือนเราจากบ้านของเราไปไกลสักเท่าไรก็ตาม เมื่อมีสติระลึกถึงสัญญาทางบ้านก็รู้ได้ชัดว่าบ้านของเราตั้งอยู่ตรงไหน มีอย่างไร  ความเป็นอยู่ในปัจจุบันชาติ ผู้มีคุณ ผู้ไม่มีคุณ ทุกอย่างละเอียดลออ แต่จะรู้น้อยหรือมากก็แล้วแต่กำลังของฌานและกำลังของสติปัญญาที่มีความสามารถระลึกหยั่งไปถึงได้  เพียงแค่อธิบายสู่ฟังเฉยๆ ไม่ได้สอนให้เล่นและไม่ได้ต้องการให้เล่น จุดประสงค์อยากจะให้เข้าไปถึงที่สุดแห่งภพ  คืออาสวักขยญาณ เพราะพ้นไปเสียจากทุกข์ เสวยบรมสุขที่ไม่มีทุกข์เจือปน นี้หมายถึง เจตสิกสุข เอกันตบรมสุข  อย่างนี้หมายถึงความสุขของพระอรหันต์ขีณาสพ  ผู้สิ้นไปจากกิเลสทั้งปวง
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจแล้วครับท่านอาจารย์ แต่กระผมอยากทราบว่าโลกุตตรฌานมีกี่อย่างครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  โลกุตตรฌานมี ๙ อย่าง อุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ว่ามี ๙ อย่างนั้นคืออะไรบ้างครับ
หลวงปู่ตอบ                  มีรูปฌาน๔  อรูปฌาน ๔  และ สัญญาเวทยิตนิโรธ ๑  รวมเป็น ๙
อุบาสกกราบเรียน       รูปฌาน ๔ มีสัญลักษณ์เครื่องหมายอย่างไรบ้างครับ
หลวงปู่ตอบ                  รูปฌาน มีวิตก วิจารณ์ เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายของปฐมฌาน 
                                        ปีติ สุข เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายของทุติยฌาน  
                                        เอกัคคตาเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายของตติยฌาน
                                        อุเบกขา เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายของจตุตถฌาน อย่างนี้แหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       อรูปฌาน ๔ มีสัญลักษณ์เครื่องหมายอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  อรูปฌาน ๔ มีความว่องไวของจิต และความรู้ไวเหมือนลม แต่สมัยนี้เรียกว่าอากาศ เลยนำฌานของฤๅษีมาเรียกว่า อากาสานัญจายตนฌาน  บางท่านยังเขียนว่าการเข้าฌานที่๑ ของอรูปฌานให้บริกรรมว่าอากาศๆ อย่างนี้ก็มี แท้ที่จริงไม่ถูก ความจริงเป็นฌานของฤๅษี อาจไปจับคำที่พระพุทธองค์ปรารภถึงเรื่องที่พระองค์เจริญฌานของฤๅษีเลยเข้าใจว่าโลกุตตรฌานเป็นอย่างนั้น มันไม่ถูก แท้ที่จริงอรูปฌานองค์ที่๑ หมายถึงความว่องไวของจิตและสติปัญญาสมังคีเป็นอันเดียวกัน อย่างที่อธิบายมาแต่ก่อนโน้น สิ่งที่ไม่ควรมีปฏิภาณไหวพริบไวมาก ท่านหมายอย่างนี้ต่างหาก  ความไวเหมือนลมเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายของอรูปฌานองค์ที่ ๑ อย่างนี้จึงถูก และอีกอย่างหนึ่งผู้ที่เข้าถึงอรูปฌานองค์ที่๑ จะมีความรู้สึกอย่างนี้ สมมุติในโลกย่อมเปลี่ยนแปลงยักย้ายเจ้าของไม่มีที่สิ้นสุด ยกตัวอย่าง อสังหาริมทรัพย์ มี นาและสวน เป็นต้น เมื่อเราอยู่ปกครองย่อมเป็นสมบัติของเรา เราตายไปแล้วก็ตกไปเป็นสมบัติของคนอื่นมีลูกหลาน เป็นต้น เมื่อลูกหรือหลานตายไปจะตกไปเป็นสมบัติของลูกเขาหรือคนอื่นๆ ไปไม่มีที่สิ้นสุด จะยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง เช่น มีศาลาสาธารณะซึ่งเขาจัดขึ้นสำหรับพวกพ่อค้าและคนสัญจรไปมาพักแรมอาศัย พอตื่นขึ้นมาก็ไป แล้วก็มีคนใหม่มาพักอีก ไม่มีใครเป็นเจ้าของแน่นอน เพียงแต่มาพักชั่วคราวแล้วก็ไป เรื่องนี้ฉันใดทรัพย์ทั้งหลายในโลกอันที่จะเป็นของมั่นคงอย่างอธิบายมานี้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของแน่นอนฉันนั้น  ผู้ที่เขาไปถึงอรูปฌานองค์ที่ ๑ ก็มองเห็นการครองสมบัติของคนทั้งหลายที่ครองกันอยู่ไม่แน่นอน และเห็นสมบัติเหล่านั้นเหมือนกันกับคนเห็นศาลาสาธารณะที่ว่างจากเจ้าของฉันนั้น  คำที่พระพุทธองค์ว่า ความว่างเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมาย คงจะหมายความรู้เห็นอย่างนี้อีกประการหนึ่งอาจเป็นได้
                                         อรูปฌานองค์ที่ ๒  ความรู้ไม่อิงประสาท ไม่อิงสมอง รู้ขึ้นจากจิตโดยตรง ท่านจึงเรียกว่า วิญญาณัญจายตนฌาณ
                                        อรูปฌานองค์ที่๓  คำเดิมจะว่าอย่างนั้นก็ไม่ใช่ เพราะเป็นความรู้ที่ซึ้งและละเอียดกว่า  เรื่องของจิตเปลี่ยนอันดับมีความรู้ซึ้งและรู้ละเอียดเพิ่มขึ้นเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายของอรูปฌานองค์ที่๓ เรียกว่า อากิญจัญญายตนฌาณ
                                         อรูปฌานองค์ที่๔  เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ จะเป็นผู้มีสัญญาก็มิใช่ หาสัญญามิได้ก็มิใช่  ความจริงน่าจะหมายความว่า ผู้เข้าถึงอรูปฌานองค์ที่๔ ปัญญาที่หยั่งรู้ เรียกว่า ปัญญาญาณ ไม่เหมือนคนธรรมดา ตามธรรมดาความรู้คนเราจะต้องอิงสัญญารู้ทางอดีตก็ต้องอาศัยสัญญาที่เป็นไปในทางอดีต เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องกำหนดรู้ รู้ในส่วนอนาคต ต้องอาศัยสัญญาที่เป็นไปในทางอนาคต เป็นสิ่งที่ปัญญาและจิตจะต้องกำหนดรู้ สัญญาทั้งหลายเหล่านี้จะเกิดขึ้นมาได้ต้องอาศัยสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินมาก่อน แต่อรูปฌานองค์ที่๔ นี้ไม่ได้รู้ด้วยสัญญาและไม่ได้กำหนดตามสัญญา รู้ขึ้นมาเอง จึงเรียกว่า ปัญญาญาณ ความรู้ชนิดนี้แหละเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายของอรูปฌานองค์ที่๔
อุบาสกถกราบเรียน     สัญญาเวทยิตนิโรธ หมายความว่าอย่างไรครับ สัญญาแปลว่าความจำ เวทะหมายถึง เวทนา นิโรธแปลว่าดับหรือหมด  สัญญาเวทยิตนิโรธหมายความว่า สัญญาก็ไม่มี เวทนา คือความสุข ความทุกข์ก็ไม่มี อย่างนี้ใช่ไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ใช่อย่างนั้น ผลขอสมาธิเป็นสิ่งที่บำบัดทุกข์บำรุงให้มีความสุข เมื่อได้ความสุขแล้วเป็นเหตุให้นำความสุขไปเทียบกับความทุกข์ จึงเป็นเหตุให้กลัวความทุกข์ยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างคนที่อยู่ห่างตัวจังหวัดหรืออยู่ในที่ไม่ปลอดภัย  เมื่อมีทรัพย์แล้วก็กลัวโจรจะมาขโมย เมื่อขโมยไปแล้วกลัวจน กลัวหิว ความคิดก็มีอยู่อย่างนี้ ความคิดอย่างนี้เรียกว่าสัญญาไปเกาะเวทนา  ต่อเมื่อเขาได้ที่พักดี ปลอดภัย แน่ใจแล้ว สัญญาที่นึกว่าทรัพย์ของเราจะเป็นอันตรายแก่โจรนั้นหมดไป ฉันใดคุณธรรมที่ได้แล้วก็นึกกลัวว่าจะตกไป จะไม่มีเครื่องเป็นอยู่  จะเป็นเหตุไม่ให้สบาย คือจะมีทุกข์ ความคิดมีอยู่อย่างนี้ทุกคน  แต่เมื่อมาถึงอันดับนี้แล้วจะไม่มีสัญญาสอดคิดไปถึงทุกขเวทนาจะเข้าถึงตัวได้เพราะแน่ใจว่าสติปัญญากับจิตสมังคีเป็นอันเดียวกัน เป็นจิตที่รู้ จึงเรียกว่าพุทโธ แปลว่าผู้รู้ คือรู้ดี รู้ผิด รู้ถูก  สิ่งที่สุขรู้ว่าสุข สิ่งที่ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ ไม่ได้นำเรื่องของความสุขมาเป็นเรื่องของความทุกข์ ไม่ได้นำเรื่องของความทุกข์มาเป็นเรื่องความสุข อันนี้กิเลส อันนี้ตัณหา กิเลสรู้ว่ากิเลส ตัณหารู้ว่าตัณหา อันนี้ภพของจิตก็รู้ว่าเป็นภพของจิต จึงจะเรียกว่าโลกวิทู ผู้รู้แจ้งโลก รู้จนไม่ติดโลก เพราะมองเห็นสภาพของโลกและความเป็นอยู่ของโลกไม่แน่นอน จึงเรียกว่าโลกุตตร ผู้พ้นไปเสียจากโลก ความแน่ใจอย่างนี้จึงเรียกว่าสัญญาเวทยิตนิโรธ คือผู้ไม่มีสัญญาไปเกาะแล้ว เมื่อหมดสัญญาอย่างนี้จึงจัดว่าเป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายของสัญญาเวทยิตนิโรธ
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจดีแล้วครับ ความจริงกสิณฌานของฤๅษีน่าจะเป็นโลกุตตรฌานได้นะครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  เป็นไปไม่ได้ เพราะทำภายนอก เพ่งภายนอก ประกอบนอก ไม่ได้มุ่งชำระจิตให้ปราศจากกิเลสเลย  ถ้าการดำเนินกสิณฌานเป็นไปเพื่อโลกุตตรฌานแล้ว นักจิตวิทยาก็ต้องได้โลกุตตรธรรม หรือโลกุตตรปัญญาเหมือนกัน เพราะสร้างอำนาจจิตเหมือนกันอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       วิธีดำเนินแบบจิตวิทยา การกระทำเหมือนกับฤๅษีไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  วิธีทำเหมือนกันเป็นบางอย่าง ผิดกันเป็นบางอย่าง แต่เจตนาเหมือนกัน
อุบาสกกราบเรียน       วิธีทำผิดกันตรงไหน และเหมือนกันตรงไหนบ้างครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  เหมือนกันตรงที่เพ่งวัตถุภายนอก และต้องการให้สติมีพลังเหนือจิต  สติบังคับจิตให้  ได้ตามปรารถนา   แต่วิธีทดลองผลงานผิดกัน นักจิตวิทยาทดลองกับสัตว์ภายนอกบ้าง คนบ้าง  แต่ฤๅษีทดลองกับตนเอง  นักจิตวิทยาทำยากกว่าฤๅษี เพราะนักจิตวิทยาจะต้องรู้จักความพอดีของจิต ส่วนฤๅษีใช้แต่แรง เข้าใจว่าเป็นของง่าย แต่ทั้งสองวิธีต้องการให้จิตมีอำนาจแล้วอาศัยกำลังของสติไปบวกกับจิตเหมือนกัน  มีอย่างนี้แหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       ทางโลกุตตระมีอย่างไรบ้างครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  เหมือนกัน ต้องการสร้างให้สติมีพลังเหนือจิต แต่ลำบากกว่าเพราะความสมบูรณ์มากกว่ากัน ยกตัวอย่างจะต้องใช้สติระลึกรู้อยู่รอบตัว เรียกว่ากายคตาสติ หรือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เหล่านี้ เช่น เราจะไม่นั่งให้เป็นไปโดยธรรมชาติ ให้มีสติระลึกรู้อยู่เต็มประตูเสียก่อน และรู้จักรักษาตัวด้วย  หญิง ชายควรนั่งอย่างไร พระเณรควรนั่งอย่างไร ปทัฏฐานของการนั่งต้องรู้ว่าเรียบร้อยท่าไหน จะต้องนึกถึงท่าทางก่อนจึงจะนั่งได้  จะพูดออกมาคำหนึ่งก็เหมือนกัน จะต้องนึกเสียก่อนว่า เพศ วัย ฐานะ พูดให้พอดีกับเพศ วัย ฐานะ และยังมีธรรมกำกับเป็นปทัฏฐานอีกด้วย ๔ บท คือ ปิยวาจา คำพูดที่อ่อนหวาน  สุภาษิตวาจา พูดให้เป็นประโยชน์  สัมมาวาจา พูดชอบด้วยเหตุผล      สัจจวาจา พูดตามความเป็นจริงไม่โกหก  วาจา ๔ อย่างนี้ เป็นเครื่องกำกับที่จะต้องมีสติระลึกรู้ เวลานอนต้องนอนในสถานที่สมควรตามเพศ วัย ฐานะ และนอนตะแคงขวาอีกด้วย อย่าว่าแต่เพียงภายนอกเท่านี้ยังจะต้องนำเข้าไปบังคับจิตอีกด้วย เพราะจุดประสงค์ต้องการเพื่อจะปฏิวัติธรรมชาติ หมายความว่า อาการของกายเราเคยปล่อยตามธรรมชาติมามากต่อมากแล้ว วาจาก็เคยพูดตามแบบธรรมชาติธรรมดามามากต่อมากแล้ว จิตที่คิดนึกเหมือนกันนึกไปโดยธรรมชาติทุกอาการ ทางกาย วาจา และจิต เราเคยปล่อยโดยธรรมชาติมาเท่าไรแล้ว ถึงแม้จะมีสติกำกับบ้างก็น้อยเต็มที ทีนี้เราจะไม่ยอมให้อาการทั้งหมดเป็นไปตามธรรมชาติเลย  ทุกกิริยาอาการต้องมีสติระลึกล่วงหน้าก่อนว่า เราทำอย่างนี้จะประกอบด้วยโทษหรือคุณ เราพูดอย่างนี้จะมีโทษหรือคุณ เหล่านี้จะต้องมีสติกำกับทั้งหมด เมื่ออาการภายนอกสมบูรณ์ดีแล้วก็เข้าไปแต่งจิต เราต้องใช้สติเข้าไปบังคับจิต ผลที่สุดสติปัญญาเข้าไปบวกหรือรวมกับจิตจึงกลายเป็นจิตที่รู้ หรือจิตที่มีพลัง วิธีของพวกเรามีจุดประสงค์จะทำลายภพของจิตหรือทำลายกิเลสตัณหา หรือปรับปรุงธรรมชาติ จึงยากอย่างนี้ แต่ฤๅษีและนักจิตวิทยาเมื่อจิตทั้งสองข้างมีพลัง เพราะอาศัยสติบวกจิตด้วยแล้วก็สั่งการอันเป็นไปภายนอก มันทำง่าย ผลที่ได้รับเป็นอามิสเหมือนกัน อย่างที่ว่ามาแล้ว คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุข อันเป็นกามสุข แต่ส่วนโลกุตตรจะได้บรมสุขปราศจากอามิสและกาม หลุดพ้นไปจากกิเลสก่อกวน  ไฟภายในดับสนิท เย็นสบาย มีชีวิตอยู่ก็สบาย เพราะไม่มีกิเลสตัณหาเหตุนำพาให้เกิดทุกข์ เมื่ออวสานแห่งชีวิตย่อมเข้าถึงนิพพานอันเป็นบรมสุข
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ พวกฤๅษีและนักจิตวิทยาซึ่งเป็นผู้ดำเนินในทางโลกียปัญญา  แต่เราดำเนินทางโลกุตตระ ผิดกันอยู่ตรงไหนครับ
หลวงปู่ตอบ                  ผิดกันอยู่สองสถาน คือ ๑.พวกฤๅษีและนักจิตวิทยาเป็นผู้ประกอบข้างนอก  ๒. ต้องการโลกียสมบัติเป็นสิ่งตอบแทน สำหรับของพวกเราประกอบเป็นส่วนภายใน และจุดประสงค์ต้องการจะพ้นไปเสียจากโลก จึงได้หาวิธีทำลายภพของจิตและทำลายเชื้อของภพ ได้แก่ กิเลสตัณหาอันเป็นตัวนำพาให้ข้องอยู่ในโลก หรือเป็นยางเหนียวที่ดึงดูดจิตให้ติดอยู่กับโลก ผลตอบแทนคือโลกุตตรสมบัติ ต่างกันอย่างที่อาตมาว่ามาแล้วนั่นแหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ คำที่ว่านิโรธ แปลว่าดับนั้นคืออย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  คำที่ว่านิโรธแปลว่าความดับนั้น  คือไฟหรือดับไฟ  ได้แก่เพลิงทุกข์ เพลิงกิเลส ซึ่งเป็นความร้อนที่ทำให้วุ่นวาย
อุบาสกกราบเรียน       เมื่อดับไปแล้วจะเป็นอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  เมื่อดับไปแล้วความร้อนก็หมด มีแต่ความเย็นกายสบายจิตเป็นผู้ที่ไม่มีสิ่งนำพาให้เกิดทุกข์ให้แก่ตนเอง และคนอื่น  มีแต่จะนำความสุขมาสู่ตนเองและคนอื่น
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ ครูบาอาจารย์บางท่านบางองค์ท่านบอกว่าฌานแปลว่า การเพ่ง ใช่ไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  อุบาสกคงจำไม่ลืม การเจริญฌานของฤๅษีนั้นคือการเพ่ง เขาเจริญฌานเลย  แต่มาทางโลกุตตรของพวกเราต้องเข้าสมาธิ ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม แล้วจึงจะถึงฌาน ทางพระพุทธศาสนาของพวกเราจึงนิยมพูดว่าฌาน แปลว่า ความเข้าถึง  และความสำเร็จ พวกฤๅษีเขาสมมุติฌานของเขาว่า การเพ่ง
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ อาจารย์สอนว่า ฌานคือ การเพ่ง คงจะไปหลงตำราฤๅษี และหลงเจริญฌานของพวกฤๅษีแน่นอนครับ ผมเข้าใจอย่างนี้ จริงเท็จประการใดครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ดูเหมือนจะอย่างนั้น เพราะเวลานี้ศาสนาล่วงเลยมาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว ในระยะที่ผ่านมาใครจะนำอะไรมาใส่บ้างก็ไม่รู้ เรื่องคนที่อาศัยกิเลสและความโง่นำพา ไม่มองเห็นคุณของพระศาสนา จึงนำสิ่งที่มัวหมองมาปะปนเข้า ตัวอย่างสมัยปัจจุบันเรามองเห็นอยู่ชัดๆ การบำเพ็ญกุศลแทบทุกแห่งไปจะต้องนำเครื่องรางของขลังมาแจกกัน บางแห่งถึงกับจัดพิธีขึ้นในวัดเสียอีก โบสถ์เป็นที่ทำสังฆกรรม มีอุโบสถกรรม ตลอดจนถึงนำ คนเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ สามเณร ให้มีสังวาสเสมอด้วยพระภิกษุสามเณร เหล่านี้เป็นต้น ไม่น่าจะนำพิธีภายนอกศาสนามาประกอบให้มัวหมอง ตัวอย่าง พิธีปลุกเสกเครื่องรางของขลังเหล่านี้เป็นต้น ขอให้อุบาสกไปดูจะได้เห็นเช่นนี้แล้วอุบาสกจะมีความรู้สึกอย่างไรบ้าง
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ ความเป็นมาของศาสนาไสยศาสตร์นี้มีความเป็นมาอย่างไร และเพื่ออะไร กระผมไม่เข้าใจครับ
หลวงปู่ตอบ                  ศาสนาไสยศาสตร์เกิดขึ้นมาได้เพราะความกลัว ตัวอย่าง การสู้รบ สงคราม คนเมื่อเข้าสงครามไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีแต่เรื่องกลัว ไม่กล้าหาญ เมื่อได้เครื่องรางของขลังและวิชาอาคม ทำให้เกิดความอบอุ่นและกล้าหาญและอื่นๆ อีกหลายอย่าง เช่น กลัวอสุนิบาต ฟ้าผ่า ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และกลัวทุกข์ มีการเจ็บป่วย เขาเข้าใจว่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์นำพาให้เป็นไปเหล่านี้เป็นต้น และอื่นๆ อีกมากมาย สรุปแล้วได้ความว่า ศาสนาไสยศาสตร์เกิดขึ้นมาได้เพราะความกลัว และความทุกข์ เพราะว่ามีความกลัวแล้วก็ต้องมีทุกข์ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุให้ครูบาอาจารย์ในสมัยนั้นค้นคิดหาสิ่งป้องกัน และหาวิธีทำให้อบอุ่น เพราะมีสิ่งยึดเหนี่ยวมิให้กลัวจนสำเร็จขึ้น จึงให้นามว่าศาสนาไสยศาสตร์ ”  หรือศาสนาพราหมณ์ก็เรียก โดยจุดประสงค์ต้องการจะให้คนพ้นไปเสียจากความทุกข์ แต่ขอให้อุบาสกคิดเองมันจะนำให้คนพ้นทุกข์ได้จริงไหม สำหรับพระพุทธองค์คงไม่มองเห็นว่าหมดทุกข์ได้จริง เป็นเพียงระงับทุกข์ชั่วคราว เมื่อพวกเราพิสูจน์ตามความเป็นจริงแล้วก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะมานึกถึงสาเหตุของความทุกข์ ได้แก่กิเลสตัณหา เมื่อมาพิจารณาตามทางไสยศาสตร์แล้ว ไม่เห็นทางที่กิเลสตัณหาจะหลุดไปได้ หรือบางทีอาจเพิ่มให้กิเลสมากขึ้นก็ได้ หรืออาจจะสร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองและคนอื่นอย่างที่พวกเราเคยได้เห็นเคยได้ยินมาแล้ว เมื่อเป็นอย่างนั้นการประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอริยสงฆ์ จึงได้ทำการปฏิวัติ หรือสอดแทรกสัจธรรมของจริงแข่งขันกับศาสนาเหล่านั้น จนเป็นเหตุให้เจ้าลัทธินิยมเหล่านั้นเลิกจากศาสนาเดิมเข้ามานับถือลัทธินิยมทางพุทธศาสนาเป็นส่วนมาก ตัวอย่างชฎิลสามพี่น้อง และพราหมณ์พาวรี ฤๅษี และวัคคีย์พราหมณ์ ตลอดเบญจวัคคีย์ฤๅษี เหล่านี้เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาเด่นเป็นเอก เนื่องจากพระพุทธองค์ทรมานเจ้าลัทธินิยมทั้งหลายเหล่านี้ให้ทิ้งพิธีไสยศาสตร์มีการบูชาไฟ บูชายัญ อันเป็นพิธีพิลึกทั้งหลายเหล่านั้น แต่แล้วตอนสุดท้ายที่จะอวสานแห่งศาสนา กรรมมันช่างสนองกรรม สาเหตุแห่งความล้มเหลวของพระพุทธศาสนาคงจะเนื่องมาจากพิธีอันพิลึกพิลั่นมันแก้มือ เมื่อพุทธบริษัทเข้าใจกันว่าพิธีนี้เป็นศัตรูต่อพระพุทธศาสนา พวกเราจงช่วยกันป้องกันอย่าให้ศัตรูดังกล่าวนี้เข้ามาย่ำยีศาสนา ของเราได้ ก็เท่ากับว่าเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนถาวรต่อไป
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ กระผมเพิ่งเข้าใจศัตรูของพระศาสนาคราวนี้เอง แต่กระผมแปลกใจว่าครูบาอาจารย์ท่านจะไม่เข้าใจศัตรูของพระศาสนาหรืออย่างไร จึงไปนำสิ่งที่เป็นศัตรูต่อพระศาสนาเข้ามาฝากไว้กับพระศาสนา ตัวอย่างการแจกเครื่องรางของขลัง และพิธีพิลึกต่างๆ เหล่านี้
หลวงปู่ตอบ                  คงเป็นเพราะเขาไม่มองถึงผลเสียหายจะเกิดขึ้นแก่พระศาสนา เขาเห็นแต่ผลประโยชน์ใกล้ๆ ซึ่งไม่มองด้วยปัญญาญาณ จึงเป็นเหตุไม่ให้มองเห็นโทษที่จะเกิดขึ้นแก่พระศาสนา มองเห็นแต่คุณเพียงเล็กน้อยที่เป็นสิ่งตอบแทน อย่าว่าแต่เพียงเท่านี้เลย ถ้ายังจะยอมให้กิเลสนำพาอยู่จะไปกันยิ่งกว่านี้ คนที่มีกิเลสและยอมให้กิเลสตัณหาเป็นหัวหน้านำพาแล้วจะมองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน คิดดูแต่พระศาสนาที่เป็นมรดกส่วนกลางที่มีคุณค่ามหาศาลยังมองไม่เห็น ด้วยเหตุนี้คนจึงนิยมพูดกันตัณหาตามืด เพราะความอยากอันเนื่องมาจากตัณหา ไม่ว่าพระหรือฆราวาส ใครๆ ทั้งหมดเมื่อยอมให้กิเลสตัณหามันนำพาแล้วเป็นไปรูปนี้ทั้งนั้น ความจริงแล้วการทำเครื่องรางของขลังไม่น่าจะนำเข้ามาในวงศ์ศาสนาพุทธเลย เพราะไม่ถูกจุดประสงค์ของพระพุทธเจ้า และเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตำหนิไว้ และได้แนะนำให้เจ้าลัทธินิยมเหล่านั้นที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้ทิ้งพิธีที่ไม่เป็นสาระเหล่านี้เสียอีก เมื่อใครนำเข้ามาสู่วงศ์ทางพระพุทธศาสนาแล้วจะทำให้ศาสนามัวหมอง เมื่อคนที่จะมาศึกษาภายหลังเป็นเหตุให้จับของจริงไม่ถูก อันนี้เนื่องมาจากกิเลสมันแก้มือเป็นครั้งที่สอง กล่าวคือ ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่สอนให้ชำระกิเลส ผู้เป็นพระบรมครูเป็นผู้ชำระกิเลสให้หมดจดจากพระหฤทัยของพระองค์แล้ว จึงได้ทรงสอนให้สาวก สาวิกา ทั้งหลายชำระกิเลสเหมือนอย่างพระองค์ แต่แล้วทำไมกิเลสมันช่างแก้มือได้ เท่าที่เราฟังมาทั้งหมดจะได้ความว่าอย่างไร พระก็ดี ฆราวาสก็ดีที่เป็นมหาโจรผู้ปล้นพระศาสนา ด้วยเหตุเนื่องมาจากกิเลสนำพา เพราะเหตุนั้นอุบาสกจงระวังตัว อย่าประพฤติเยี่ยงโจรปล้นพระศาสนาเป็นอันขาด
อุบาสกกราบเรียน       ครับ กระผมจะไม่ยอมประพฤติเยี่ยงโจรผู้ปล้นพระศาสนาเป็นอันขาด และกระผม จะไม่ยอมร่วมมือกับผู้ชักชวนกระผมไปในทางที่สร้างความมัวหมองแก่พระศาสนา กระผมจะถือว่าเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของพระพุทธศาสนา แม้แต่จะนำเครื่องรางของขลังเหล่านั้นมาแจกให้กระผมเปล่าๆ กระผมจะไม่รับเลย จะทำให้กระผมดีไปไม่ได้ กระผมถือว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ของเหล่านั้นจะทำให้ผมดีไปไม่ได้ ดีชั่วอยู่ที่ความประพฤติของกระผมเท่านั้น เมื่อพระศาสนามีสิ่งมาแอบแฝงมากๆ อย่างนี้จะทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าของจริงของเทียมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  คำที่ว่า จริง-เทียม จะหมายอะไรกันแน่
อุบาสกกราบเรียน       หมายสองอย่าง คือ ๑. อาจารย์ที่แท้จริงตามเหตุผลทางพุทธศาสนา  ๒. เหตุผลที่จริงที่แท้ถูกตามเหตุผลทางพระพุทธศาสนา  เมื่อกระผมได้ของจริงเป็นเบื้องต้นแล้ว กระผมเชื่อแน่ว่าผลที่ได้รับต้องดีตามๆ กัน ตัวอย่างที่ท่านอาจารย์ได้เคยเล่าถึงเรื่องทองคำกับทองเหลืองที่นำไปให้ช่างทำเป็นเครื่องประดับ ผู้ที่นำทองเหลืองไปทำก็ได้เครื่องทองเหลืองกลับมา ส่วนผู้ที่นำทองคำไปทำเครื่องประดับนั้นก็ได้เครื่องประดับทองคำกลับมา หรือปลูกขนุนลงไป ผลที่ได้รับคือลูกขนุนฉันนั้น ท่านอาจารย์สอนกระผมแล้วจำได้ไม่ลืม ขอให้ท่านอาจารย์กรุณาแนะนำของจริงสองอย่างนี้ให้กระผมด้วยครับ
หลวงปู่ตอบ                  อุบาสกต้องการของจริงสองอย่าง คือ ๑. อาจารย์ในพระพุทธศาสนา ๒. เหตุผลที่ถูกต้องตามเหตุผลทางพระพุทธศาสนา อาตมาจะขออธิบายอย่างนี้ คือว่ากันตามหลักฐานที่แท้จริงแล้ว พระพุทธศาสนามุ่งสอนให้คนชำระจิตใจให้สะอาดปราศจากมลทิน คืออาสวกิเลสตัณหา จุดมุ่งประสงค์มีอยู่อย่างนี้ อาจารย์ที่คุณจะยึดเป็นครูบาอาจารย์ของคุณนั้นดูเหมือนพอที่จะคัดเลือกได้ตามนัยเหตุผลที่อธิบายมานี้ ส่วนธรรมะเล่า ธรรมะหมวดใดอยู่ในคัมภีร์ก็ดี หรือครูบาอาจารย์ที่สอนให้ก็ดี  หากเป็นไปเพื่อประกอบกิเลสก็ไม่ถูกตามเหตุผลทางพระพุทธศาสนา ธรรมะหมวดใดที่มีอยู่ในคัมภีร์ก็ดี หรือครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนให้ก็ดี เป็นอุบายวิธีชำระจิตให้สะอาด ปราศจาก อาสวกิเลสตัณหา ธรรมะหมวดนั้นชอบในพระพุทธศาสนา  มีอยู่เพียงเท่านี้แหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจแล้วครับท่านอาจารย์ ตัวอย่างการเพ่ง อสุภ ๑๐ ตั้งแต่คนตายใหม่ๆ เป็นต้นไปจนถึงกระดูกเรี่ยราย การเพ่งอย่างนี้จะชอบในเหตุผลทางพระพุทธศาสนาไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  จะว่าชอบก็ถูก จะว่าไม่ชอบก็ถูก
อุบาสกกราบเรียน       ทำไมท่านอาจารย์จึงแบ่งรับแบ่งปฏิเสธอย่างนี้ล่ะครับ
หลวงปู่ตอบ                  มันไม่ถูกจริง ไม่สมบูรณ์จริงน่ะสิ อุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       กระผมสงสัยว่าไม่จริงสมบูรณ์นั้น ท่านอาจารย์คงจะเผลอหรือลืมนึกถึงคัมภีร์ที่ท่านวางหลักอสุภ๑๐ แล้วกระมัง ดูเหมือนท่านสอนไว้ละเอียดลออดี และกระผมได้ยินครูบาอาจารย์อื่นๆ อีกหลายท่าน ท่านบอกหนทางอันเอกคือกาย เมื่อใครทิ้งกายคนนั้นหลงโลก และคนเราที่ติดก็ติดเรื่องกาย กระผมจะอธิบายวิธีเจริญอสุภ๑๐ ถวายท่านอาจารย์ เท่าที่กระผมได้ศึกษามา และท่านสอนว่าให้เพ่งกายตามแบบหลัก สติปัฏฐานสูตร และภาค กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน  หรือ กายคตาสติ ท่านให้นั่งเพ่งกาย จะเป็นภายนอกก็ดี เป็นภายในก็ดี ให้เห็นเป็นนิมิต ใช้สติบังคับแบบเพ่งกสิณฌาน ให้มีสติระลึกรู้เฉพาะกายนั้นเสมอ เมื่อเห็นติดตาได้ท่านเรียกว่า อุคคหนิมิต ต่อไปให้เพ่งจนกระทั่งศพขึ้นพองจนศพนั้นแตกที่สุดจนถึงกระดูกเรี่ยราย ทำได้อย่างนี้เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต เรียกว่า เป็นผู้เจริญอสุภฌานสำเร็จ หรือเรียกว่าผู้สำเร็จอสุภฌาน๑๐ อย่างนี้จะไม่ชอบในเหตุผลทางพระพุทธศาสนาได้อย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ชอบอยู่  แต่มันไม่ถูกจริง ตัวอย่างการเพ่งอสุภ ๑๐ อย่าง ที่อุบาสกอธิบายมานี้ก็ผิดแปลกจากกสิณฌานของฤๅษี และหลักสูตรนี้เป็นของฤๅษีเขาเพ่งอย่างนี้ อย่าว่าแต่เพียงแค่นี้เลย พรหมวิหารฌานก็มี เขาเพ่งเพื่อมหาเสน่ห์ เพื่อความนิยมของมหาชน ในเรื่องอสุภ๑๐  เขาเพ่งเพื่อต่อสู้กับศัตรู อนุสสติฌาน การระลึกถึงคุณของผู้มีคุณหรือความดีที่ตนทำไว้แล้วเพื่อนำมาป้องกันภัยอันตรายทั้งหลาย เพื่อให้สิ่งเหล่านั้นตามพิทักษ์รักษา อย่าให้มีภัยอันตราย เหล่านี้เป็นต้น คนที่ไม่เข้าใจนำมาแฝงในพระพุทธศาสนา ต่อมามีผู้ที่เห็นดีเข้าเลยดัดแปลงให้หนีรูปเดิมให้เข้ากับคำสอนทางพระพุทธศาสนา จึงได้ตัดจุดเจตนาใหม่ใส่ให้เข้ารูปทรงที่ว่า เป็นการป้องกันความหลง  อันนี้เป็นจุดเจตนาใหม่ที่เขียนกำกับไว้ แต่วิธีทำเราจะมองเห็นได้ชัดว่าเป็นรูปทรงอันเดียวกันกับการเจริญกสิณฌาน และอุบาสกอ้างหลักคัมภีร์ มีสติปัฏฐานสูตร ภาคกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และกายคตาสติ อันนี้เป็นหลักสูตรของพุทธอย่างอุบาสกอ้างว่าหนทางอันเอก คือกาย ใครทิ้งกายคนนั้นหลงโลก อันนี้เป็นความจริง แต่อุบาสกจะเห็นอย่างไรไม่ทราบ
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือ กายคตาสติ คงจะหมายความว่าให้มีสติ  รับรู้อยู่ที่นิมิต กาย ที่เราสร้างเป็นมโนภาพให้เห็นเป็นอุคคหนิมิตอย่างนั้นไม่จริงหรือครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ไม่จริง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น เช่น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้มีสติระลึกทั่วกาย อุบาสกคงจำไม่ลืมที่อาตมาอธิบายไว้ข้างต้นโน้น คำที่ว่าใครทิ้งกายคนนั้นหลงโลก ให้พูดว่าผู้ลืมกาย เรียกว่า ผู้โมฆะ  ตัวอย่างพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุรุษใดไม่มีสติอยู่ในกายหรือกำกับกาย และกำกับวาจา เรียกว่าโมฆะบุรุษ คือบุรุษที่เปล่าจากประโยชน์ ตัวอย่างคนพูดด้วยการเผลอคือไม่มีสติจะเป็นอย่างไร และไม่มีสติจะมีโทษหรือมีคุณ  ขอให้อุบาสกพิจารณา
อุบาสกกราบเรียน       กระผมยังไม่ยอมในเรื่องอสุภ๑๐ เพราะกระผมได้ทราบว่าพระนางรูปนันทาและพระนางเขมาที่ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า ก็ปรากฏเห็นเป็นรูปที่พระพุทธเจ้าพระองค์เนรมิตให้เห็นนั้นได้เห็นว่าตั้งแต่เพิ่งตายจนถึงกระดูกเรี่ยรายเหมือนสังข์ ก็เหมือนเพ่งอสุภมิใช่หรือครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ใช่อย่างนั้นแหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ว่าทางพระพุทธศาสนาของพวกเราให้ใช้โยนิโสมนสิการเพียงแค่นั้นก็ผิด  สิครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ผิดอุบาสก  พระพุทธองค์ทรงสอนพระนางรูปนันทา และพระนางเขมา ตลอดจนถึงพวกพระภิกษุที่มีความกำหนัดกับนางสิริมา พระองค์ให้ใช้ปัญญาตรองตามความเป็นจริง และไม่เคยเห็นพระองค์แนะนำให้เพ่งอสุภอย่างนั้น คิดดูแต่อสีติมหาสาวกผู้ใหญ่ที่ได้สำเร็จมรรคผลไม่เห็นเพ่งอย่างที่ว่านี้ ถึงแม้ท่านจะใช้ก็ในคราวที่มีเหตุสมควรที่จะต้องให้ใช้ คงกำหนดรู้ใจเท่านั้นเอง คำพูดที่ว่า เพ่ง คงนำสาเหตุมาจากเรื่องพระนางรูปนันทาและพระนางเขมานี่กระมัง และกล่าวถึงพระอื่นๆ ก็คงนำเรื่องนี้ไปเติมเข้าให้เลยกลายเป็นโรคติดต่อไปอีก ความจริงพระพุทธองค์คงให้ใช้ทางศาสนาในเวลามีเหตุอันสมควร เพื่อแก้ปัจจุบันหลักตายตัวหรือหลักสำคัญก็คือ อริยสัจสี่ ที่เคยอธิบายสู่กันฟังมาแล้วนั้นเป็นสำคัญ ควรจะดำเนินอย่างนั้น อสุภและสิ่งอื่นๆ ที่เป็นสิ่งภายนอกเป็นสิ่งที่จะทำให้จิตอ่อนลง และจะให้สงบได้ เมื่อมีความสงบแล้วผลคือปัญญาญาณจะเกิดมาได้จากฐานคือความสงบ  มีอยู่อย่างนี้แหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจแล้วครับ คำที่ว่าอสุภ๑๐ หรือเจริญอสุภฌาน ถึงแม้จะเป็นของฤๅษีนำมาดัดแปลงเป็นพุทธแล้ว และมุ่งทำลายกิเลส จะไม่เป็นไปเพื่อการตรัสรู้บ้างหรือครับ
หลวงปู่ตอบ                  ถึงแม้จะเป็นไปก็ยาก เพราะเป็นการเพ่งนอก ดูให้เกิดสังเวชแล้วน้อมมาสอนใจ เรื่องนี้พอมีทางบ้าง แต่จะขอพูดอย่างนี้อีกว่า พระพุทธเจ้าเคยศึกษาในลัทธินิยมอย่างนี้มาก่อนแล้วไม่เห็นสำเร็จมรรคผล และพระองค์ไม่ได้วางหลักตายตัวไว้อย่างนี้ให้เป็นแบบฉบับยืนตัวไว้ในทางศาสนาเลย ให้อุบาสกนึกดูพระมหาสาวกผู้ใหญ่ที่ได้ตรัสรู้ไม่เห็นท่านนั่งเพ่งอย่างอุบาสกว่า  ถึงแม้จะมีตำนานพูดเกี่ยวกับเรื่องศพก็เพียงให้จิตเกิดสังเวช ไม่ได้พูดจริงจังอะไรมากมาย หลักฐานความจริงอย่างที่อาตมาเคยอธิบายมาแล้วแต่เบื้องต้น ตัวอย่างอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อะไรเป็นเครื่องหมายของปุถุชน  ผู้ทำลายเครื่องหมายของปุถุชนได้เรียกว่าผู้ได้เครื่องหมายของพระอริยเจ้า ขอให้พิจารณาที่อาตมาเล่าถึงอริยสัจข้างต้นอุบาสกก็เข้าใจอยู่แล้วนั้นเป็นหลักฐานสำคัญทางพระพุทธศาสนา และเป็นทางตรัสรู้ของพระอริยเจ้า ทั้งหลาย
อุบาสกกราบเรียน       กระผมสงสัยว่าการเข้าป่าช้า ยังมีหลักธุดงค์วางกำกับไว้อีกด้วย เพื่อประสงค์อะไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  อุบาสกดูในโอวาทปาฏิโมกข์ ในบาลีว่า ปญฺตญฺ จ สยนาสนํ แปลว่า เสนาสนะที่สงัด อุบาสกลองนึกดูจะมีใครไปพลุกพล่าน หรือเทียบถึงถ้ำ ป่า โคนไม้ เรือนว่างเหล่านี้  เป็นต้น โดยจุดประสงค์ต้องการที่เงียบสงัด สถานที่เหล่านี้จัดเป็นธุดงค์คุณเหมือนกัน หรือจะไปเพ่งอะไรอยู่ในสถานที่เหล่านั้น
อุบาสกกราบเรียน       กระผมยังสงสัยอยู่ท่านอาจารย์ครับ สมมุติว่ากัมมัฏฐาน๔๐ พระพุทธองค์ทรงวางไว้เพื่อแก้จริตของคน เพราะคนเรามีจริตถึง ๖ จริต กระผมจะยกมาเพื่อให้เป็นตัวอย่าง  สักข้อ เช่น คนที่ราคะจริต ท่านบอกว่าควรเพ่งอสุภ กระผมได้ความอย่างนี้ ท่านอาจารย์ว่ากระผมเข้าใจถูกไหมครับ
หลวงปู่ตอบ                  คำว่าจริต๖ จะมีอยู่ในคนทุกคนทั้ง๖จริต หรือมีคนละจริตกันแน่.
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจว่า คนหนึ่งเหมือนมีจริตอย่างหนึ่ง เพราะกระผมดูในเรื่องการแยกกัมมัฏฐาน๔๐ ออกประกอบกับจริต ดูเหมือนให้เพ่งกัมมัฏฐานตามจริตตนเอง เป็นอาจิณ
หลวงปู่ตอบ                  ถ้าอย่างนั้นอุบาสกมีจริตอะไร
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเห็นว่า กระผมมีราคะจริตครับ
หลวงปู่ตอบ                  อุบาสกเคยโกรธบ้างไหม
อุบาสกกราบเรียน       เคยครับ
หลวงปู่ตอบ                  ถ้าอย่างนั้น จะไม่ได้ความว่าจริตทั้งหกมีอยู่ในคนทุกคนละหรือ
อุบาสกกราบเรียน       จริงครับ จริตทั้งหกต้องมีในคนทุกคนครับ
หลวงปู่ตอบ                  คนผู้มีราคะจริตอย่างที่อุบาสกว่านั้นเขาไปเจริญหรือเพ่งอสุภ๑๐ อย่างเดียวเป็นอาจิณจะไม่ผิดดอกหรือ
อุบาสกกราบเรียน       จะผิดอย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  จะไม่ผิดอย่างไร ก็จริตของคนหนึ่งมีถึ ๖ จริต บางทีโกรธ บางทีรัก  บางทีมีอวิชชา โมหะทับถม ทำให้ซึม ใจคอหงุดหงิด อะไรเหล่านี้เป็นต้น เมื่อมัวไปเพ่งอสุภเป็นอาจิณอยู่  ถือมั่นอย่างเดียว มุ่งเพื่อจะแก้ราคะ แต่เมื่ออย่างอื่นเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น โทสะเกิดขึ้น อุบาสกมัวแต่แก้ราคะ แล้วโทสะที่เกิดขึ้นอยู่ปัจจุบันจะหายไปได้อย่างไร กัมมัฏฐาน๔๐ เป็นยาแก้โรค ๖ อย่าง นี้เปรียบเป็นส่วนภายใน จะยกรูปเปรียบภายนอกมาเล่าให้อุบาสกฟัง เช่น มียาควินินและยาปวดหาย ยากฤษณากลั่น อุบาสกปวดหัว แต่ไปกินยากฤษณากลั่น หรือปวดท้อง แต่ไปกินยาควินิน ทำอย่างนี้จะหายได้ไหม
อุบาสกกราบเรียน       หายไม่ได้ครับท่านอาจารย์ เพราะกินยาไม่ตรงกับโรคครับ
หลวงปู่ตอบ                  นี้ฉันใด การเดินกัมมัฏฐานหน้าเดียวเท่ากับคนมียาไว้แก้โรคขนานเดียว เมื่อโรคอื่นที่ไม่ตรงกับยาเกิดขึ้นก็ไม่มีทางรักษาได้ฉันนั้น
อุบาสกกราบเรียน       ทำอย่างไรจึงจะถูกครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  อุบาสกว่าเป็นคนราคะจริต แต่เมื่อโทสะจริตเกิดขึ้นอุบาสกดูเหมือนจะไม่มีทางแก้ ให้หายได้ใช่ไหม
อุบาสกกราบเรียน       หายไปได้เหมือนกันครับ เพราะกระผมนึกถึงโทษ เมื่อหากกระผมทำไปตามเหตุการณ์ กระผมจะมีความเสียหายมากทีเดียว อย่างนี้มันก็หาย แต่บางทีมันเกิดขึ้นมารุนแรง กระผมเตรียมปืนว่าจะไปยิงคนที่ทำให้เหตุการณ์เกิดขึ้น กระผมมานึกอีกทีหนึ่งว่าเมื่อ กระผมฆ่าเขาตายลงไป ลูกเขาก็ดี เมียเขาก็ดี หรือคนอื่นๆ บางคนคงจะได้รับความทุกข์ พอนึกถึงอย่างนี้ก็สงบลงได้ แต่สงบไม่จริง เป็นความสงบชั่วคราวครับ
หลวงปู่ตอบ                  นั่นแหละอุบาสก อุบายที่แก้ก็ต้องอย่างนั้น ถึงแม้สงบไม่จริงก็ควรแก้ อาตมาจะยกรูปเปรียบมาเล่าสู่ฟัง สมมุติปวดท้องมาก จำเป็นจะต้องผ่าตัด แต่ยังไม่ถึงโรงพยาบาล   เมื่อมันปวดขึ้นมารุนแรงเราก็กินยาเพื่อระงับไว้ก่อน ถ้าไม่อย่างนั้นอาจเป็นอันตรายได้ เรื่องนี้ฉันใดการระงับความรุนแรงของจิตเหมือนกันฉันนั้น
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจแล้วครับท่านอาจารย์ วิธีเดินกัมมัฏฐานให้เป็นไปตามจริตนั้นจะทำอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ใน ภัทเทกกรัตตคาถาว่า อตีตํ นานฺ วาคเมยฺย อารมณ์ที่เป็นอดีตล่วงมาแล้วไม่ควรคำนึงถึง  นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ อารมณ์หรือสิ่งที่เป็นอนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็อย่าสงสัย ปจฺจุปฺปญฺนญฺ จ โย ธมฺมํ ธรรมอันเป็นปัจจุบันคือเดี๋ยวนี้ กิเลสตัวไหนนำพาจะให้โกรธหรือจะให้รักให้แก้ปัจจุบันนี้แหละ หลักความจริงของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่อย่างนั้นจะเข้าในทำนองที่ว่าคันหลังเกาหัว เกาไม่ถูกที่คันจะหายได้อย่างไร
อุบาสกกราบเรียน       กระผมยังไม่สิ้นสงสัย ตัวอย่าง พระพุทธเจ้าสอนพระนางรูปนันทาผู้เป็นขนิษฐภคินีต่างมารดาของพระองค์ และสอนพระนางเขมาพระมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร และสอนพุทธบริษัทอื่นๆ ดูเหมือนพระองค์นำร่างกายมาอธิบายให้ฟัง เบื้องต้นได้สอนความไม่เที่ยง ต่อไปสอนเรื่องความทุกข์ อย่างนี้เป็นต้น จนตลอดไปถึงเรื่องทรมาน ภิกษุที่มีความกระสันกับนางสิริมา เรื่องนี้ท่านอาจารย์เข้าใจความหมายเพียงไหนครับ
หลวงปู่ตอบ                  เรื่องนี้พระองค์สอนให้รู้จริงตามสภาพความเป็นจริง พระองค์มุ่งสอนเพื่อให้เกิดสังเวชในใจ จิตจะได้รวมลงเป็นสมาธิ แต่พระองค์ไม่ได้วางหลักแบบเพ่งอสุภฌานอย่างอุบาสกว่าไว้เลย
อุบาสกกราบเรียน       กระผมพอจะเข้าใจแล้วครับท่านอาจารย์ แต่กระผมยังไม่กระจ่างเรื่องโลกุตตรฌาน กระผมเห็นในตำนานในเรื่องฌาน และครูบาอาจารย์บางท่านอธิบายอย่างนี้ เช่น ผู้ทำสมาธิที่มีอำนาจเหนือจิตแล้วบังคับจิตเข้าไปสมาธิที่๑เรียกว่าขณิก  ที่๒ เรียกว่าอุปจาร  ที่๓เรียกว่าอัปปนา แล้วย้อนกลับออกมาเจริญฌานกันอยู่ตรงนี้ การได้ฌานอยู่ในอันดับนี้ จริงไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ไม่จริง เพราะการเข้าสมาธิต้องเดินตามอันดับเรื่อยๆ ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์จะเข้าสู่พระปรินิพพาน พระองค์ทรงเข้าเรื่อย ๆ เป็นลำดับไป เรียกว่าอนุโลม ถึงที่สุดแล้วพระองค์ทวนย้อนกลับออกมา เรียกว่าปฏิโลม ตัวอย่างมีอยู่อย่างนี้ เรื่องนี้อะไรกันเข้าไปถึงอัปปนาสมาธิแล้วยังจะต้องออกมาอย่างนี้ไม่ถูก
อุบาสกกราบเรียน       ในเรื่องเจริญอรูปฌาน ในตำนานบางแห่ง และครูบาอาจารย์บางองค์ ยังพูดมาว่าเจริญฌานกันอยู่ตรงนี้เหมือนกัน เหมือนกันทั้ง ๔ องค์ในอรูปฌานนั้นด้วย ตัวอย่าง อรูปฌานองค์ที่๑  ท่านบอกว่าให้เพ่งอากาศแล้วให้บริกรรมว่า อากาศๆ จิตก็รวมกันเข้าไป  อันดับที่เข้าไปรู้ไปเห็น ท่านเรียกว่าอรูปฌานองค์ที่๑  อรูปฌานองค์ที่๒ ให้เพ่งวิญญาณเป็นอารมณ์ว่า โลกนี้มีเพียงวิญญาณ ให้บริกรรมว่าวิญญาณๆ อรูปฌานองค์อื่นๆ ก็เหมือนกัน ผิดแต่คำบริกรรมและอารมณ์ที่นำเข้าไปฟังแล้วเหมือนจะอยู่ในอันดับเดียวกัน แต่อันหนึ่งเรียกว่ารูปฌาน เพราะเกาะรูปเข้าไป คืออาศัยรูปนิมิตอันหนึ่งเรียกว่าอรูปฌาน อย่างนี้ถูกไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ถูกตามรูปทรงที่อุบาสกว่ามานี้เป็นของโลกิยฌานทั้งสิ้น ตัวอย่างคำที่ว่าเพ่งอากาศเรียกว่า อากาสานัญจายตนอย่างนี้เป็นต้น หรือจะพูดนัยหนึ่ง ในตำนานของฤๅษีกล่าวว่านิมิตตวิโมกข์ ได้แก่ ฌาน หรือสมาธิที่อาศัยนิมิตเกาะเข้ามา มีรูปฌาน เป็นต้น อนิมิตตวิโมกข์ ได้แก่ฌาน และสมาธิที่ไม่ได้เกาะนิมิตเข้าไป ตัวอย่างอรูปฌานสี่ เหล่านี้ แต่แล้วเข้าไปอยู่ในอันดับเดียวกัน อันหนึ่งได้แก่รูปฌาน ถ้าเป็นของพุทธจะฟังได้เมื่อใด
อุบาสกกราบเรียน       ครับท่านอาจารย์ กระผมสว่างแล้วครับเรื่องการเข้าฌานที่เรียกว่าโลกุตตรฌาน ท่านอาจารย์เรียงไว้แล้ว และกระผมพอเข้าใจที่ท่านอาจารย์เรียงลำดับฌาน ดูเหมือนเดินเป็นอับดับ ๆ ไปเลย แต่กระผมสงสัยคำที่ว่ารูปฌานกับอรูปฌานแบบโลกุตตรฌาน   ของเราต่างกันอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  ต่างกันอย่างนี้อุบาสก อันหนึ่งมีรูป อันหนึ่งไม่มีรูป ตัวอย่าง รูปฌานองค์ที่๑ เข้าสมาธิ ผ่านอับดับที่ ๑,๒,๓ ที่๓ เรียกว่าอัปปนา เลยจากอัปปนาไปเป็น ปฐมฌาน มีวิตกกับวิจารณ์เป็นอารมณ์เครื่องหมายดังที่เคยอธิบายมานั้น แต่ยังมีรูปปรากฏอยู่ แต่ดูจะไม่เหมือนรูปธรรมดาของเรา หรือจะได้นัยคำที่ท่านเรียกว่ากายทิพย์ก็ไม่รู้ เมื่อเลยเข้าไปถึงองค์ที่๒ คือปีติกับสุข ก็ปรากฏมีกายเป็นเครื่องรับความสุขอยู่เป็นลำดับจนสุดรูปฌาน  ต่อเมื่อถึงอรูปฌานองค์ที่๑ จะไม่มีรูปปรากฏเลย มีความรู้ไวเหมือนลม เพราะไม่มีกายแฝงคลุมเคลืออยู่ และจะให้เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง การเจริญอิทธิฤทธิ์ ฤทธิ์ในทางกายคงทำได้อยู่ในอันดับรูปฌาน เพราะมีกายเป็นเครื่องทดสอบ ถ้าเจริญอิทธิฤทธิ์ในทางใจ คงจะไปเจริญที่อรูปฌาน เพราะเห็นว่าจิตมีความว่องไวมาก ถ้าต้องการฤทธิ์เดชที่ไม่จริงไม่จังฟาง ๆ มัว ๆ ดูเหมือนจะใช้ได้ตั้งแต่อัปปนาสมาธิ ถ้าแบบฝันๆ ก็ใช้ได้อยู่ที่อุปจาร นี้เล่าให้ฟังเฉยๆ ไม่ได้สอนให้ต้องการฤทธิ์ ให้ต้องการสำเร็จมรรคผล จึงจะพ้นไปเสียจากความทุกข์ ถ้ามัวแต่ไปเล่นฤทธิ์ ก็ไม่มีทางใดที่จะถึงได้ เมื่อเราถึงแล้วจึงมาเล่นกันภายหลัง แต่แล้วเมื่อถึงแล้วก็ไม่อยาก คนที่อยากคือคนเข้ายังไม่ถึง เพราะกิเลสนำให้อยากอยู่ เมื่อกิเลสตัณหาหมดแล้วจะมีอะไรมาอยาก
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ คำที่ว่า นิโรธ หมายความว่าอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  คำที่ว่า นิโรธ แปลว่า ดับ  คำที่ว่าดับ คือ ดับจากเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่กิเลสตัณหาเป็นตัวก่อเหตุ หรือโดยอรรถ มีความมุ่งหมายดุจเดียวกันกับสุญญตา ผิดกันแต่พยัญชนะ ทีนี้จะอธิบายต่อ เหตุของกิเลสตัณหาคืออวิชชา หมายถึงความไม่รู้ เมื่อไม่รู้จึงเป็นเหตุให้ยึดถือสิ่งที่เป็นทุกข์ จึงเป็นเหตุให้ประสบทุกข์ เมื่อวิชชาคือความรู้ว่าสิ่งนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เลิกสิ่งนี้จะให้สุข  เมื่อไม่ยึดถือสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็หมดทุกข์ จึงได้ชื่อว่าผู้ถึงซึ่งนิโรธ คือความดับทุกข์ เมื่อดับทุกข์แล้วก็เป็นผู้ได้เสวยความสุขอันเป็นบรมสุข เพราะเหตุนี้กระมังคนจึงนิยมพูดว่าพระอริยเจ้าเข้านิโรธ คือเข้าเสวยบรมสุข
อุบาสกกราบเรียน       ผู้ที่ถึงนิโรธคือใครครับ
หลวงปู่ตอบ                  ผู้ที่ถึงนิโรธคือพระอรหันต์
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ  พระอริยเจ้า พระอรหันต์ เวลาจะเข้านิโรธ นิยมเข้าเมื่อใดครับ
หลวงปู่ตอบ                  พระอริยเจ้า พระอรหันต์เข้านิโรธอยู่ตลอดเวลาแหละอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       ผิดแล้วกระมังครับ
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ผิดอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       จะไม่ผิดอย่างไรครับท่านอาจารย์ ตามตำนานที่ว่าพระอริยเจ้าเข้านิโรธ ๗ วันบ้าง ๑๕วันบ้าง  และเมื่อใครได้ทำบุญกับพระอริยเจ้าเข้านิโรธจะได้บุญทันตาเห็น ตัวอย่างและหลักฐานก็มีอยู่อย่างนี้นี่ครับ
หลวงปู่ตอบ                  พระอริยเจ้าเข้าไปรับสุขอยู่ ๗ วัน ๑๕ วันแล้วออกมารับทุกข์อีกต่อไปอย่างนั้นหรืออุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       คำนี้แปลกมากครับท่านอาจารย์  เป็นคำที่กระผมยังไม่เคยได้ฟังมาก่อนเลย ขอนิมนต์ท่านอาจารย์อธิบายให้กระผมฟังด้วย เพราะกระผมเข้าใจอย่างที่กระผมเล่าถวายมานั้น ขอนิมนต์เล่าความจริงให้กระผมฟังด้วยครับ
หลวงปู่ตอบ                  คำที่ว่าพระอรหันต์ หมายถึงผู้ถึงนิโรธ คือความดับทุกข์ ผู้ที่มีความสุขแล้วจะไปหาความสุขที่ไหนอีกเล่า คนที่แสวงหาความสุขอยู่คือผู้มีทุกข์ ยกรูปเปรียบคนที่หิวอาศัยความหิวเป็นเหตุ จึงได้แสวงหาของรับประทาน คนที่อิ่มออกมาจากครัวเดี๋ยวนี้ เขายังจะต้องวิ่งเข้าครัวไปหาของรับประทานอีกหรือ คนที่เขาอาบน้ำมาเดี๋ยวนี้สะอาดดีแล้วเย็นแล้ว เขายังจะต้องวิ่งไปหาน้ำอาบอีกหรือ
อุบาสกกราบเรียน       ไม่หาแล้วครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  นี่แหละอุบาสกความจริงมีอยู่อย่างนี้ ถ้าอุบาสกคิดถึงสมัยพระพุทธเจ้ายังมีพระชนมชีพอยู่ ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าเข้านิโรธกี่ครั้ง ครั้งละกี่วัน มีคนไปรอทำบุญในสมัยพระพุทธเจ้าเข้านิโรธกี่คน ได้บุญทันตาเห็นกี่คน ลองเล่าให้อาตมาฟังบ้างซิ
อุบาสกกราบเรียน       กระผมไม่เห็นครับท่านอาจารย์ แต่กระผมสงสัยคำที่คนพูดกันว่าพระอริยเจ้าเข้านิโรธใช้ไฟเผาก็ไม่ไหม้ คนตีก็ไม่ตาย อันตรายใดๆ ก็ไม่เกิดมีแก่ท่าน ความจริงแล้วเป็นอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  พระโมคคัลลานะท่านถึงนิโรธแล้วหรือยังอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       ถึงแล้วครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ถ้าถึงแล้วทำไมโจรตีท่านจึงแหลกจนตาย คิดดูให้ดี
อุบาสกกราบเรียน       เรื่องนี้แปลกมากครับท่านอาจารย์ ความจริงมีอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  ไม่ถึงความตายก็ไม่วายชีวาวาตม์ ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญ ถึงคราวตายต้องวายชีวาวัน ใครไม่ทันทำร้ายก็ตายเอง ตายเร็วหรือช้าก็แล้วแต่กฎของกรรม ตัวอย่างคนที่ไปในรถคันเดียวกัน หรือเรือลำเดียวกัน รถคว่ำ เรือล่ม คนที่ตายก็มี ไม่ตายก็มี บางทีก็ตายหมด คิดดูอย่างนี้แล้วกัน คำที่ว่าพระเข้านิโรธไฟเผาไม่ไหม้ โจรทำอันตรายไม่ได้ อันตรายใดๆ ทั้งหมดย่อมไม่มีแก่ท่าน คำนี้เขียนผิด และไม่ชอบในเหตุผล ทางที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้ พระอริยเจ้าที่ท่านได้นิโรธแล้ว นิโรธเป็นทรัพย์อันประเสริฐ      ท่านเรียกว่า อริยทรัพย์ คือทรัพย์ภายใน ทรัพย์ของท่านย่อมไม่เป็นอันตรายแก่ไฟและน้ำ  โจรขโมยไม่ได้  ทรัพย์ของท่านย่อมไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น อย่างนี้จึงจะถูกอุบาสก
อุบาสกกราบเรียน       กระผมเข้าใจแล้วครับท่านอาจารย์ แต่กระผมสงสัยอีกว่าพระขาณุโกณฑัญญะ ท่านเข้านิโรธอยู่ มีโจรห้าร้อยคนไปทำโจรกรรม เขาได้ทรัพย์คนละถุงเสร็จแล้วเขาหนีชาวบ้านมา เขาไม่เห็นชาวบ้านตามมา พวกโจรจึงหยุดพัก เขาเห็นพระผู้เป็นเจ้าที่กำลังเข้านิโรธอยู่นั้นนึกว่าตอ  เขาจึงได้วางทรัพย์ห้าร้อยถุงตั้งบนศีรษะพระผู้เป็นเจ้า เทินๆ กันขึ้น พระผู้เป็นเจ้าไม่เป็นอันตรายเลย ความจริงหลักฐานก็มีอยู่อย่างนี้ ท่านอาจารย์  มีความเห็นว่าอย่างไรครับ
หลวงปู่ตอบ                  อาตมาว่าเหตุผลไม่เพียงพอ
อุบาสกกราบเรียน       คำที่ว่าเหตุผลไม่พอมีอย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  คิดดูเพียงคำที่ว่าทรัพย์ห้าร้อยถุงวางเทินศีรษะพระผู้เป็นเจ้าทั้งห้าร้อยถุงนั้นจะวางอย่างไรจึงจะไม่พัง และวางอย่างไรจึงจะวางเทินขึ้นถึงได้
อุบาสกกราบเรียน       กระผมแย่แล้วครับท่านอาจารย์  กระผมเชื่อโดยขาดเหตุผล  เรื่องที่ว่าทำบุญกับพระอริยเจ้าที่ออกจากนิโรธมีผลทันตาเห็นนั้น ความจริงมีอย่างไรครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  คำพูดที่ว่าทำบุญกับพระอริยเจ้าผู้ออกจากนิโรธนั้นไม่ถูก นิโรธแปลว่าความดับทุกข์ หมายความว่าผู้ถึงบรมสุข แล้วจะออกจากบรมสุขมารับทุกข์อีกอย่างนั้นหรือ
อุบาสกกราบเรียน       กระผมพูดผิด เพราะความเข้าใจว่าพระอริยเจ้าเข้านิโรธยังเป็นนิมิตติดใจของกระผมอยู่ กระผมเชื่องมงายมานานแล้ว ความจริงควรพูดอย่างไรจึงจะถูกครับ
หลวงปู่ตอบ                  ควรพูดว่าทำบุญกับพระที่ถึงนิโรธได้บุญทันตาเห็นจึงจะถูก การทำบุญก็เหมือนการส่งเสริม หรือให้กำลัง เมื่อเราส่งเสริมหรือให้กำลังแก่พระอริยเจ้า มีแต่ประโยชน์ไม่มีโทษ เพราะท่านเป็นผู้มุ่งประกอบประโยชน์ ตัวอย่าง ผู้ประกอบในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เมื่อเขามีกำลังพอ ประโยชน์นั้นย่อมไพศาล กำลังทั้งหมดที่มีอยู่จะไม่ยอมไปใช้ในทางอื่น มีแต่จะถนอมไว้ใช้งาน ฉันใดก็ดี พระอริยเจ้าเมื่อใครทำบุญกับท่านกำลังที่ท่านได้มาจากอุบาสก อุบาสกส่งเสริมให้ ท่านก็นำไปประกอบประโยชน์ เมื่อเราส่งเสริมอยู่ไม่ขาด ประโยชน์นั้นย่อมไพศาล ผู้เป็นบัณฑิตได้ทำบุญหรือได้ส่งเสริมให้กำลังแก่ท่านเช่นนี้จะมองเห็นประโยชน์จากท่านที่ทำได้ ท่านได้กำลังมาจากเรา เมื่อมองเห็นได้อย่างนี้ก็เป็นเหตุให้ปลื้มใจ อิ่มใจ ความปลื้มใจอิ่มใจเป็นเหตุให้มีความสุข ความสุขนั้นแหละเป็นบุญ มันได้บุญทันตาเห็นอย่างนี้  หรือแม้แต่อุบาสกจะทำบุญกับพระที่ยังไม่ถึงนิโรธ แต่ท่านพยายามขวนขวายอยู่มุ่งจะเข้าให้ถึงนิโรธ เมื่อส่งเสริมให้ท่านถึงได้ก็เป็นบุญ นอกนั้นไม่แน่ บางทีอาจนำกำลังจากการที่เราส่งเสริมให้แล้ว ไปประกอบความชั่วก็ขาดทุน หรือพระที่เป็นมหาโจรปล้นพระศาสนา ผลจะตรงกันข้ามไปเลย ยิ่งส่งเสริมให้มีกำลังยิ่งไปกันใหญ่ เราพลอยมีโทษไปด้วย เรื่องนี้ควรระวังให้มาก
อุบาสกกราบเรียน       ครับท่านอาจารย์ ต่อไปนี้กระผมจะระวังให้มากในเรื่องนี้ เพราะกระผมเห็นว่าเมื่อให้กำลังแก่มหาโจรผู้ปล้นพระศาสนา เราก็พลอยได้รับโทษไปด้วย ตัดอย่าให้เขามีกำลังเสียได้เขาก็หยุดไปเอง  แต่มันสำคัญอยู่กับคนไม่รู้อาจส่งเสริมมหาโจรให้มีกำลัง อันเป็นเหตุให้ทำลายพระศาสนาต่อไป กระผมสว่างแล้ว รู้สึกสงสารคนผู้ที่ยังมืดอยู่ ไม่รู้จะส่งเสริมถูกหรือผิดก็ไม่แน่ แต่ก่อนกระผมผิดมาแล้ว ต่อจากนี้ไปกระผมจะไม่ให้ผิดอีกครับ ท่านอาจารย์ครับกระผมสงสัยเรื่องอานาปา คือการกำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก บางแห่งเขาทำกันมาอย่างนี้เขากำหนดจุดมีอยู่ ๓ จุด คือปลายจมูก ซอกคอ และท่ามกลางอก  เขากำหนดจุดใดจุดหนึ่งก็ได้ วิธีทำต่อไปเขากำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ลมสั้นก็ให้รู้ ลมยาวก็ให้รู้ ลมละเอียดก็ให้รู้ กำหนดรู้ตลอดเวลาที่ทำสมาธิ จนมองเห็นลม บางทีกำหนดให้ลมไปอยู่กลางศีรษะ บางทีไปไว้ที่หน้าผาก แล้วแต่จะไปทั่วสรรพางค์กายนี่อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเขากำหนดรู้ลมทุกอย่างในสรรพางค์กาย ลมพัดขึ้นเบื้องบนก็ให้รู้ให้เห็น จนลมเล็ดรอดออกตามรูขุมขนก็ให้รู้ แล้วต่อไปลมที่กำหนดเป็นลมทิพย์ กำหนดไปไหนตามปรารถนา เขาก็ใช้ลมนั้นไปแก้เจ็บปวด   เจ็บปวดตรงไหนก็กำหนดไปแก้จนหาย ต่อไปก็นำไปช่วยคนอื่นให้พ้นจากความทุกข์  อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่มุ่งดับสังขารเขากำหนดเหมือนกัน แต่จุดประสงค์จะดับสังขาร เมื่อเขากำหนดต่อไป กำหนดไปลมก็ละเอียดเข้าๆ  ต่อไปลมหมด เมื่อลมหมดเรียกว่ารูปดับ ให้กำหนดใจเรียกว่านาม  เมื่อกำหนดไป กำหนดไป..จิตหมด.. เรียกว่า ดับ  เรียกว่า ผู้ถึงนิพพาน อย่างนี้ถูกไหมครับท่านอาจารย์
หลวงปู่ตอบ                  ถูกแต่สำหรับเขา มันไม่ถูกตามอย่างของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเคยทำอย่างฤๅษี วิธีเจริญกสิณ นำวงกลมของกสิณเป็นเครื่องยึด เป็นอุบายสร้างกำลังของสติ เมื่อสติมีพลังเต็มที่แล้วไปบังคับจิตให้รับรู้ตามแต่สติจะบังคับได้ว่าอย่างไรจิตก็ต้องว่าอย่างนั้น จิตไม่งอแง จนจิตกับสติบวกกันเข้า เรียกว่าสมังคี ต่อไปอาศัยจิตที่บวกกับสติเป็นจิตที่มีพลังสั่งนิมิตอย่างที่เคยเล่าให้ฟังมาทั้งหมด แล้วจุดประสงค์ต้องการฤทธิ์ เขาถือว่า วงกสิณเป็นเพียงนิมิตเครื่องทดสอบสติเท่านั้นเอง เหมือนกระสอบทรายเป็นเครื่องซ้อมมือของนักมวยเท่านั้น กรรมการไม่ได้ตัดสินจะชนะหรือแพ้ตรงต่อยกระสอบทราย  และเรื่องที่ว่าลมหายใจเข้าออกไม่ปรากฏนั้น เข้าใจว่าสังขารดับหรือรูปดับ  ไม่ถูก ความจริง สังขารแปลว่า ความปรุง ท่านหมายถึงกิเลสปรุงจิตต่างหาก เมื่อกิเลสปรุงจิตแล้ว จิตที่กิเลสปรุงแต่งนั้นจะออกมาปรุงกายและวาจาอีก จึงเป็นเหตุให้สร้างกรรมสร้างเวรต่อไป พระพุทธเจ้าท่านเห็นอย่างนี้  คำที่ว่านามดับคือหมายถึงจิตไม่ปรากฏ ทุกข์ก็ไม่มี สุขก็ไม่มี เพราะสัญญาไม่มี นั้นไม่เรียกว่านิพพาน นั่นคือโมหะสมาธิ หรือ อสัญญี ไม่ใช่นิพพาน 
                                                พระพุทธเจ้ากำหนดลมหายใจเข้า หายใจออก จุดประสงค์ต้องการสร้างสติให้มีพลังเหนือจิตเหมือนอย่างฤๅษีและนักจิตวิทยาที่เล่าสู่กันฟังมาแล้ว พวกนักจิตวิทยา เขาใช้ดาวเป็นนิมิตเครื่องทดสอบสติบ้าง บางทีก็นำแก้วน้ำ อะไรก็แล้วแต่เรื่องที่จะใช้ภายนอกต้องสร้างสติภายนอก ฤๅษีทำอย่างที่เล่าให้ฟังแล้ว ส่วนพระพุทธศาสนาต้องการใช้เป็นส่วนภายใน ก็ต้องของภายในเป็นนิมิต เครื่องทดสอบสติอย่างที่เคยอธิบายให้ฟังมาแล้วนั้น แต่ไม่ได้เอาดีอยู่ที่ลม จุดมุ่งประสงค์คืออย่างไรนั้นก็มีอยู่หลายอย่าง เบื้องต้นก็เหมือนพวกฤๅษีและนักจิตวิทยา คือ ต้องการให้สติมีพลังเหนือจิต หรือทำให้สติบวกกับจิตเรียกว่า สมังคี  แต่ทางพระพุทธศาสนาว่า มรรคสมังคี แปลว่าทางรวมกัน  ถ้าจะพูดให้ถูกคือผู้นำทางรวมกัน ถ้าจะรวมให้เต็มที่แล้วก็ต้องมีสติ ปัญญา และจิตบวกกัน หรือรวมกันอย่างที่อธิบายให้ฟังแล้วตั้งแต่เบื้องต้น เมื่อมีคนถามว่า ทำไมจึงใช้ลมเข้า-ออกเป็นเครื่องทดสอบสติ ฤๅษีเขาใช้สิ่งภายนอกทดสอบยังทำให้สติสมบูรณ์ได้ ตอบว่าได้อยู่ แต่ไม่สะดวกเหมือนใช้ส่วนภายในเป็นเครื่องทดสอบ  ฤๅษีและนักจิตวิทยานำไปใช้ภายนอก เขาใช้สิ่งภายนอกเป็นเครื่องทดสอบย่อมสะดวก  แต่ส่วนของเราต้องการไปใช้ภายใน จำเป็นจะต้องใช้ สิ่งภายในเป็นเครื่องทดสอบ แต่ไม่ได้เอาดีอยู่ที่ลม การเกี่ยวข้องกับลมเพียงใช้สิ่งภายในเป็นเครื่องทดสอบสติเท่านั้น    เมื่อสติสมบูรณ์แล้ว จุดประสงค์ที่ ๑ ก็สมบูรณ์ จุดประสงค์ที่ ๒ คือใช้สติที่สร้างดีแล้วมาปฏิวัติธรรมชาติ เพราะเราอยู่ใต้อำนาจธรรมชาติมาตั้งแต่ปฏิสนธิจิตที่แรกมาเลย  ถึงแม้มีสติกำกับอยู่บ้างก็น้อยเต็มที จึงเป็นเหตุให้เป็นทาสของธรรมชาติมาจนบัดนี้  ธรรมชาติอย่างที่เล่าให้ฟังมาแล้วนั่นเอง คงจำไม่ลืม อาการของกายที่เป็นไปโดยธรรมชาติ วาจาพูดไปโดยธรรมชาติ ออกมาจากจิตที่คิดไปโดยธรรมชาติ หรือจะพูดว่ากิเลส ตัณหา อุดหนุนก็ได้ หรือจะพูดว่าความคิดนำพาให้เป็นไปก็ถูก โบราณจึงนิยมพูดว่า เราเป็นทาสของอารมณ์ ก็ยิ่งถูก อารมณ์เป็นเจ้านายของเรา เราอยู่ใต้บังคับบัญชา เราสร้างสติ เพราะต้องการจะได้มา ปฏิวัติธรรมชาติของกาย วาจา และจิต  เมื่อเราปฏิวัติธรรมชาตินี้ได้ เราจะต้องได้ขึ้นยืนเหนือกฎธรรมชาติที่เราตกอยู่ใต้อำนาจของมันมานานแสนนานแล้ว  นี้เรียกว่า จุดประสงค์ที่๒  ของเราสำเร็จลงได้เพียงแค่นี้
                                         แต่จุดประสงค์ที่๓ คือ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศกพิไรรำพัน การเสียน้ำตา เพราะพลัดพรากจากของรัก ของชอบใจ เหล่านี้เป็นต้น  ท่านเรียกว่า กฎธรรมดา  สิ่งทั้งปวงเหล่านี้บังคับและลงโทษเรามามากต่อมากแล้ว  และกฎธรรมดาเหล่านี้อยู่เหนือเรา เราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีชาติคือความเกิดเป็นเบื้องต้น กฎธรรมดาเหล่านี้จำจะต้องมาบังคับเราแน่ ความปรารถนาของพวกเราผู้ปฏิบัติเพื่อพยายามขึ้นยืนเหนือกฎธรรมดาเหล่านี้ให้จนได้ รับรองว่าเมื่อพวกเรารู้อำนาจกฎธรรมดาเหล่านี้ พร้อมทั้งโทษของกฎธรรมดาเหล่านี้แล้ว พวกเราผู้ปฏิบัติคงจะอุทิศความสุขที่พวกเรามีอยู่อันเป็นอามิสสุขและกามสุขนี้ถวายแด่พระศาสนา  ขอต่อสู้กับความทุกข์ที่พวกเราจะได้รับในการสงครามที่พวกเราจะประกาศกับกิเลส ตัณหา ทำให้เกิดชัยชนะกับกิเลสตัณหาที่เป็นเชื้อของภพชาติ การต่อสู้สงครามกับกิเลสต้องอาศัยกำลังมาจากสติปัญญาที่เราพยายามสร้างขึ้นมาทำลายภพของจิต ภพของจิตได้แก่ความคิดที่ตกอยู่ในอำนาจฝ่ายต่ำนำพาให้โลภ ให้โกรธ และให้หลงรัก หลงชัง จะได้นำกำลังของสติปัญญามาทำลายภพชาติของจิต คือจะให้นำกำลังของสติปัญญาเข้าไปช่วยแต่งจิต จนสติปัญญาเข้าไปบวกกับจิตได้ เป็นอันได้ความว่าจิต สติ ปัญญาบวกกันหรือรวมกัน หรือจะพูดว่าสมังคีกันก็ถูก  จิตจะไม่ปรากฏเลย ปรากฏแต่สติปัญญา คำที่ว่ากฎธรรมชาติของกายและวาจาก็ไม่มีธรรมชาติของจิตก็ไม่มี เรื่องกฎธรรมชาติสูญพันธุ์ เมื่อกฎธรรมชาติสูญพันธุ์แล้ว กฎธรรมดาคือความเกิดก็ไม่มี เป็นอันได้ความว่าเราทำสงครามกับกิเลสเป็นอันได้ชัยชนะ กฎธรรมดาที่มีอำนาจเหนือเราก็สูญพันธุ์ไปอีก เราผู้อุทิศความสุขของเราที่มีอยู่ทั้งหมด แด่พระศาสนา ข้าพเจ้าขอยอมรับความทุกข์ที่ข้าพเจ้าจะได้รับในการทำสงครามกับกิเลสตัณหาเพื่อชัยชนะกฎธรรมดา  เป็นอันพูดได้เต็มที่ว่าเราขึ้นยืนอยู่เหนือกฎธรรมดาได้แล้ว  เมื่อเราทำอย่างนี้ ความปรารถนาสามอย่าง  จุดที่มุ่งปรารถนาคือต้องการจะให้ได้สติที่มีพลังเหนือจิตใจ   ต้องการยืนอยู่เหนือกฎธรรมชาติของกาย วาจา และจิตใจเป็นอันสมหวัง  ต้องการอยู่เหนือกฎธรรมดา คือความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จนการหลั่งน้ำตา  อะไรเหล่านี้เป็นต้น เป็นอันสำเร็จตามปรารถนา กฎธรรมดาก็สูญพันธุ์ หรือตกอยู่ใต้อำนาจจิตของเรา เพราะอาศัยกำลังของสติปัญญาเข้าไปบวกด้วย จิตจึงมีพลัง มีอำนาจ ไม่ยอมให้กฎธรรมชาติธรรมดาทับถมได้ กระโดดขึ้นไปยืนอยู่เหนือกฎธรรมชาติธรรมดาได้  บัดนี้ จิตคือตัวเราเองเป็นไทย ไม่ใช่ทาส มีอิสระในตัวเต็มที่ เป็นจิตที่ไม่โง่ เป็นจิตที่ฉลาด จิตรู้ คือรู้ดี รู้ชั่ว รู้สุข รู้ทุกข์ ไม่ยึดเรื่องทุกข์เป็นเรื่องสุข จิตนี้ประภัสสร เพราะจิตสะอาดปราศจากสิ่งปรุงกิเลสตัณหา เจ้านายของจิตก็ถูกสติขับไล่ออกไปแล้ว สติปัญญาจึงเข้าไปทำงานแทนกิเลส จิตที่เป็นไปด้วยกำลังของสติปัญญาเมื่อบังคับออกมาภายนอก คือทางกายและวาจาก็สั่งออกมาด้วยกำลังสติปัญญา จะพูดอะไรจะฟังอะไรทั้งหมดทุกอย่างไม่ได้เป็นไปตามอำนาจกิเลสตัณหา จะเป็นไปด้วยกำลังของสติปัญญานำพาทุกอย่าง สติปัญญาเป็นตัวรู้ จึงควรให้นามผู้รู้อย่างนี้ว่า  พุทโธ   เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเต็มไปด้วยความรู้ คือสติปัญญานำพา จึงเรียกว่าผู้ไม่หลงสังขารคือความปรุง เรียกว่าผู้ถึงอสังขตธรรม หรืออสังขตธาตุ หมายถึงมโนธาตุ คือใจเป็นอสังขตธาตุนั่นเอง
อุบาสกกราบเรียน       ท่านอาจารย์ครับ กระผมจะขอถวายปฏิญาณกับท่านอาจารย์ว่า กระผมจะพยายามบำเพ็ญให้สุดความสามารถ และกระผมจะขอถวายความสุขที่มีอยู่ในกระผมอันเป็นอามิสสุขและกามสุขเพียงเล็กน้อยขอถวายแด่พระรัตนตรัย เพื่อแลกบรมสุขคือ ความสุขอย่างยอดเยี่ยม และกระผมขอรับความทุกข์ที่กระผมจะได้รับในการลงมือปฏิวัติธรรมชาติในคราวนี้ กระผมมีปณิธานไว้ว่าในวันหนึ่งข้างหน้า กระผมต้องมีหวังได้ยืนอยู่เหนือกฎธรรมชาติจนได้  กระผมขอตั้งปณิธานต่อหน้าท่านอาจารย์อย่างนี้ และเดี๋ยวนี้ด้วยครับ
หลวงปู่ตอบ                  ดีแล้วอุบาสก  วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ขอให้อุบาสกจงพยายามปฏิวัติธรรมชาติจนกว่าจะหมดกำลัง ขอให้อุบาสกได้ใช้สติปัญญาเข้าบรรจุแทนธรรมชาติจงได้สมความปรารถนา
อุบาสกกราบเรียน       พรที่ท่านอาจารย์ให้จงเป็นพรทิพย์ดุจประหนึ่งเสียงพูดของท่านอาจารย์วิ่งเข้าไปบรรจุในหัวใจของกระผม ธรรมะของท่านอาจารย์ดุจประหนึ่งจะมาเป็นเครื่องมือช่วยกระผมในการปฏิวัติธรรมชาติทุกคำพูด ขอกราบลาท่านอาจารย์ออกปฏิวัติธรรมชาติตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปครับ

หลวงปู่ตอบ                  ตณฺหกฺขโย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ  “ผู้ชนะตัณหาได้ชื่อว่าชนะทุกข์ทั้งปวง วีรบุรุษ วีรสตรี บุรุษสตรีที่กล้าหาญจึงทำสงครามปฏิวัติธรรมชาติชนะ  ขอท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจงสร้างพลังให้บวกกันจนกว่าจะมีพลังพอ และกระโดดลอยขึ้นเหนือธรรมชาติธรรมดาให้จงได้ วันนี้อาตมาได้อธิบายเหตุผลต่างๆ สู่อุบาสกมารู้สึกว่าจะยืดยาวมากพอสมควรแก่เวลาแล้ว ขอให้อุบาสกนำเหตุผลทั้งหมดนี้ไปใคร่ครวญพิจารณา จึงขอยุติลงไว้แต่เพียงนี้    เอวัง...

ผู้ตอบปัญหาธรรม คือ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
ผู้กราบเรียนถามปัญหาธรรม คือ คุณครูสมบูรณ์   อินทรเสนา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น