ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง

ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง

ร่วมกด Like แชร์ข้อมูล เจดีย์กำลังก่อสร้าง ทุกท่านมีโอกาสร่วมสร้าง


ประวัติ ความเป็นมา โครงการ



ประวัติความเป็นมาและความก้าวหน้า
โครงการก่อสร้างเจดีย์บูรพาฐิตวิริยาประชาสามัคคี



    วัดเขาสุกิม ดินแดนแห่งพุทธธรรม เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งของภาคตะวันออก ก่อตั้งขึ้นด้วยพลังศรัทธาที่มีต่อพระเดชพระคุณพระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย  ฐิตวิริโย) ในแต่ละวันจะมีประชาชนและท่านผู้ที่ฝักใฝ่ในการปฏิบัติธรรมมายังวัดเขาสุกิมไม่ขาดสาย พระเดชพระคุณหลวงปู่สมชาย ฐิวิริโย ท่านได้ใช้ความเพียรวิริยะอุตสาหะ บุกเบิกและสร้างสรรค์วัดเขาสุกิมจากป่าไม้หนาทึบ ที่ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิด มาเป็นสถานที่อันรื่นรมย์ เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บวัตถุโบราณ อันเป็นสมบัติของชาติ 

     ตลอดเวลากว่า ๔๕ ปี ที่ผ่านมาวัดเขาสุกิม นอกจากจะเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ เป็นสถานที่อบรมปฏิบัติธรรม เป็นสถานที่เสาะแสวงหาความรู้ ของประชาชนทั่วไปแล้ว แม้แต่บุคลอันเป็นที่เทิดทูนของคนไทยทั้งชาติก็ล้วนมีความเคารพในพระเดชพระคุณหลวงปู่สมชาย  ฐิตวิริโย และสถานที่แห่งนี้ดังปรากฏเป็นเกียรติประวัติสืบต่อไป ดังนี้

วันที่ ๒๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๑๒
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และสมเด็จพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จมาทรงถวายกุฏีให้แก่พระสงฆ์วัดเขาสุกิม เพื่อ อุทิศพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
วันที่ ๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๒๐
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ มาทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระประธาน พระอัครสาวกทั้งสอง และพระอานนท์ เพื่อประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเขาสุกิม  พร้อมทั้งพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้านและเยี่ยมพสกนิกรชาวบ้านเขาสุกิม
วันที่  ๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๐
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายา (ทรงพระยศในขณะนั้น) มาทรงทอดผ้าป่าถวายวัดเขาสุกิม
วันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๑
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ มาทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร “ตึก ๖๐ ปี เฉลิมพระเกียรติ” และทรงเปิด “วิหารบูรพาจารย์อุทิศ” ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายในเจดีย์หยก
วันที่๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ สัญญาบัตรพัดยศให้ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ตามราชทินนาม ที่ “พระวิสุทธิญาณเถร”
วันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๕
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีตัดหวายลูกนิมิต ณ อุโบสถวัดเขาสุกิม ทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายในเจดีย์หยก และทรงเปิดแพรป้ายพระพุทธรูป “พระมงคลมุนีไพรีพินาศ ศาสดาจารย์”
วันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ ให้ พระอธิการบุญ สิริปุญโญ เจ้าอาวาสวัดเขาสุกิม เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ตามราชทินนาม ที่ “พระญาณวิลาศ”
วันที่ ๑๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๘
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ มาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ “เจดีย์บูรพาฐิตวิริยาประชาสามัคคี”  และประกอบพิธีเปิดป้ายอาคารผู้ป่วยนอก “ตึก ๗๐ ปี วิสุทธิญาณ” โรงพยาบาลวัดเขาสุกิม
วันที่ ๒๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๘
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จในการพระพิธีธรรม สวดพระอภิธรรม ถวายแด่ พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) ณ ศาลากวีนีรมิต วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ
วันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๙
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จบำเพ็ญพระกุศล ถวายแด่ พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) ครบวันมรณภาพ ปี ที่ ๑
วันที่ .... ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒
พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิกติยาภา เสด็จถวายสังฆทานและทอดพระเนตรงานจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดเขาสุกิม เป็นการส่วนพระองค์

ชีวประวัติโดยสังเขป
พระวิสุทธิญาณเถร (หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย) ผู้ก่อตั้งตั้งวัดเขาสุกิม
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เกิดเมื่อวันอังคาร ที่ ๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๖๘ ขึ้น ๑๕ เดือน ๕   ปี ฉลู  เวลาเที่ยงวัน ณ หมู่เที่ยงวัน ณ หมู่บ้านเหล่างิ้ว ตำบลจังหาร อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด
โยมบิดาชื่อ นายสอน มติยาภักดิ์ โยมมารดาชื่อ นางบุญ มติยาภักดิ์ โยมมารดาของท่านเป็นบุตรีคนเล็กของคุณหลวงเสนา ผู้นำศาสนาพราหมณ์ในชุมชนนั้น คุณโยมมารดาของท่านถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านมีอายุได้ประมาณ ๒ ขวบ หลังจากนั้น ก็ได้ไปอยู่ในความอุปการะของคุณตาคือคุณหลวงเสนา แต่ก็อยู่กับคุณตาได้ไม่นาน คุณตาก็ถึงแก่กรรมจากไปอีก หลังจากคุณตาผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรได้ถึงแก่กรรม ความรุ่งโรจน์ และแสงสว่างได้ดับวูบลงอย่างน่าใจหาย ท่านต้องไปอาศัยอยู่กับญาติผู้พี่ และต่อมาท่านต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูลูกเล็กๆ ของญาติที่ท่านอาศัยอยู่ด้วยถึง ๔ คน เนื่องจากมารดาของเด็กๆ เสียชีวิต และบิดาของเด็กไม่ดูแลเลี้ยง
จากความอดทน มุ่งมั่น และความพยายามของท่าน พออายุได้ ประมาณ ๑๗ - ๑๘ ปี ท่านก็สามารถสร้างฐานะเป็นที่น่าพอใจได้ มีบ้าน ๑ หลัง มีเกวียน ๑ เล่ม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นอีกหลายอย่าง ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ในเพศฆราวาสวิสัยจนอายุ ๑๙ ปี ด้วยความเบื่อหน่ายต่อความเป็นอยู่ของโลก ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ท่านจึงคิดที่จะสละเพศฆราวาส ออกบวชในบวรพุทธศาสนา เพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์
หลวงปู่สมชาย เข้าสู่บวรพุทธศาสนา โดยมอบกายถวายตัวเป็นนาคกับท่านพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าศรีไพวัลย์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ดในขณะนั้น และได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ อุโบสถวัดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีท่านเจ้าคุณพระโพธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดร้อยเอ็ด (ธรรมยุต) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๗ และได้จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ ๑ พรรษา ออกพรรษาแล้ว ท่านกราบก็ลาท่านพระอาจารย์เพ็ง พุทฺธธมฺโม ออกเดินทางมุ่งสู่สำนักหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และได้มอบกายถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๘๗              ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร
ในระหว่างที่สามเณรสมชาย หรือหลวงปู่สมชาย  ฐิตวิริโยได้พักอาศัยเพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้ใช้ความเพียรพยายามเป็นอย่างยิ่ง ในการปฏิบัติสมาธิจิต เพื่อพิสูจน์ความเป็นจริงทางศาสนา ขยันหมั่นเพียรต่อข้อวัตรปฏิบัติน้อยใหญ่ทั้งปวง โดยไม่เห็นความเหน็ดเหนื่อย คอยอุปัฏฐากครูบาอาจารย์เป็นอย่างดีสม่ำเสมอโดยไม่มีข้อบกพร่อง
เมื่อหลวงปู่สมชายมีอายุครบ ๒๑ ปี หลวงปู่มั่นก็ได้มอบให้ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์
(จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ มอบหมายให้หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้ทำการอุปสมบทกรรม ณ พัทธสีมาวัดศรีโพนเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๙ หลังจากอุปสมบทแล้ว หลวงปู่สมชาย ได้จำพรรษา ณ วัดป่าภูธรพิทักษ์ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร โดยมีหลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้น
หลวงปู่สมชาย  ฐิตวิริโยได้ประพฤติปฏิบัติตามแนวของครูบาอาจารย์ด้วยความวิริยะอุตสาหะ โดยเฉพาะในช่วงออกพรรษา ท่านได้ออกบำเพ็ญตามสถานที่ต่างๆตามป่าเขา ตามถ้ำ เช่น ถ้ำเจ้าผู้ข้า ถ้ำคำไฮ และสถานที่สำคัญที่เป็นดินแดนแห่งความสงบวิเวกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สถานที่นั้นก็คือ ภูวัว  อ.เซกา จ.หนองคาย
หลวงปู่สมชาย ท่านได้ปักกลดบำเพ็ญภาวนาที่ภูวัว ติดต่อกันเป็นระยะเวลาหลายเดือน เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น ซึ่งเป็นจุดหมายที่ได้ตั้งใจเอาไว้ และท่านได้เล่าให้ศิษยานุศิษย์ฟังว่า ท่านได้คุณธรรมและกำลังใจจากสถานที่นี้เป็นส่วนมาก จึงทำให้ท่านมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา ยอมมอบกายถวายชีวิตอุทิศแด่ พระรัตนตรัย ด้วยการปฏิบัติบูชา และท่านยังได้เข้าไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติ ณ วัดต่างๆ ในช่วงเข้าพรรษาอีกหลายวัด ส่วนช่วงออกพรรษา ท่านได้เดินทางออกบำเพ็ญธรรมตามสถานที่สงบวิเวกต่างๆ อีกมากมาย
หลังจากหลวงปู่สมชายท่านได้ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญภาวนา  ตามป่าเขาและตามวัดต่างๆ มาเป็นเวลา ๑๐ ปีเศษ ได้รับคำแนะนำจากท่านพระอาจารย์ทิวา อาภากโร ผู้เป็นศิษย์ว่า “หลวงปู่น่าจะลองไปทางภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การบำเพ็ญสมณธรรม ที่สงบวิเวกหลายแห่ง และชาวจันทบุรีก็มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามีความเข้าใจต่อระเบียบของพระกรรมฐานเป็นอย่างดี” เมื่อได้รับคำแนะนำดังนั้น หลวงปู่ก็ได้ตัดสินใจเดินทางมาจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณร จำนวน ๑๐ รูป เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ และได้จำพรรษาที่วัดเนินดินแดง ตำบลทุ่งเบญจา อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ตามคำนิมนต์ของนายจอม แพทย์ประทุม และนายเฉลิม ทวีธรรม และญาติโยมอีกจำนวนหนึ่ง
ในระหว่างจำพรรษาที่วัดเนินดินแดง หลวงปู่ได้เริ่มพัฒนาทั้งภายในและภายนอก ภายในคือพระภิกษุสามเณรปฏิบัติธรรม บำเพ็ญภาวนาเป็นประจำมิได้ขาด เทศนาอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้ประพฤติปฏิบัติชอบ จนชาวบ้านมีความเลื่อมใสศรัทธา มีความซาบซึ้งในธรรมะ และมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ส่วนภายนอกคือ นำพาชาวบ้านพัฒนาก่อสร้างเสนาสนะ กุฏิ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น หลวงปู่จำพรรษาที่วัดเนินดินแดงเป็นเวลา ๓ พรรษา
เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๐๗ คุณโยมห่อ สุญญาจารย์ และคุณโยมขวัญ ใจงาม ได้กราบอาราธนานิมนต์หลวงปู่ และพระภิกษุสามเณร ให้ขึ้นมาพักบำเพ็ญบนเขาสุกิม เมื่อหลวงปู่ขึ้นมาบนเขาสุกิมแล้ว ได้เห็นความสงบวิเวกเหมาะสมแก่การบำเพ็ญภาวนาเป็นอย่างยิ่ง จึงนำพระภิกษุสามเณรที่สนใจในการปฏิบัติธรรม จำนวน ๔ รูป และอุบาสกอุบาสิกา ติดตามขึ้นมาปฏิบัติธรรมด้วย จำนวน ๑๐ คน โดยปักกลดภาวนาตามโคนไม้บ้าง เงื้อมหินบ้าง ซึ่งมีอยู่ทั่วไปบนเขาลูกนี้ ต่อมา ปี พ.ศ.๒๕๐๙ หลวงปูและประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาได้เริ่มก่อสร้างกุฏิกรรมฐานถาวร และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพื่อถวายความสะดวกกับพระภิกษุสามเณรผู้ปฏิบัติธรรม
ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันนี้ นับเป็นเวลา ๔๕ ปี วัดเขาสุกิม ที่ได้พัฒนาขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศาสนสถาน ศาสนสมบัติ ศาสนวัตถุ ที่มีอยู่บนวัดเขาสุกิมทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นด้วยบุญบารมีของหลวงปู่สมชาย และความเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนที่มีความเคารพนับถือ อีกทั้งหลวงปู่ท่านได้ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด และกำลังทุนทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ สังคมส่วนรวมมาโดยตลอด โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย มุ่งประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ศิษยานุศิษย์ ประเทศชาติ ศาสนา และสถานบันพระมหากษัตริย์ตลอดมา ตามแบบอุดมคติของท่านที่ว่า “อยู่ที่ใดต้องทำประโยชน์ให้ที่อยู่ เกิดที่ใดต้องทำประโยชน์ให้ที่เกิด”   
อีกบุคคลหนึ่งที่จะกล่าวถึงก็ไม่ได้นั่นคือ คุณเฉลียว อยู่วิทยา เจ้าของบริษัทกระทิงแดงหรือที่รู้จักกันคือ Red Bull และเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ สละทุนทรัพย์ในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ของ                       วัดเขาสุกิม ไม่ว่าจะเป็นตึก ๖๐ ปี เฉลิมพระเกียรติ ตึกธรรมวิจัย และอุโบสถ จนปรากฏเป็นศาสนสถานของวัดเขาสุกิม นอกจากนี้บุคคลผู้นี้ยังเป็นอีกบุคคลหนึ่งในการร่วมระดมทุนทรัพย์ก่อสร้าง                         เจดีย์บูรพาฐิตวิริยาประชาสามัคคี ด้วยเช่นเดียวกัน

แรงบันดาลใจในการก่อสร้าง เจดีย์บูรพาฐิตวิริยาประชาสามัคคี
        ตลอดเวลาในชีวิตของหลวงปู่ ท่านเป็นบุคคลผู้มีจิตเมตตามาก นอกจากท่านจะสร้างศีลบารมี และปัญญาบารมี คือ การภาวนาทำสมาธิแล้ว  อีกสิ่งหนึ่งที่ท่านจะทำคือ ทานบารมี โดยมีการแจกทุนการศึกษา แก่นักเรียนผู้ยากจนแต่เรียนดี แจกของผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ สร้างโรงเรียน สร้างพระพุทธรูป และสาธารณูต่างๆอีก อย่างนับไม่ถ้วน
ในช่วงเข้าพรรษา หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย จะนำพาพระภิกษุ สามเณรและศิษยานุศิษย์ ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนา อยู่ตลอดมิได้ขาด ท่านพยายามเทศนาอบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ ให้เจริญรอยตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ประชาชนจากทั่วประเทศมักจะมากราบนมัสการขอพรและฟังธรรมจากท่าน เมื่อออกพรรษา หลวงปู่จะนำพาพระภิกษุ - สามเณร แม่ชี ผู้ปฏิบัติธรรม และศิษยานุศิษย์ ไปนมัสการ สักการบูชา พุทธสถาน ที่มีความเจริญในต่างประเทศ อาทิ เช่น สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล คือที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประเทศอินเดียและเนปาล และในบางปีก็พาศิษยานุศิษย์ไปกราบนมัสการพระบรมธาตุเขี้ยวแก้ว ที่เมืองแคนดี้ประเทศศรีลังกา รวมทั้งเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า และสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา
แม้ในช่วงที่หลวงปู่ยังไม่อาพาธ ท่านได้เดินทางไปนมัสการเจดีย์ชเวดากอง ที่ประเทศพม่า และเจดีย์องค์อื่นๆ ด้วย หลวงปู่จะให้ความสนใจกับเจดีย์ในประเทศพม่าทุกองค์ทุกแห่ง บางแห่งหลวงปู่ก็จะปรารภสรรเสริญความมีศรัทธาของชาวพุทธประเทศพม่า “ยุคสมัยนั้น ชาวพม่ายังมีศรัทธากันถึงเพียงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองพุกามเมืองเดียว มีเจดีย์มากมายถึงแปดหมื่นสี่พันองค์” หลวงปู่ก็จะอธิษฐานจิตอนุโมทนา ชักชวนศิษยานุศิษย์ให้สวดมนต์แผ่เมตตา ไปให้ผู้สร้างเจดีย์ที่ล่วงลับทุกแห่งไป และหลวงปู่ยังได้ปรารภเพิ่มเติมอีกว่า “ที่พามานี้ อยากให้ทุกคนมาเห็นความศรัทธาของชาวพุทธเมืองพม่า อยากให้ทุกคนมาเห็นองค์มหาเจดีย์เชวดากองสีทองเหลืองอร่าม เป็นศูนย์รวมจิตใจพุทธศาสนิกชนของประเทศพม่า คนที่สามารถเป็นผู้นำพาการก่อสร้างองค์เจดีย์ให้ยิ่งใหญ่สง่างามได้ถึงเพียงนี้ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ต้องเป็นพระมหากษัตริย์หรือพระสงฆ์ที่มีบุญบารมีสูง มีผู้คนเคารพบูชา จึงสามารถหล่อหลอมจิตใจของพระพุทธศาสนิกชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมพลังช่วยก่อสร้างเจดีย์ยิ่งใหญ่ได้ถึงเพียงนี้ได้ น่าอนุโมทนาจริงๆ”
จากการที่หลวงปู่ได้พาคณะไปเยี่ยมชมศาสนสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่เจดีย์ชเวดากองนั้น จึงได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ทำให้หลวงปู่เกิดแรงบันดาลใจที่จะก่อสร้างเจดีย์ให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่าพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ เป็นหลักฐานยืนยันถึงความเจริญมั่นคงของพระพุทธศาสนา เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งสักการบูชาที่สำคัญอย่างสูงสุดของพุทธศาสนิกชน ดังนั้น หลวงปู่จึงได้ปรารภกับศิษยานุศิษย์ว่าต้องการก่อสร้างเจดีย์ โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ ใช้ชื่อว่า “เจดีย์บูรพาฐิตวิริยาประชาสามัคคี”
เจดีย์นั้นเปรียบเสมือน หลักชัยของพระพุทธศาสนา มีกล่าวไว้ในตำนานของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นอีกสิ่งเดียวที่อยู่ในหัวใจหลวงปู่ว่า “อะไรๆ ที่สำคัญๆ สำหรับพระพุทธศาสนาก็ได้ทำไว้หมดแล้ว ยังเหลืออีกเพียงสิ่งเดียว คือ เจดีย์ จะต้องนำพาลูกศิษย์ลูกหาก่อสร้างเจดีย์ฝากไว้ในพระพุทธศาสนาให้ได้”
หลวงปู่มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับไป หลวงปู่เร่งทำความเพียร สร้างบุญกุศล อย่างไม่คิดชีวิต เมื่อหลวงปู่มีอายุมากขึ้น จึงทำให้สุขภาพและธาตุขันธ์ทรุดโทรมได้โดยง่าย
ถึงแม้ว่าธาตุขันธ์ของหลวงปู่ไม่อำนวยให้ออกเดินทางไปไกลๆ ได้แล้ว  หลวงปู่ก็ลงรับแขกอยู่กับวัดทุกวัน  เพื่อต้องการรวบรวมจตุปัจจัยให้ได้เพียงพอที่จะก่อสร้างเจดีย์ให้ได้ดังปณิธานของหลวงปู่  หลวงปู่ต้องลงมานั่งรับแขกแจกภาพโปสเตอร์รูปเจดีย์ให้กับลูกศิษย์ญาติโยมเป็นประจำทุกวันตั้งแต่เช้าเพื่อต้องการประชาสัมพันธ์งานมหากุศลให้ชาวพุทธทั่วพุทธมณฑลได้ร่วมกันสร้างมหาเจดีย์บูชาพระพุทธศาสนาไว้บนยอดเขาสุกิมให้ได้ บางวันมีผู้คนมาร่วมทำบุญกันมาก ๆ หลวงปู่ก็จะถามไวยาวัจกรสักครั้งหนึ่งว่า “เงินพอปรับพื้นที่หรือยัง ?” เมื่อเงินก้อนแรกที่หลวงปู่เก็บหอมรอมริบทุกบาททุกสตางค์ได้เพียงพอสำหรับการปรับพื้นที่แล้ว หลวงปู่ก็สั่งคณะกรรมการให้ปรับพื้นที่ จนแล้วเสร็จต่อจากนั้นหลวงปู่ก็ได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลามงคลเป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘  และได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ พล.อ.ต.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี  เป็นผู้แทนพระองค์มาประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เสร็จจากพิธีวางศิลาฤกษ์แล้ว หลวงปู่ก็รวบรวมเก็บเล็กผสมน้อยจากศรัทธาของประชาชนที่ได้บริจาคคนละเล็กคนละน้อย เป็นเงินก้อนใหม่เพื่อใช้ในการก่อสร้างเจดีย์ในส่วนอื่นต่อไป ในระหว่างนี้ธาตุขันธ์ของหลวงปู่ก็ร่วงโรยมากขึ้น แต่ปณิธานอันแรงกล้าของหลวงปู่ที่มุ่งมั่นในการจะก่อสร้างเจดีย์ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะละธาตุขันธ์ หลวงปู่รับแขกทุกๆวันตั้งแต่เช้า  เสร็จจากรับแขกหลวงปู่ก็ถามไวยาวัจกรว่า  “เงินพอตอกเข็มได้หรือยัง” เมื่อคณะกรรมการกราบเรียนว่ามีปัจจัยเพียงพอที่จะตอกเข็มได้ หลวงปู่ก็ให้ดำเนินการตอกเข็ม และทำคานคอดิน ตามด้วยงานเทฐานราก งานเทเสาเอก โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นประธานในพิธี
        หลังจากพิธีวางศิลาฤกษ์ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว จากนั้นจึงได้ดำเนินการก่อสร้างฐานรากเจดีย์ แบ่งตามขั้นตอนได้ดังนี้
    ๑.งานปรับพื้นที่ เริ่มระเบิดหินภูเขา เพื่อดำเนินการปรับพื้นที่ ซึ่งโครงสร้างของเจดีย์นั้นวางอยู่บนฐานรากแผ่บนชั้นหินส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งวางอยู่บนเสาเข็ม
    ๒.งานเสาเข็ม เจาะหลุมและหล่อเสาเข็ม โดยใช้เข็มเจาะผ่านชั้นหินแล้วเทคอนกรีตหล่อขึ้นมา
    ๓.งานฐานราก ทำฐานราก ตอม่อ เทพื้นและคาน
    ๔.งานทดสอบน้ำหนัก คือการทอสอบการรับน้ำหนักของเสาเข็มด้วยวิธี Dynamic pile load test คือการทดสอบด้วยตุ้มน้ำหนักและวิธี Static’s pile load test คือทอสอบการรับน้ำหนักจริงด้วยการนำเสาเข็มน้ำหนักรวมกันหนัก ๓๐๐ ตัน ไปเทิร์นไว้
ในระหว่างที่การก่อสร้างดำเนินการอยู่นั้น หลวงปู่สมชายได้ติดต่อกับช่างทางประเทศพม่า เพื่อแกะสลักพระจากหินหยกขาว จำนวนหลายองค์หลายขนาด บางองค์มีขนาดใหญ่ สูง ๑๐ เมตร น้ำหนักองค์พระหนัก ๘๕ ตัน เพื่อต้องการที่จะนำมาประดิษฐาน ในองค์เจดีย์ หลวงปู่มองการณ์ไกล ว่าหินเป็นวัสดุเดียวที่ไม่บุสลาย อยู่คงทนถาวร ประดิษฐานเป็นศรีสง่าคู่กับเจดีย์บูรพาฐิตวิริยาประชาสามัคคีได้นับพันปี
พระพุทธรูปสลักหินหยกขาว ทั้งหมดนั้นเดินทางมาจากประเทศพม่า โดยบรรทุกมาจากเรือโดยสาร ขึ้นเทียบท่าที่ท่าเรือคลองเตย จากนั้นนำบรรทุก ด้วยรถเทเลอร์ มายังวัดเขาสุกิม ในการอัญเชิญพระหยกขาวนั้นได้แบ่งการอัญเชิญเป็น ๒ ยก มาถึงวัดเขาสุกิมเมื่อวันที่ ๒๖ และ ๒๙ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๑ รวม ๔ องค์ นับเป็นพระหยกขาวชุดแรกที่เดินทางมาถึงวัดเขาสุกิม เมื่อข่าวการมาของพระหยกขาวนั้นแพร่สะพัดไป ทำให้คณะศิษยานุศิษย์ในองค์หลวงปู่สมชาย ต่างพากันมาสักการะ นำดอกไม้ เทียน ธูป มาบูชาองค์พระโดยทั่วกัน เมื่อนำกรอบไม้ออกจากองค์พระ ทำให้องค์พระนั้น ปรากฏความสง่าสวยงามเป็นอย่างยิ่ง และการอัญเชิญพระพุทธรูปหยกขาวมาประดิษฐาน ณ แท่นชั่วคราว ในยกที่สองนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ เมตตาลงมาเฝ้ามองดูการเคลื่อนย้ายพระหยกขาวอย่างใกล้ชิด และตลอดเวลาในท่ามกลางคณะศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ แม้เวลาจะผ่านไปมืดค่ำเพียงใด หลวงปู่สมชาย ก็ยังมองดูการเคลื่อนย้ายพระหยกอย่างไม่ละสายตา
การก่อสร้างเจดีย์ดำเนินเรื่อยมาจนกระทั้งพบกับอุปสรรค์ครั้งใหญ่นั่นคือ เสาเข็มขององค์เจดีย์นั้น ต้องรับน้ำหนักบรรทุกปลอดภัยที่ ๑๒๐ ตัน/ต้น แต่ผลการทดสอบรับน้ำหนักเสาเข็มด้วยวิธี Dynamic pile load test ทั้งหมด ๔๒ ต้น ไม่ผ่าน ๒๐ ต้น ส่วนการทดสอบการรับน้ำหนักเสาเข็มด้วยวิธี Static’s pile load test ทั้งหมด ๘ ต้น ปรากฏว่า ไม่ผ่าน ๘ ต้น
จากผลการทดสอบนี้อันเป็นจุดผกผันประกอบกับเสาหลักในการก่อสร้าง ก็มีอาการเริ่มทรุดโทรมด้วยโรคาพยาธิรุมเร้ามากขึ้น เสานี้ซึ่งมีความสำคัญกว่าทุกเสา เพราะเป็นเสาเนื้อเสาศรัทธา  เสาจิตเสาใจหรือศูนย์รวมทุกๆ เสาขององค์พระเจดีย์ นั่นคือตัวของหลวงปู่เองซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของลูกศิษย์ทุกคน ในระหว่างนี้หลวงปู่มีอาพาธกล้าขึ้น คณะกรรมการและศิษยานุศิษย์ทุกคนจึงได้ปรึกษาหารือและได้พร้อมใจกันเห็นควรหยุดงานการก่อสร้างไว้ชั่วคราว รอคอยให้หลวงปู่ซึ่งเป็นเสาหลักเสาศรัทธาได้พักรักษาตัวให้หายเป็นปกติก่อนจึงค่อยเริ่มงานกันใหม่
อาการอาพาธของหลวงปู่มีแต่ทรง กับทรุดบ้างเป็นครั้งคราว ในระหว่างนี้หลวงปู่ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อยขึ้น  อย่างไรก็ตาม ลูกศิษย์ทุกคนก็ยังตั้งความหวังต่อหลวงปู่แม้ดูว่าเป็นไปได้ยาก ว่าสักวันหนึ่งหลวงปู่คงหายจากอาพาธกลับมาเป็นปกติเหมือนแต่ก่อนอีกครั้ง
หัวใจของลูกศิษย์ทุกคนในขณะนั้น ต่างมีใจมุ่งตรงกันว่า ขอให้อาการของหลวงปู่ดีขึ้น เพื่อมาเป็นหลักเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกศิษย์ ในการสร้างบารมีสืบไป แต่กระนั้น ถึงแม้ว่าหลวงปู่จะอาพาธเพียงไหน แต่ก็ยังออกสร้างบารมีทำสารธารณประโยชน์ ตามคำที่สอนลูกศิษย์ว่า “บุญไหนจะบุกเข้า บาปไหนจะวิ่งหนี”
แต่สุดท้ายแล้วความจริงของธาตุขันธ์ อันเป็นสัจธรรมก็มาถึง นั่นคือ พระเดชพระคุณหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบ ณ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๘ สิริรวมอายุ ๘๐ ปี พรรษา ๖๐ ยังความโศกเศร้าอาลัยมาสู่ลูกศิษย์ของหลวงปู่ทุกคน จากนั้นการจัดงานศพของหลวงปู่ ได้รับการจัดอย่างสมเกียรติ ณ วัดเทพศิรินทราวาส เป็นเวลา ๗ วัน จากนั้นจึงนิมนต์สรีระหลวงปู่กลับสู่วัดเขาสุกิม ด้วยคลื่นมหาชนจำนวนมากร่วมส่งหลวงปู่กลับวัดในครั้งนั้นด้วย
หลังจากพิธีบำเพ็ญกุศลครบ ๑๐๐ วัน ผ่านพ้นไปแล้ว คณะศิษยานุศิษย์ทั้งฝ่ายบรรพชิตและฆราวาส ได้จัดประชุมเพื่อดำเนินการก่อสร้างเจดีย์บูรพาฐิตวิริยาประชาสามัคคี ให้สำเร้จลุล่วงตามปณิธานของหลวงปู่ทุกประการ
ในลำดับแรกนั้น ได้มีการประชุมกันเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างของฐานรากเจดีย์ ซึ่งได้บุคคลผู้มีความเสียสละเข้ามาร่วมงาน ดังนี้
    ๑.ศูนย์วิจัย และพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
    ๒.รศ.ดร.วิชาญ  ภู่พัตน์
    ๓.ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์  ศรลัมพ์
    ๔.คุณรังสรรค์  อินทร์จันทร์
จากนั้นได้มีการประชุมกันเพื่อหาข้อสรุปเรื่องรากฐานโดยมีมติว่า ให้ตอกแสมเสาเข็มเพิ่มเติม ในช่วงแรกนั้น บริษัทนวรัตน์พัฒนาการจำกัด มหาชน ได้ทำการขุดดินจากไหล่เขามาปรับพื้นให้เท่ากัน เพื่อความสะดวกนำการทำงาน
ต่อจากนั้น บริษัทเท็นคอน ซันแตนส ทำการเจาะสำรวจและเก็บตัวอย่างชั้นหิน จำนวน ๑๐ จุด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เจาะสำรวจและเก็บตัวอย่างชั้นหิน จำนวน ๕ จุด นอกจากนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทำการเจาะสำรวจเพื่อหาความหนาของฐานรากเก่า จำนวน ๔ จุด ซึ่งทางคณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย ขอขอบคุณและขออนุโมทนาแด่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตประเทศไทยมา ณ โอกาสนี้ด้วย
ทางด้าน ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ได้นำนิสิต จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาร่วมวิเคราะห์ฐานรากเก่าและดำเนินการขุดเปิดฐานรากเก่า เพื่อตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงด้วย
จากนั้นคณะปรึกษาโครงการและคณะกรรมการจึงมีมติตอกเสาเข็มแซมจำนวน ๔๔๘ ต้น โดยที่มีตัวแทนคณะสงฆ์และตัวแทนคณะกรรมการโครงการเจดีย์ร่วมเยี่ยมชมโรงหล่อเสาเข็มด้วย ซึ่งโรงหล่อเสาเข็มของบริษัทเนาวรัตน์ พัฒนาการจำกัด มหาชน ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ชมทุกกระบวนการในการหล่อเสาเข็ม
ในวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ วัดเขาสุกิมจึงได้จัดพิธีตอกแซมเสาเข็ม เป็นปฐมฤกษ์ ต่อมาในวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ เริ่มเซ็นสัญญาระบุไว้ สิ้นสุดวันที่ ๔ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๙  สำหรับเสาเข็มทุกต้น ได้รับการทดสอบน้ำหนักโดยวิธีตรวจสอบระยะทรุดตัวจากการตอก ๑๐ ครั้ง สุดท้าย (last ten blows) และทดสอบการรับน้ำหนักด้วยวิธีทางพลศาสตร์ Dynamic pile load test ทุกรากฐานและสุดท้าย ทดสอบความสมบูรณ์ของเสาเข็มด้วยวิธี ไซซ์เซมิก seismic test จากผลการทอสอบนั้นเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก คือน้ำหนักเจดีย์และสิ่งของภายในเจดีย์มีน้ำหนักรวม ๘๐,๐๐๐ ตัน เสาเข็มแต่ละต้นต้องรับน้ำหนักอย่างน้อย ๑๒๐ ตัน ที่จะกระจายลงสู่เสาเข็ม ๖๔๕ ต้น เสาเข็มเดิมผ่านการทดสอบ ๑๙๗ ต้น ซึ่งผลทอสอบนั้นผ่านทั้งหมด
เมื่องานตอกเสาเข็มได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว จึงได้เริ่มทำงานโครงสร้างเฟสที่ ๑ ตั้งแต่ฐานรากจนถึงพื้นที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้มีพิธีลงนามเซ็นสัญญาจ้างโครงการ เฟสที่ ๑ มูลค่าการก่อสร้าง ๑๗๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งมีคุณกรีฑา สังวาลย์ เป็นผู้แทนของวัดเขาสุกิม ในการเซ็นสัญญา ต่อมาในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์และทำบุญถวายภัตตาหาร ณ สถานที่ก่อสร้างเจดีย์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนเริ่มงานอย่างเป็นทางการ ภายหลังเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐ นายประจักษ์  สุวรรณภักดี ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานพิธีเทฐาน (ฐานฤกษ์) และเริ่มการก่อสร้างพระเจดีย์ แต่อุปสรรค์ในช่วงแรกนั้นคือวิธีทำงานช่วงรอยต่อระหว่างโครงสร้างเก่า และโครงสร้างใหม่โดย ให้ผู้ที่ทำการก่อสร้างเดิมมารับรองเอกสาร แต่ในที่สุดแล้วนั้นบริษัทผู้ทำการก่อสร้างเดิม ไม่มีผู้ใดกล้าให้การรับรองโครงสร้างเดิมที่ได้ก่อสร้างไปแล้ว คณะกรรมการและคณะที่ปรึกษารวมทั้งบริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการจำกัด (มหาชน) จึงมีมติร่วมกันรื้อโครงสร้างเก่าออก เพื่อที่มั่นใจได้ว่า เจดีย์บูรพาฐิตวิริยาประชาสามัคคีองค์นี้ อยู่คู่กับเขาสุกิมเป็นศรีสง่าแก่ประเทศชาติชั่วกาลนาน
ในการก่อสร้างช่วงนี้ พระเดชพระคุณพระราชพิพัฒนาทร (หลวงพ่อถาวร  จิตฺถาวโร) วัดปทุมวนาราม เดินทางมาแสดงพระธรรมเทศนาในงานวันเกิดเจ้าอาวาสและดูความก้าวหน้าด้วยตัวเอง เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ นอกจากนี้กำลังใจสำหรับคณะศิษย์และคณะทำงานก่อสร้าง ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่อีกครั้ง นั่นคือ เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๑                                                    ฯพณฯ พลอากาศเอก กำธน  สินธวานนท์ องคมนตรี และท่านผู้หญิงพึงใจ  สินธวานนท์  เป็นประธานในพิธีเทคอนกรีตหล่อเสาเอกเจดีย์ และเป็นประธานในพิธีหล่อพระประธานส่วนที่ ๓ ซึ่งก่อนหน้านี้ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี  (จุนท์  พรหฺมคุตฺโต) กรรมการมหาเถรสมาคม รักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต วัดบวรนิเวศวิหารมาเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระพุทธรูป โดยพระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า “พระพุทธมหามณีคีรีศรีบรรพตราช” ประทานนามพระโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโณ) วัดบวรนิเวศวิหาร
นอกจากนี้แล้ว สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ยังทรงเมตตาประทานนามพระพุทธรูป ๘๔,๐๐๐ องค์ รอบองค์ระฆังเจดีย์ว่า “พระพุทธวชิรบูรพาบารมีพิทักษ์” รวมทั้งทรงรับโครงการก่อสร้างเจดีย์ไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์อีกด้วย นับเป็นพระกรุณาธิคุณอักล้นพ้น และยังความปลื้มปีติสู่หัวใจของคณะศิษย์ของหลวงปู่ทุกคน
การทำงานในช่วงนี้ ดำเนินอย่างต่อเนื่อง มีอุปสรรคบ้าง แต่ทุกอย่างยังลุล่วงไปได้ หลายฝ่ายก็ร่วมกันทำงาน ร่วมกันแก้ปัญหา นอกจากนี้ ยังมีนิสิตนักศึกษามาร่วมงานด้วย เช่น นักศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนิสิตจากคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์รวมทั้งนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคจันทบุรี
จากนั้นวันที่ ๒ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑ ฯพณฯ พลอากาศเอก กำธน  สินธวานนท์ องคมนตรี เยี่ยมชมวัดเป็นการส่วนตัว และสอบถามความก้าวหน้าและอุปสรรคในการทำงานการก่อสร้างเจดีย์ ในระหว่างนี้โครงสร้างใหม่ได้เริ่มขึ้นและขณะเดียวกัน ด้านโครงสร้างเก่าก็กำลังรื้อถอน ขณะนี้โครงสร้างเจดีย์ครึ่งหนึ่งที่ทำใหม่นั้น ลุล่วงไปแล้ว การตั้งเสาเจดีย์แต่ละต้นเริ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทุกคนได้เห็นความก้าวหน้าของเจดีย์ ทำให้นึกถึงคำพูดของหลวงปู่ที่ว่า “เจดีย์สีทองผ่องอำไผ จะต้องประดิษฐานตั้งตระหง่านบนยอดเขาสุกิม และคงจะสวยงามกว่าของพม่า ยิ่งใหญ่กว่าของพม่า ผู้คนชาวพุทธจะหลั่งไหลไปกราบนมัสการกันทั่วสารทิศ มากกว่าของพม่าหลายร้อยเท่าอย่างแน่นอน”
เสาเจดีย์ต้นแล้วต้นเล่าที่ตั้งขึ้นทำให้คณะศิษย์ทุกฝ่ายมีกำลังในในการร่วมก่อสร้างยิ่งขึ้น จากนั้นวันที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ ฯพณฯ พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เดินทางมาตรวจเยี่ยมโครงสร้างเจดีย์ด้วยตัวเอง เยี่ยมชมโครงการ ฟังความก้าวหน้าและปัญหาจากวิศวกรผู้ทำการก่อสร้าง นายช่างบัณฑิต ขุนทองแก้ว จากนั้น วันที่ ๑๕ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๒ ฯพณฯ องคมนตรี ได้เดินทางมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อทำพิธีเททองหล่อพระอัครสาวกทั้งสอง นำไปประดิษฐานคู่กับพระพุทธมหามณีคีรีศรีบรรพตราช
วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒ ทางคณะกรรมการจัดพิธีเซ็นสัญญาโครงการเจดีย์ เฟส ๑ (เพิ่มเติม) ในส่วนที่รื้อถอนออกและเซ็นสัญญาเฟส ๒ คือตั้งแต่เสาชั้นที่ ๒ ไปจนถึงเสาชั้นที่ ๔ และงานก่อสร้างพึงดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและในขณะนี้ โครงสร้างเจดีย์ได้หล่อเสาจนไปถึงพื้นชั้นที่ ๓ แล้วกึ่งหนึ่ง ด้านโครงสร้างเก่าก็เริ่มปรับพื้น ทำตอม่อเสา(ฐานราก) วางคานคอดิน เทพื้นและหล่อเสาชั้น ๑ ตามลำดับ
ในปัจจุบันโครงการก่อสร้างเจดีย์ดำเนินอย่างต่อเนื่อง เร่งทำทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อให้การก่อสร้างสำเร็จในเร็ววัน ให้เป็นพระเจดีย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ สง่างาม มั่นคง เป็นปูชนียสถาน ศาสนสถานที่สำคัญอีกแห่งของประเทศไทย  แต่โครงการก่อสร้างเจดีย์มิอาจสำเร็จลงได้ ถ้ามิได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะการระดมทุนทรัพย์ของบรรดาคณะศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่ แม้เล็กน้อยเพียงใด เมื่อทุกคนร่วมสามัคคีร่วมสร้างก็จะเปรียบเสมือนน้ำฝน เมื่อตกมากๆหลายเข้าก็อาจสามารถทำให้ท้องมหาสมุทรเต็มเปี่ยมได้ ดังนั้นเมื่อรวมพลังสามัคคีกันแล้วอย่างไรเสีย พระเจดีย์องค์นี้จะต้องสำเร็จได้ในไม่ช้านี้ ขอให้ทุกท่านยึดถือโอวาทของหลวงปู่ที่ว่า “ขอให้ลูกศิษย์ทุกคนรักกัน นับถือกัน อย่าแตกสามัคคีกัน”




วิดีโอ ประวัติ ความเป็นมา และความก้าวหน้าของโครงการ
เจดีย์บูรพาฐิตวิริยาประชาสามัคคี